ค้างคามาเป็นปี หลังจากที่ทาง TOT ได้พยายามหาผู้ร่วมลงทุนคลื่น 2300 ที่ตนเองถืออยู่ และได้ตัดสินใจเลือก dtac มาทำการจัดสรรบริหารคลื่น ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่กลับโดนทาง กสทช เตะถ่วงมาตลอด ทั้งห้ามเอาไปทำเครือข่ายมือถือ ห้ามใช้โทร ห้ามเอาไปเล่นเน็ต (แล้วจะให้เอาไปทำอะไร) ลากยาวมาจนถึงสิ้นปี แล้วก็เหมือนมีปาฎิหารย์ในวันคริสมาสต์ อยู่ดีๆ กสทช. ก็เปิดไฟเขียว ให้ทั้ง 2 ค่ายลงนามร่วมกันใช้คลื่น 2300 MHz ได้ซะยังงั้น



นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. มีมติให้ TOT สามารถลงนามร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในสัญญาคลื่น 2300 MHz กับ dtac ได้ หากสำนักงานอัยการสูงสุดยอมรับร่างสัญญาที่ TOT ส่งให้ เมื่อลงนามในสัญญาแล้วจึงค่อยส่งให้ กสทช. ดำเนินการตรวจสอบได้  เพราะที่ประชุมได้ลงมติแล้วว่า แล้ว กสทช. ไม่เคยมีอำนาจในการตรวจร่างสัญญาใดๆ มาก่อนไม่ว่าจะเป็นด้านกระจายเสียง หรือด้านโทรคมนาคม ก่อนที่จะมีการลงนาม

ดังนั้น TOT สามารถปรับปรุงคลื่น 2300 MHz เพื่อใช้บริการ voice / data / multimedia ได้ตามมติที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558 โดยต้องเปิดเป็นเทคโนโลยี LTE ให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ ตามประกาศ กทช. โดยทาง TOT นั้นถือครองคลื่นนี้ได้จนถึงนี้ 3 ส.ค. 2568 หรือราวๆ อีก 8 ปีเลยทีเดียว

และข่าวนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีของ dtac หลังจากมีปัญหาเรื่องคลื่นในมือจะหมดอายุอยู่รอมร่อ แถมเจอการกดดันในการประมูลปีหน้าอีก ทำให้หุ้นของ dtac เด้งรับข่าวนี้ในแบบทันทีทันใด เพราะเท่ากับมั่นใจได้ว่าจะยังมีคลื่น 2300 MHz ในมืิอเปิดให้บริการได้ต่อไปอย่างน้อยอีก 8 ปี แม้ว่าจะประมูลคลื่นในปีหน้าได้หรือไม่ได้ก็ตาม

 

 

ส่วนกรณีที่ AIS และ Truemove H ได้ขอยืดระยะเวลาจ่ายค่าคลื่น 900 MHz โดยยื่นเรื่องผ่านทาง คสช. ออกไปอีก 7 งวดโดยไม่ขอจ่ายเบี้ยประกันนั้น ทาง คสช. พิจารณาแล้วว่าสามารถยืดออกไปได้ 3-5 งวดเท่านั้น และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยยึดหลักการช่วยเหลือเหมือนกรณีช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดย กสทช.จะรีบส่งหนังสือความเห็นนี้กลับไปยัง คสช. ภายในวันที่ 29 ธ.ค. นี้

“การขยายระยะเวลาไม่ใช่อำนาจของ กสทช. หากหัวหน้า คสช. จะพิจารณาใช้มาตรา 44 ใช้อำนาจเรื่องมาตรการส่งเสริมเพื่อไม่ให้รัฐเสียหาย คือ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระตามเงื่อนไขเดิม หรือแบบใหม่ โดยให้มายื่นเรื่องกับสำนักงาน กสทช. 30 วัน การขอให้มีการแบ่งชำระเงินเป็นรายปี เป็น 7 งวดนั้น กสทช. ขอให้แบ่งชำระเป็น 3-5 งวด งวดละเท่า ๆ กัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนภายหลัง” นายฐากร กล่าว

 

source : manager