หลายคนที่ใช้งาน Windows อาจจะเคยชินกับการโยนไฟล์ให้เพื่อนผ่านทางแอปแชท หรือถ้าเป็นไฟล์ใหญ่ก็จำเป็นต้องไปอัป Google Drive ก่อนแล้วก๊อปลิงก์ส่งให้อีกที ซึ่งดูแล้วยุ่งยากพอสมควร แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถส่งไฟล์ให้กับคอมเครื่องข้าง ๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องรออัปโหลดดาวน์โหลด 2 ต่อ แถมเวลาไม่มีเน็ตก็ยังส่งได้ด้วย วันนี้เลยขอแนะนำให้รู้จักกับฟีเจอร์ Nearby Sharing ที่มาพร้อมกับ Windows 10 และ 11 ทุกเครื่อง

ฟีเจอร์ Nearby Sharing ฟังชื่อแล้วคล้าย ๆ กับ Nearby Share ของ Android ซึ่งจริง ๆ เป็นคนละตัวกัน แต่การทำงานก็ถือว่าคล้ายกันเลย รวมถึง AirDrop หรือ Quick Share ของค่ายอื่นด้วย คือสามารถรับ-ส่งไฟล์แบบไร้สายระหว่างอุปกรณ์ 2 เครื่องที่อยู่ใกล้กันได้โดยไม่ใช้อินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ดี ตัว Nearby Sharing จะมีความพิเศษกว่าชาวบ้านเล็กน้อย คือเลือกได้ 2 แบบว่าจะส่งผ่าน Bluetooth หรือ Wi-Fi ก็ได้ ซึ่งถ้าเลือกผ่าน Wi-Fi ก็จะทำให้ส่งได้เร็วกว่าและไกลกว่า แล้วแต่ว่าตอนนั้นเราสะดวกใช้แบบไหน ติดที่ว่าต้องมีการตั้งค่าเพิ่มเติมนิดหน่อย เดี๋ยวไปดูกันเลยว่าฟีเจอร์นี้ใช้งานยังไง พร้อมจะทดสอบให้ดูด้วยว่าขนาดไฟล์หลัก MB และหลัก GB บนทั้ง 2 แบบใช้ความเร็วต่างกันแค่ไหน

วิธีตั้งค่าเปิดฟีเจอร์ Nearby Sharing บน Windows 11

ปกติแล้วค่า default ของ Windows 11 มักจะปิดไม่แสดงปุ่ม Nearby Sharing ในแถบ Quick Settings ไว้แต่แรก ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องกด Add เพิ่มก่อนผ่านการคลิกที่ Edit quick settings หรือไอคอนรูปปากกาด้านล่างขวา > กดปุ่ม Add > เลือกหา Nearby Sharing > กด Done

 

เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรก ค่า Default ของฟีเจอร์นี้จะถูกเปิดไว้เป็นแบบ My Devices only คือมองเห็นและรับส่งไฟล์ได้เฉพาะอุปกรณ์ Windows ของเราที่ล็อกอินด้วยบัญชี Microsoft เดียวกัน แนะนำให้เข้าไปตั้งค่าเป็นแบบ Everyone Nearby ก่อนเพื่อให้ทุกเครื่องรอบตัวมองเห็นได้ ผ่านการคลิกขวาที่ไอคอนปุ่ม Nearby Sharing > Go to Settings > เลือก Everyone Nearby

ทุกเครื่องจะมองเห็นอุปกรณ์ของเราในชื่อที่เราเคยตั้งไว้เองแต่แรก อย่างเครื่องตัวอย่างที่ใช้ทดสอบนี้ตั้งไว้ว่า “IdeaPad-Gaming” ซึ่งหากใครอยากเปลี่ยนชื่อก็สามารถกด Rename ที่ปุ่มด้านขวาได้เลย (จะบังคับ Restart ด้วย 1 รอบ)

 

วิธีตั้งค่าเปิดฟีเจอร์ Nearby Sharing บน Windows 10

คล้ายกับของ Windows 11 คือคลิกเปิดที่แถบ Quick Settings จากปุ่มแจ้งเตือนมุมล่างขวา > กด Expand เพื่อขยาย > เปิด Nearby Sharing > คลิกขวาเลือก Go to Settings > ตั้งค่าเป็น Everyone Nearby

 

ส่วนวิธีดูชื่ออุปกรณ์ อันนี้ดูจากหน้าตั้งค่าฟีเจอร์เหมือนของ Windows 11 ไม่ได้ ต้องไปดูผ่านเมนู System ของตั้งค่า Windows โดยเข้าไปที่ Start > Settings > System > About > ดูชื่อได้ที่หมวด Device name และหากใครอยากเปลี่ยนชื่อก็กด Rename this PC (จะบังคับ Restart ด้วย 1 รอบ)

 

วิธีรับ-ส่งไฟล์ด้วย Nearby Sharing บน Windows

Nearby Sharing ของ Windows สามารถส่งไฟล์ได้ทุกประเภทไม่จำกัดนามสกุล ตั้งแต่ไฟล์ภาพ jpg / png ,ไฟล์บีบอัด zip / rar / iso หรือไฟล์ setup โปรแกรม .exe ก็ส่งได้หมด โดยจะเลือกส่งทีละไฟล์หรือหลายไฟล์พร้อมกันก็ได้ (แต่ส่งเป็นโฟลเดอร์ไม่ได้) และไม่จำกัดขนาดไฟล์ที่ส่งด้วย ดังนั้นจะเล็กหรือใหญ่เป็น GB หรือ TB ก็แล้วแต่เราสะดวก แต่เวลาส่งก็จะนานขึ้นตามขนาดของไฟล์

วิธีส่งบน Windows 11 ให้เลือกไฟล์ที่ต้องการ > คลิกขวา > เลือกไอคอนปุ่ม Share ที่อยู่แถวด้านบน > จะมีเมนูค้นหาอุปกรณ์เปิดขึ้นมา

ในตัวอย่างนี้จะลองส่งไฟล์ขนาด 20MB จากโน้ตบุ๊ค IdeaPad-Gaming ที่เป็น Windows 11 ไปยังโน้ตบุ๊ค ACER-Nitro-5-droidsans ซึ่งหากกดส่งเลยโดยที่ยังไม่ได้ตั้งค่าอะไร Windows จะเลือกใช้วิธีส่งผ่าน Bluetooth เป็นวิธีหลักก่อน ดังนั้นต่อให้ปิด Wi-Fi อยู่ก็สามารถหาอุปกรณ์เจอและกดส่งได้

เมื่อเครื่องต้นทางกดส่ง เครื่องปลายทางจะมีแจ้งขึ้นมา ให้ยืนยันรับไฟล์โดยกดที่ปุ่ม Save หรือ Save & open ภายใน 15 วินาที ซึ่งถ้าเกินนี้เครื่องจะปฏิเสธคำขอให้เองอัตโนมัติ ต้องกดส่งกันใหม่อีกรอบ

ของฝั่ง Windows 10 ส่งมาให้ Windows 11 ก็จะหน้าตาคล้าย ๆ กัน เลือกไฟล์ที่ต้องการ > คลิกขวา > เลือก Share > จะมีเมนูค้นหาอุปกรณ์เปิดขึ้นมา ในฝั่งเครื่องปลายทางหากมีแจ้งเตือนขึ้นมาแล้วก็กด Save ได้ตามปกติ

 

การตั้งค่าให้ส่งด้วย Wi-Fi แทน Bluetooth

อย่างที่กล่าวไปว่าถ้ากดส่งเลยโดยที่ยังไม่ได้ตั้งค่าอะไร Windows จะเลือกใช้วิธีส่งผ่าน Bluetooth เป็นวิธีหลักก่อน แต่ตามคอมมอนเซนส์การส่งด้วย Wi-Fi มักจะเร็วกว่า Bluetooth อยู่เสมอ เพราะความเร็วในการเชื่อมต่อสูงกว่า จึงได้เลือกวิธีส่งผ่าน Wi-Fi มาให้เป็นตัวเลือกอีกวิธีด้วย แต่ก็ต้องมีการตั้งค่าก่อยเล็กน้อย เดี๋ยวไปดูว่าทำยังไงบ้าง

อันดับแรก คอมทั้ง 2 เครื่องจะต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi ตัวเดียวกันก่อน เพื่อจำกัดการส่งไฟล์ให้อยู่ในวง TCP/IP หรือหมายเลข IP Address เดียวกัน และต้องตั้งค่า Wi-Fi ให้เชื่อมต่อแบบ Private ก่อนทั้งคู่ ถึงจะสามารถส่งไฟล์หากันได้ แต่ถึงยังไงคอมก็ยังต้องเปิด Bluetooth ไปด้วยอยู่ดีเพื่อใช้ค้นหาอุปกรณ์ข้าง ๆ ไม่สามารถใช้ Wi-Fi ค้นหาแทน Bluetooth ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย (ใช้ส่งอย่างเดียว)

วิธีตั้งค่า Wi-Fi ให้เป็น Private บน Windows 11 เปิดแถบ Quick Settings > คลิกขวาที่ไอคอน Wi-Fi > Go to Settings > คลิกที่ชื่อ Wi-Fi ที่กำลังเชื่อมต่อ (ในตัวอย่างจะเป็น droidsans_ais5G) > เลือก Private network

ส่วนของ Windows 10 ก็ทำคล้ายกัน เปิดแถบ Quick Settings > คลิกเปิดที่เมนู Wi-Fi > กดเลือก Properties > ในหน้าตั้งค่าเลือก Private network

เท่านี้เวลาที่ทั้ง 2 อุปกรณ์เชื่อมต่อด้วย Wi-Fi เดียวกัน เครื่องก็จะเลือกส่งไฟล์ด้วยวิธี Wi-Fi แทน Bluetooth โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากไม่ได้ใช้งานแล้วก็แนะนำให้ไปตั้งเป็น Public เหมือนเดิมดีกว่า เนื่องจากจะป้องกันไม่ให้เครื่องอื่นที่ไม่รู้จักหาเราเจอเวลาใช้ Wi-Fi สาธารณะ

 

Nearby Sharing กำลังจะรองรับการค้นหาอุปกรณ์ผ่านวง Wi-Fi

ล่าสุด Microsoft เตรียมออกฟีเจอร์ใหม่ให้กับ Nearby Sharing เพิ่มเติม คือจะเปลี่ยนจากการส่งไฟล์ผ่าน Wi-Fi จากในวง TCP แบบเดิม ให้กลายเป็นวง UDP แทนแล้ว

Windows 11 เพิ่มปุ่มควบรวมไอคอนแอปบน Taskbar พร้อมปรับปรุง Nearby Sharing ให้แชร์ไฟล์ในวง Wi-Fi เดียวกันได้แล้ว

โปรโตคอลแบบ UDP มีข้อดีกว่าคือจะไม่เปิดเผยเลข IP ผู้รับ-ผู้ส่งบนเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะ ทำให้แก้ข้อเสียเก่าคือสามารถใช้ Wi-Fi ค้นหาอุปกรณ์แทน Bluetooth ได้เลย ซึ่งจะช่วยให้อุปกรณ์ค้นหากันได้ไกลกว่าเดิม รวมถึงเครื่อง Desktop PC ที่ไม่มีการ์ด Bluetooth ก็จะสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ แต่ยังไงก่อนใช้ก็ต้องตั้งค่า Wi-Fi ให้เชื่อมต่อแบบ Private เหมือนเดิม

 

เปรียบเทียบความเร็วส่งไฟล์ระหว่าง Bluetooth vs. Wi-Fi

ถ้าเป็นการส่งไฟล์ขนาดเล็กอย่างไฟล์รูปขนาด 2-3 MB ทั้ง 2 วิธีอาจไม่เห็นความแตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะน่าจะเร็วพอ ๆ กันอยู่แล้ว ดังนั้นวันนี้เลยขอเลือกทดสอบด้วยไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น 2 ขนาด คือ 20 MB และ 1 GB เดี๋ยวจะมาเปรียบเทียบให้ดูกันว่าทั้ง 2 วิธีส่งไฟล์เร็วต่างกันแค่ไหน

  • ส่งไฟล์ 20 MB ผ่าน Bluetooth ใช้เวลาประมาณ 2 นาที 10 วินาที
  • ส่งไฟล์ 20 MB ผ่าน Wi-Fi ใช้เวลาประมาณ 19 วินาที

  • ส่งไฟล์ 1 GB MB ผ่าน Bluetooth ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที 32 วินาที
  • ส่งไฟล์ 1 GB MB ผ่าน Wi-Fi ใช้เวลาประมาณ 5 นาที 40 วินาที

จากเวลาที่ทดสอบมาด้านบนก็จะเห็นแล้วว่าใช้ Wi-Fi ส่งเร็วกว่าใช้ Bluetooth อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเวอร์ชัน Bluetooth, เวอร์ชัน Wi-Fi และความเร็วเน็ตบ้านที่ใช้ด้วย ซึ่งจะทำให้แต่ละที่หรือแต่ละเครื่องใช้ระยะเวลาส่งนานไม่เท่ากัน

ดังนั้นสรุปว่าฟีเจอร์ Nearby Sharing สามารถใช้งานได้จริง เหมาะกับการส่งไฟล์ให้โน้ตบุ๊คที่อยู่ข้าง ๆ กันแบบเดียวกันมือถือ แถมตั้งค่าได้ด้วยว่าจะส่งผ่าน Bluetooth (ไม่มีเน็ต) หรือ Wi-Fi ก็ได้ ซึ่งแบบ Bluetooth แนะนำให้ใช้ส่งไฟล์ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น ไฟล์ภาพ หรือไฟล์เอกสาร ส่วนถ้าเป็นไฟล์ที่ใหญ่ขึ้นหลัก GB เช่นไฟล์บีบอัดหรือไฟล์ประเภท Setup อันนี้ส่งแบบผ่าน Wi-Fi จะเร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม ในโหมด Wi-Fi จะเปิดให้คอมประเภทเดสก์ท็อปที่ไม่มี Bluetooth สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ด้วย ซึ่งก็คงต้องรอติดตามกันเร็ว ๆ นี้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแนะนำฟีเจอร์ Nearby Sharing ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนลองเอาไปใช้ตามกันดู รับรองว่าใช้ทำงานร่วมกับคนรอบข้างได้สะดวกขึ้นแน่นอนครับ