ข่าวการรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคม Truemove H และ dtac กำลังเป็นที่จับตามองจากหลายๆ ด้านว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงไหม หลังจากที่มีรายงานที่ Telenor บริษัทแม่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศออกมาเมื่อวันศุกร์ และทั้ง 2 ค่ายก็ออกมาให้รอติดตามความคืบหน้าในวันจันทร์ ล่าสุดก็มีความชัดเจนแล้วว่าได้มีการเจรจาควบรวมกิจการกันจริง โดยจะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแล
อัปเดต : เป็นทางการแล้ว Telenor ร่วมกับ C.P. จัดตั้งบริษัทใหม่ ทุน 200 ล้านเหรียญ บุก Tech Statup
True และ dtac ยืนยันแล้ว จะร่วมมือกันในรูปแบบ Equal Partnership หรือพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้ C.P. Group และ Telenor ถือหุ้นเท่า ๆ กันในบริษัทใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้น เป้าหมายคือ ก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค ซึ่งจะมีการขยับขยายธุรกิจไปโฟกัสที่ด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์ อุปกรณ์ไอโอที และโซลูชันดิจิทัลมีเดีย พร้อมทั้งเตรียมศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจต่อไปด้วย
บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญ พื่อสนับสนุน Tech Statup บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสร้างเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในไทย สำหรับการขออนุมัติและการดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565
ส่วนประเด็นเรื่องธุรกิจของ True และ dtac ในด้านเครือข่ายมือถือนั้นจะยังดำเนินการต่อไปตามปกติ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างบริษัทครับ
(เนื้อหาเดิมอ่านได้ที่ด้านล่าง)
True และ dtac พร้อมเจรจาควบรวมบริษัท
เช้าวันนี้ก็มีการแถลงข่าวเบื้องต้นออกมา โดย ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ ถึงกับบินมาไทยเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พูดถึงการควบรวมเพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่อย่างชัดเจน
ทางด้านของกลุ่มทรูเอง นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้พูดถึงการปรับโครงสร้างบริษัท เพื่อก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยี และการแข่งขันในระดับโลก
รายละเอียดการรวมกิจการเบื้องต้น
True และ dtac ทำการลงนามในสัญญา MOU เพื่อตรวจสอบกิจการ รวมถึงเรื่องของการควบรวม หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วก็จะมีการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ (ยังไม่มีชื่อ) โดยคิดเป็น 1 หุ้นของทรู : 2.40072 หุ้นบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นดีแทค : 24.53775 หุ้นบริษัทใหม่ ซึ่งบริษัทใหม่จะมูลค่าจากการจัดสรรหุ้นอยู่ที่ 138,000 ล้านบาท
ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดทาง CP และ Telenor Asia จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Citrine Global มาเพื่อขอเสนอซื้อหุ้นคืน
การควบรวมสามารถทำได้หรือไม่
สิ่งที่หลายๆ คนยังคงรอคอยคำตอบอยู่ นอกจากการเจรจาของทั้ง 2 บริษัทแล้ว ก็คือความเป็นไปได้ของการรวมกิจการขนาดใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วมันสามารถทำได้ไหม จะมีเรื่องของการผูกขาดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กสทช. จะมีความเห็นว่าอย่างไร
นับว่าเป็นอีกประเด็นนึงที่น่าสนใจและต้องรอตามดูกันต่อ เพราะถึงแม้ว่าทั้ง True และ dtac จะสามารถบรรลุข้อตกลงได้แล้ว ก็ต้องมาศึกษาความเป็นไปได้ทางกฎหมาย และเรื่องนี้อาจจะกินเวลาในการตรวจสอบและอนุมัตกันเป็นเดือนหรือเป็นปีแน่นอนครับ
คิดถูกแล้วที่เลือกพีซี ไม่ใช่อีกค่าย ทำอะไรก็ผ่านฉลุย
มีคนบอกว่าประเทศเราเป็นประเทศแรกของอาเซียน ที่ตรากฏหมายป้องกันการผูกขาด แต่ไม่เคยได้บังคับใช้จริง