หลังจาก Android M Developer Preview ได้เปิดตัวไปแล้ว ก็มีอัปเดตเล็กน้อยเกี่ยวกับ Google Cardboard ที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปทรงเล็กน้อยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และแจกให้ภายในงาน Keynote ของ Google I/O 2015 ด้วยเช่นกัน

    เมื่อได้ของมาสดๆร้อนๆแบบนี้ จะปล่อยให้มันหายร้อนได้ไงล่ะ ก็ต้องเอามาแกะกล่องดูสิ เพราะว่าเจ้า Cardboard ตัวใหม่นี้เปลี่ยนไปจากของเก่าพอสมควรเลยล่ะ~

    ถ้าใครยังไม่รู้จักกับ Google Cardboard ผมขอแนะนำให้อ่านบทความ Review : รีวิว Google Cardboard แว่น VR ไอเดียเจ๋งๆจากงาน Google I/O 2014 ก่อนนะครับ

 

บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนใหม่ ประกอบง่ายขึ้น

    ถึงแม้ว่า Cardboard จะเป็นแค่กล่องกระดาษของเล่น แต่ผมก็เชื่อว่าเมื่อคุณต้องมานั่งประกอบเองก็จะพบว่ามันประกอบยากไม่ใช่น้อย เพราะต้องประกอบเองทุกชิ้น (แต่ถ้าซื้อแบบประกอบให้แล้วก็โชคดีไป)

    แต่ใน Cardboard ตัวใหม่นี้ได้มีการเปลี่ยนรูปร่างใหม่เสียเลย จากเมื่อก่อนแจกมาเป็นแผ่นกระดาษแบนๆเรียบๆ คราวนี้ก็มาในรูปของกล่องที่หนากว่าของเดิม เพื่อลดขั้นตอนในการประกอบให้น้อยลง

 

    แถมทำเป็นกล่องใส่ Cardboard ด้วยนะ เวลาจะเอาออกมาก็ให้สไลด์ออกด้านข้างแบบนี้

 

    ตัว Cardboard ที่ออกมาจากกล่องก็จะยังมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมอยู่นะครับ

 

    ต้องแกะฝาด้านหลังออกมาก่อน

 

    มีภาพอธิบายอยู่ที่บนฝาด้านหลังด้วย

 

    เมื่อเปิดฝาด้านหลังออก ก็จะกางแผ่นที่อยู่ตรงกลางออกได้ แล้วพับขึ้นมาข้างบนเพื่อประกบให้เป็นรูป Cardboard ซะ

 

     จะเห็นว่าการออกแบบทำมาได้พอดีเป๊ะมาก ทั้งช่องกดปุ่มและช่องตีนตุ๊กแกตรงกลางข้างบน เมื่อพับทบขึ้นมาก็จะอยู่ในตำแหน่งพอดีกับช่องที่เจาะไว้เป๊ะๆ และด้านข้างก็จะติดเข้ากับตีนตุ๊กแกพอดีเช่นกัน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

 

ปุ่มแบบกดไอเดียสุดเจ๋ง

    ถึงแม้ว่าแบบเก่าจะทำปุ่มกดเลือกเมนูต่างๆด้วยไอเดียสุดเก๋อย่างการใช้แม่เหล็ก Neodymium เข้ามาช่วย แต่เอาเข้าจริงก็ยังคงมีปัญหาหลายๆอย่างที่ไม่เหมาะกับการใช้งาน เพราะแอนดรอยด์บางรุ่นไม่มี Magnetic Sensor จึงไม่สามารถใช้งานแม่เหล็กได้ ดังนั้นจึงได้เปลี่ยนมาใช้แบบปุ่มกดแทน

 

    ที่ผมชอบคือเจ้าหลักการทำงานของปุ่มที่ว่าเนี่ยแหละครับ ต้องปรบมือให้กับคนออกแบบผลิตภัณฑ์มากๆว่าคิดได้ไงเนี่ย เพียงแค่กดปุ่มตรงมุมด้านข้าง มันก็จะไปผลักแผ่นแม่โลหะด้านหน้าครับ เพื่อให้แตะโดนหน้าจอแทนนิ้วของเรา

 

Play video

 

    ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะดูโคตรธรรมดา แต่ผมบบอกเลยว่าวิธีการออกแบบให้ทำงานแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะ

Play video

 

    ด้วยวิธีนี้จึงทำให้สามารถแตะหน้าจอเพื่อเลือกเมนูภายในแอพได้ โดยไม่ต้องพึ่งหลักการแม่เหล็กอีกต่อไป เพราะว่าการใช้แม่เหล็กนั้น จะมีปัญหาหลักๆคือ อุปกรณ์ที่ไม่รองรับ และไม่รองรับบน Web App เพราะว่าบนหน้าเว็ปไม่สามารถเรียกใช้งาน Magnetic Sensor ได้ ดังนั้นการทำให้แตะหน้าจอแบบนี้จะช่วยให้ใช้งานได้ทั้งบน Android App และ Web App

 

    ถ้ายังนึกไม่ออกว่าประกอบยังไง ลองดูวีดีโอตัวนี้ครับ รับรองกระจ่าง เพราะมันง่ายมากกกกกกก

Play video

 

    และก็ยังคงแถมหนังยางหนึ่งเส้นเอาไว้รัดตัวเครื่องให้ยึดแน่นกับฝาด้านหลังเวลาใช้งาน

 

    เท่านี้ก็ได้แล้ว Cardboard แบบใหม่ที่ประกอบง่ายขึ้น เพื่อแค่เปิดฝาด้านหลัง แล้วพับแผ่นตรงกลางขึ้นมาประกอบให้กลายเป็นรูปทรง Cardboard แบบที่คุ้นเคยกัน

 

ช่องใส่ใหญ่ขึ้น รองรับหน้าจอ 6 นิ้ว

    ปัญหาใน Cardboard รุ่นเดิมๆคือ ใส่ได้เฉพาะเครื่องที่มีหน้าจอต่ำกว่า 5 นิ้วลงไป (หรือ 5.2 นิ้วขอบบางๆ) แต่ทว่าในยุคนี้เหล่า Flagship ก็พากันทำหน้าจอใหญ่กว่า 5 นิ้วแล้ว ดังนั้นจึงทำให้หลายๆเครื่องมีปัญหาว่ายัดใส่ใน Cardboard ไม่ได้ ดังนั้นตัวใหม่นี้จึงขยายขนาดเป็น 6 นิ้วแทน เพื่อให้สามารถยัดหน้าจอใหญ่กว่า 5 นิ้วเข้าไปได้ (ใหญ่สุดก็น่าจะเป็น 6 นิ้วของ Motorola Nexus 6)

 

    ส่วนฝั่งแอพก็ยังคงใช้ร่วมกับตัวเดิมได้ครับ และทาง Google ก็มี Cardboard SDK สำหรับ Android และ iOS เพื่อให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอพสำหรับ Cardboard ได้ง่ายขึ้น และยังมีโปรเจค XCardboard จากทาง Intel ที่ให้นักพัฒนาสร้างแอพด้วย Cordova ที่สามารถรองรับได้ทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Mobile หรือ Web ก็ตาม

    และถ้าเครื่องที่ไม่มี Gyroscope ก็ไม่สามารถใช้งานได้อยู่ดีนะครับ (เช่น Asus ZenFone 4/5/6 และ ZenFone 2 รุ่น ZE550ML เป็นต้น) เพราะเซ็นเซอร์สำหรับใช้งานกับ Cardboard แบบใหม่นี้จะมี Accelerometer กับ Gyroscope ครับ

    ผมชอบไอเดียการออกแบบตัวกล่อง Cardboard ตัวใหม่นี้จัง