หลังจากได้นั่งดูถ่ายทอดสดงาน “Apple เด้งดึ๋งไปข้างหน้า” (Spring Forward) ..เอ หรือผมจะแปลชื่องานผิด แต่ช่างมันเถอะ เพราะเนื้อหาใน blog นี้ไม่ได้เกี่ยวกับชื่องานของ Apple ซะหน่อย แตมันเกี่ยวกับสิ่งที่ Apple ได้เปิดตัวในงาน นั้นก็คือ ResearchKit ที่หลายคนร่ำลือว่ามันคือ API ทางการแพทย์เพื่อช่วยมวลมนุษยชาติในอนาคตอย่างแท้จริง ผมเองก็เป็นคนนึงที่ตื่นตะลึงไปด้วย ณ วินาทีนั้น เพราะถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาจากปากอย่าง Amazing~ Breakthrough~ Phenomena~ Extraordinary~ เรียกว่าเคลิ้มเหมือนโดนสะกดจิต

แต่พอหลังงานได้มานั่งอ่านรายละเอียดและเปิดหน้าเวปของ ReseacrhKit ดูแล้ว ประกอบกับอ่านบทความของ @pawinpawin เรื่อง 5 เหตุผลที่ ResearchKit ยังคงเป็นเพียงของเล่นไว้เพิ่มมูลค่าไอโฟน แถมยังมีคนรอบตัวเริ่มพูดถึง ReseacrhKit ในทางที่ผิดๆ กันเพียบ ว่ามันช่วยตรวจหาโรคได้บ้างหละ เป็นอะไรก็รู้แค่ใช้ iPhone บ้างหละ เลยทำให้ตัดสินใจเขียน blog นี้ขึ้นมา เพื่ออธิบายและทำความเข้าใจให้คนที่ยังงงๆ และสงสัยเรื่อง ResearchKit ของ Apple ว่าจริงๆ แล้วมันคือ “อุปกรณ์ช่วยเก็บข้อมูลสำหรับทำการวิจัย” ที่ออกแบบมาเพื่อนำผลไปใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

“อุปกรณ์ช่วยเก็บข้อมูลสำหรับทำการวิจัย” ทำไมชื่อยาวจัง มีคำอธิบายสั้นๆ เข้าใจง่ายไหม ถ้าจะเอาให้เข้าใจง่ายสุดๆ เลยก็มีภาพประกอบนะครับ

มันคือแบบสอบถามครับ “ขอโทษนะคะ มีเวลาสัก 5 นาทีมั้ยคะ ทำแบบสอบถามให้หน่อยค่ะ” ทุกท่านน่าจะเคยได้ยินคำถามแบบนี้ บางทีถ้ามีเวลาว่างจริงๆ ก็นั่งกรอกกันไป

“กำลังทำวิทยานิพนธ์ กำลังทำวิจัยอยู่ ช่วยตอบแบบสอบถามเรื่อง xxx ให้ด้วยนะคะ กด link ได้เลย” นี่ก็คือแบบสอบถามแบบออนไลน์ที่หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นเคยทำกันมาบ้างแล้ว

นั่นแหละครับสิ่งที่ Apple ReserachKit ทำ มันคือการเก็บข้อมูล การให้เราเข้าไปกรอกแบบสอบถาม เป็นแค่เครื่องเก็บข้อมูล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโดยตรง มันตรวจอาการหรือแจ้งสภาพที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยไม่ได้ ไม่ได้บอกว่าตอนนี้ผู้ป่วยเบาหวานน้ำตาลขึ้นสูงแล้ว หรือเป็นหอบหืดขึ้นมาแล้วมันจะโทรแจ้งคนอื่นหรือส่งสัญญาณเตือนไปหาคนในครอบครัว

ในส่วนของการกรอกข้อมูลเพื่อเก็บไปทำวิจัยนั้น เรื่องของความแม่นยำของข้อมูล ความน่าเชื่อถือไม่น่าเชื่อถือ มีประโยชน์เท่าปรอทวัดไข้ หรือเครื่องวัดความดันหรือไม่ สุดท้ายแล้วจะใช้งานได้จริงหรือไม่ได้นั้นผมคงไม่ลงไปเจาะในประเด็นนั้น อาจจะลองไปอ่าน blog ของคุณ @pawinpawin เพิ่มเติมได้ เพราะผมเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญครับ

สรุปสั้นๆ คือ iPhone ที่ติดตั้งแอปทั้งหลายของ ResearchKit เพื่อใช้งานนั้น เป็นการให้ผู้ใช้ iPhone กรอกข้อมูลเผื่อเอาไว้ใช้ในภายภาคหน้า เอาไปประกอบการวิจัยอีกที เหมือนเวลาคุณกรอกแบบสอบถามออนไลน์ หรือที่คนเดินมาแจก แนวๆ นั้นครับ แต่มาในรูปแบบของแอป เริ่ดปะ

 

ถ้า ResearchKit ยังไม่ใช่ แล้วอะไรคืออุปกรณ์ทางการแพทย์? 

การที่อุปกรณ์สักชิ้นนึงจะถูกนับเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้นั้น ต้องผ่านการตรวจสอบหลายอย่าง และหลายรอบมาก จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามันสามารถใช้งานได้จริง และมีความน่าเชื่อถือ เอาง่ายๆ ก็พวกปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราเคยไปใช้ในโรงพยาบาลนั่นแหละครับ อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าผมไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ซะทีเดียว เพราะไม่ใช่หมอ เลยขอเอาคลิปของคุณหมอธิดากานต์ที่ไปพูดในงาน Tech Trend Thailand เกี่ยวกับเรื่องของ Wearable Device ที่ได้มีการเปรียบเทียบอุปกรณ์เหล่านั้นกับอุปกรณ์ทางการแพทย์เอาไว้นิดหน่อย

Play video

อย่างแรกที่คุณหมอได้พูดไว้คือเรื่องของเครื่องวัดการเต้นหัวใจที่เป็นหลอดไฟแสงๆ บนนาฬิกา Smartwatch ต่างๆ ทั้ง Apple Watch, Samsung หรือ Motorola เหล่านั้นมีค่าความผิดเพี้ยนสูงระดับ 50% (สาวกอาจจะแซะว่า Apple Watch ยังไม่ออกรู้ได้ไงว่าเพี้ยน) ต่างกับอุปกรณ์ที่เป็นสายรัดหน้าอก ที่แม่นยำกว่า

 

ตรงนี้ถ้าใครจำได้ Samsung เคยพยายามผลักดันให้ Galaxy S5 เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์มาแล้ว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ โดนสมาคมทางการแพทย์ที่เกาหลีปฏิเสธมาแล้วเหมือนกัน (mobihealthnews : South Korea will not regulate Galaxy S5 as medical device)

 

 

อีกเรื่องที่คุณหมอได้พูดถึงคือ Google contact lens for diabate หรือคอนแทคเลนส์สำหรับคนเป็นเบาหวาน เอาไว้วัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งคนเป็นเบาหวานนั้นมีความทรมานอยู่ที่ต้องมาเจาะเลือดวัดน้ำตาลบ่อยๆ การที่มีอุปกรณ์มาช่วยวัดระดับน้ำตาลแบบไม่ทรมารนั้นถือเป็นสวรรค์ ซึ่ง Google เองก็ได้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 ทีเราได้เห็นตามข่าวแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังต้องทำการทดสอบหลายอย่างทั้งเรื่องความแม่นยำ รวมถึงระยะเวลาของน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับในน้ำตาหรือไม่ และใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในน้ำตา คือต้องทดสอบกันละเอียดสุดๆ เหมือนกับยาที่ต้องทดลองในแล็บเป็นปีๆ กว่าจะออกมาจำหน่ายได้

 

ผมเองมั่นใจว่า Apple เองคงรู้และข้าใจว่าการจะผลักดัน iPhone เข้าไปเป็น Medical Equipment นั้นไม่ง่ายเพราะตัวอย่างเองก็มีมาแล้วทั้ง Samsung และ Google จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมให้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นในทางการแพทย์ด้วยซ้ำ แถมน่าจะใช้เวลานานกว่านั้นมากมาย ในเมื่อเข้าหาแพทย์และหมอไม่ได้ ก็เลยย้อนกลับมาทำในเรื่องที่ง่ายกว่า back to basic หมอใช้ไม่ได้ ไปทำให้คนทั่วไปใช้ละกัน เลยทำ iPhone ให้กลายเป็นเครื่องเก็บข้อมูล ให้นักศึกษาให้คนในวงการเอาไปวิจัยต่อยอดแทน และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งในการเปิด ResearchKit เป็น Opensource (บอกตรงๆ ได้ยินคำนี้จาก Apple แล้วมันดูทะแม่งๆ หูยังไงไม่รู้)

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่ออธิบายให้คนเข้าใจตัว ReseachKit และการทำงานของมันให้มากขึ้น จะได้ไม่เอาไปโม้กันผิดๆ ว่ามันตรวจโรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน หรือโรคนั่นโรคนี่ได้ ไม่ได้เขียนมาแซะหรืออวยอะไรใครทั้งนั้นนะครับ ผมเองก็ชอบไอเดียนี้ของ Apple เหมือนกัน คือช่วยได้มากหรือน้อยตอนนี้เรายังไม่รู้ แต่ถ้าช่วยได้ก็ช่วยๆ กันไปครับ