การให้บริการแท็กซี่ของรถยนต์ป้ายดำผ่านแอปพิลเคชั่นหรือการให้บริการแบบร่วมทาง (Ride-Sharing) อย่าง Uber หรือ GrabCar เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของกระทรวงคมนาคม จนกระทั่งเมื่อ 20 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่กระทรวงคมนาคมเรียกตัวแทนจาก Uber ประเทศไทยและเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานครเข้ามาหารือเพื่อหาทางออกของปัญหา

 

กระทรวงคมนาคมขอเวลาศึกษา 6-12 เดือน ในช่วงนี้ขอให้ Uber ระงับการให้บริการไปก่อน

กระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จะใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือนโดยจ้างบริษัททำการศึกษาการให้บริการรถยนต์ป้ายดำผ่านแอปพิลเคชั่นหรือการให้บริการแบบร่วมทาง (Ride-Sharing) โดยจะเทียบเคียงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีการให้บริการ Uber อย่างถูกกฎหมาย  รวมถึงต้องคำนึงถึงมาตรฐานยานพานะที่จะให้บริการ การกำกับดูแลคนขับและการดูแลผู้ใช้บริการ รวมทั้งเรื่องการจัดเก็บภาษี เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบกฎหมายให้สอดคล้องกับการบริการในลักษณะนี้ ในช่วงที่มีการศึกษาแนวทาง กระทรวงฯ ขอความร่วมมือ Uber ให้ยุติการให้บริการไปก่อน

Uber บอกคงระงับบริการไม่ได้หวั่นผู้ใช้งานจะเดือดร้อน

ทางตัวแทน Uber กล่าวว่า ยินดีที่กระทรวงคมนาคมจะศึกษาการให้บริการแนวนี้ แต่ไม่ตกลงที่จะให้ Uber ระงับการให้บริการชั่วคราว ชี้ยังมีคนหลักหมื่นที่มีการเรียกใช้บริการ Uber กังวลว่าจะกระทบต่อผู้โดยสารเหล่านั้น

กลุ่มแท็กซี่เสนอให้ผู้โดยสารเรียกรถผ่านแอป? เพื่อลดการปฏิเสธผู้โดยสารแต่ขอค่าเรียก 50 บาท!!!

กลุ่มแท็กซี่เรียกร้องให้ตำรวจช่วยกวดขันและตรวจจับ Uber และ GarbCar นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยการ ระบุได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชั่น Smart Taxi เพื่อให้ผู้ขับแท็กซี่รู้จุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร แต่จะมีการเก็บเงินค่าเรียกเพิ่ม 50 บาท ในกรณีดังนี้

  • เรียกรถไปสนามบินสุวรรณภูมิ
  • เรียกรถในชั่วโมงเร่งด่วน (06.00 – 09.00 และ 16.00 – 19.00)
  • เรียกรถล่วงหน้า

ในกรณีที่แย่ที่สุดผู้โดยสารจะต้องจ่ายเงินเพิ่มสูงสุดถึง 150 บาท หากเรียกรถล่วงหน้า (50 บาท)  เพื่อไปสนามบินสุวรรณภูมิ (50 บาท) ในชั่วโมงเร่งด่วน (50 บาท)

สามารถดาวน์โหลดแอป Smarttaxi นี้ได้เลยที่

smarttaxi

 

ความคิดเห็นส่วนตัว 

เรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพิลเคชั่นแก้ปัญหาได้จริงหรือ?

การแก้ปัญหาของกลุ่มแท็กซี่โดยการให้ผู้โดยสารเรียกผ่านแอปพิลเคชั่น เพื่อให้ผู้ขับรู้จุดหมายปลายทางจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกรับหรือไม่รับผู้โดยสาร ส่วนตัวคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่เชื่อว่าการเรียกผ่านรถแอปพิลเคชั่นจะช่วยแก้ปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารได้ เป็นเพียงแค่การสนองนโยบายรัฐบาล ประเทศไทย 4.0 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารได้ผ่านแอปพิลเคชั่นเท่านั้น จากปกติจะปฏิเสธหรือเลือกรับจากการเจรจากันโดยตรงระหว่างผู้ขับกับผู้โดยสาร เปลี่ยนเป็นการปฏิเสธหรือเลือกรับผ่านแอป

ทำไมผมถึงคิดช่นนั้น? เพราะผมเคยเจอประสบการณ์เรียกแท็กซี่ป้ายเหลืองผ่านแอปพิลเคชั่น บนหน้าจอแอปเห็นแท็กซี่ออนไลน์ในระบบมากมาย แต่ไม่มีคันไหนกดรับเลย จึงลองเรียกซ้ำๆ อย่างนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงก็ไม่ได้รถแท็กซี่อยู่ดี

จากสถิติปีที่แล้ว (2016) พบปัญหาการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารมีสูงถึง 20,259 ครั้ง สถิตินี้ถือว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก เนื่องจากผู้โดยสารที่ถูกปฏิเสธส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งเข้ามาทาง 1584 หรือผ่านแอปพิลเคชั่น DLT Chck in ซึ่งตัวเลขจริงๆ น่าจะสูงกว่านี้มาก อ้างอิงคำพูดจากรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์

การจูงใจแท็กซี่โดยการจ่ายเงินเพิ่ม ช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ

จากภาพด้านบนแอปพิลเคชั่น Smart Taxi กล่าวว่า ถ้าจ่ายเงินเพิ่มรับรองว่าปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารจะหมดไป เรื่องนี้คงต้องย้อนไปเมื่อปี 2013 ที่มีการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ให้มีการปรับค่าโดยสาร โดย คุณวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพ ก็เคยบอกว่าถ้ามีการปรับค่าโดยสารขึ้นเชื่อว่าปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารจะลดลงแน่นอน(1) ในปีต่อมา (2014) ได้มีการปรับค่าโดยสารขึ้น(2) แต่แนวโน้มของปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารกลับไม่ลดลงเลย

ในส่วนตัวเชื่อว่าต่อให้มีการเพิ่มเงินเข้าไปให้ 50 บาทก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารลดลง

ผู้ใช้ทั่วไปไม่ได้เรียกผ่านแอปพิลเคชั่น คนขับแท็กซี่ก็ยังมีสิทธิปฏิเสธได้?

จากแนวทางของกลุ่มแท็กซี่ด้านบน เป็นแนวทางแก้ปัญหาสำหรับผู้เรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพิลเคชั่นเท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงผู้ใช้ที่โบกรถแท็กซี่ตามท้องถนน นั่นหมายความว่าจะไม่มีทางออกให้กับผู้ใช้ทั่วไปหรือหมายความว่าแท็กซี่ยังคงสามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้เช่นเดิม

จะแก้ปัญหา ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ทำไมผู้ใช้บริการหันไปเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ทางเลือกอย่าง Uber หรือ GrabCar คงต้องย้อนกลับไปถามว่าการบริการของแท็กซี่มิเตอร์ป้ายเหลืองนั้นบริการดีแล้วหรือยัง จากสถิติการร้องเรียนจะเห็นว่ามีกรณีร้องเรียนเข้ามาสูงถึงหลักหมื่นต่อปี แถมตัวเลขที่เราเห็นถือว่าเป็นส่วนน้อยเพราะเชื่อว่ายังมีกรณีอีกมากมายที่ไม่ได้มีการร้องเรียนเข้ามา จึงไม่ได้ถูกเก็บลงสถิติ

ที่กล่าวไปเช่นนี้ไม่ได้จะอวยว่า Uber หรือ GrabCar นั้นดีเลิศเลอขนาดนั้น เอาจริงๆ ประสบการณ์ในการใช้แท็กซี่ทางเลือกของผมนั้นเคยโดนปฏิเสธมาแล้ว โดยปกติแล้วอย่าง Uber ในตอนต้นคนขับจะไม่ทราบจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร จะรู้ก็ต่อเมื่อรับผู้โดยสารที่จุดนัดพบแล้วเท่านั้น ในบางครั้งที่ผู้ขับ Uber ได้รับการแจ้งเตือนว่ามีผู้โดยสาร จะมีการโทรมาถามว่าจุดหมายปลายทางคือที่ไหน หากผู้ขับไม่สะดวกก็จะร้องขอให้ผู้โดยสารกดยกเลิก หรือไม่ก็จะยกเลิกผ่านแอปเอง

ในกรณีนี้เราสามารถแจ้งหรือร้องเรียนไปยัง Uber หรือ GrabCar ได้ ถ้ามีคนร้องเรียนมาถึงระดับนึง Uber หรือ GrabCar จะเอาผู้ขับคนนั้นออกจากระบบของ Uber หรือ GrabCar เช่นเดียวกับแท็กซี่มิเตอร์ป้ายเหลือง ถ้าเราพบเจอปัญหาในการใช้บริการอย่านิ่งนอนใจ ช่วยกันร้องเรียนไม่ว่าจะเป็นช่องทางสายด่วน 1584 หรือผ่านทางแอปพิลเคชั่นของกรมการขนส่งทางบก DLT Check in เพื่อให้ผู้ขับแท็กซี่ที่ไม่ดีออกจากระบบ

DLT Check in

ที่มา Thai PBS ผ่าน blognone