Mini-LED คือ แหล่งกำเนิดแสงสำหรับหน้าจอประเภท LCD ซึ่งมีใช้กันมานานแล้วในอุตสาหกรรมทีวี แต่ Apple พึ่งนำเทคโนโลยีนี้มาสู่ตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกับ iPad Pro 12.9″ ที่เปิดตัวไปเมื่อ 20 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า Liquid Retina XDR แบ็กไลต์ชนิดนี้ทำให้จอภาพมีความสว่างมากขึ้น คอนทราสต์สูงขึ้น แสดงผลได้สมจริงยิ่งกว่าเดิม แถมยังกินไฟน้อยลงอีกต่างหาก
LCD คืออะไร ?
Liquid Retina XDR ยังคงอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยี LCD (liquid-crystal display : จอภาพผนึกเหลว) โครงสร้างภายในประกอบไปด้วยเลเยอร์ซ้อน ๆ กัน ทำงานโดยอาศัยแสงจากแหล่งกำเนิดส่องผ่านฟิล์มโพลาไรซ์ที่ทำมุมตั้งฉากกันในแนวนอนกับแนวตั้ง โดยมีชั้นผนึกเหลวและฟิลเตอร์สีที่อยู่กึ่งกลางซึ่งประกอบไปด้วยพิกเซลย่อย สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ก่อให้เกิดเป็นแสงสีต่าง ๆ ตามต้องการ
โครงสร้างภายในหน้าจอ LCD (ภาพจาก Samsung Display)
ชั้นผนึกเหลว ถือเป็นหัวใจสำคัญของจอภาพชนิดนี้ มันสามารถปรับโครงสร้างของโมเลกุลโดยการจ่ายประจุไฟฟ้าเข้าไป เพื่อเปลี่ยนทิศทางของแสงให้สามารถเดินทางจากฟิลเตอร์โพลาไรซ์ชั้นที่ 1 ผ่านฟิลเตอร์สีไปยังชั้นที่ 2 ได้
หากใครนึกภาพตามไม่ออก ให้ลองหยิบแว่นกันแดดโพลาไรซ์มา 2 อันมาซ้อนกันโดยทำมุม 90 องศาดู เพื่อน ๆ จะพบว่า แสงนั้นแทบส่องผ่านเลนส์ไปไม่ได้เลย ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากจอภาพ LCD ไม่มีชั้นผนึกเหลวอยู่กึ่งกลางระหว่างฟิลเตอร์โพลาไรซ์ทั้ง 2 ชั้นนั่นเอง
Mini-LED สว่างมากขึ้น คอนทราสต์สูงขึ้น กินไฟน้อยลง
สิ่งที่ Liquid Retina XDR แตกต่างไปจากจอภาพ LCD แบบเดิม ๆ คือ การเปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงจาก LED มาเป็น Mini-LED ซึ่งมีขนาดที่เล็กลงอย่างมาก จนทำให้สามารถยัดหลอดไฟขนาดจิ๋ว ๆ นี้เข้าไปได้เป็นจำนวนมหาศาล อย่างที่เห็นกันไปแล้วใน iPad Pro 12.9″ จากเดิมที่มีหลัก 10 ดวง คราวนี้มีมากถึง 10,000 ดวงเลยทีเดียว
Mini-LED มีอัตราส่วนคอนทราสต์และความสว่างสูงสุดใกล้เคียงกับ OLED
ผลลัพธ์ที่ตามนั้นมีข้อดีหลายอย่าง มีความสว่างที่สูงและสม่ำเสมอทั่วทั้งหน้าจอมากกว่า เพราะ Micro-LED กระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยลดจุดอ่อนด้านคอนทราสต์เรโชของ LCD โดยการหรี่แสงเฉพาะจุดแบบโซนได้ เช่น ฉากที่มีดวงดาวเต็มฟากฟ้า แบ็กไลต์จะลดการทำงานในบริเวณมืดของฉากไป ภาพที่ออกมาจึงดูมีมิติสมจริงมากขึ้น ไม่เหมือนกับ LED ที่แหล่งกำเนิดแสงกระจุกอยู่แค่บริเวณขอบ แถมยังมีจำนวนเพียงแค่ไม่กี่ดวงตามที่กล่าวไปแล้วนั้น จึงไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ นอกจากนี้ Mini-LED ยังบริโภคพลังงานน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย
สิ่งที่ผมกล่าวมาจะอิงจากเทคโนโลยีจอภาพที่พบในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ยังแตกแขนงแยกย่อยออกไปอีกเยอะแยะเลย พบเห็นได้มากในอุตสาหกรรมทีวี แต่ขอละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจแล้วกัน มิเช่นนั้นเนื้อหาอาจมีความยาวเกินจำเป็น
Mini-LED กับ OLED อะไรดีกว่ากัน ?
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจหลังการเปิดตัวของ iPad Pro 12.9 จาก Apple เชื่อว่า มีเพื่อน ๆ จำนวนไม่น้อยสงสัยว่า Mini-LED ดีพอจะสู้กับ OLED ได้หรือยัง ?
หากพิจารณาจากทั้งทฤษฎีและผลลัพธ์ของจอภาพในอุตสาหกรรมทีวีที่ปรากฏให้เห็นจนถึงตอนนี้ คำตอบ คือ “ยังสู้ไม่ได้” ในแง่ของการแสดงผลต่าง ๆ (ไม่นับรวมปัจจัยอื่น เช่น การปรับเทียบสีหรือคุณภาพวัสดุปิดทับหน้าจอ) เพราะ OLED กุมความได้เปรียบตรงที่สามารถเปล่งแสงสีได้ในตัวเอง จึงมีความสดใสเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าไปอีกระดับ รวมถึงความสามารถในการควบคุมไดโอดได้แบบเต็ม 100% ส่วนมืดของฉากจะดำสนิทอย่างแท้จริง และไม่เกิดเอฟเฟกต์เฮโลเป็นแสงฟุ้ง ๆ แบบ Mini-LED (แม้จะดีขึ้นจาก LED มาก แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ)
Mini-LED ยังคงมีเอฟเฟกต์เฮโลให้เห็นอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม Mini-LED นั้นเหนือกว่าในแง่อายุการใช้งาน เพราะไม่มีสารอินทรีย์เป็นส่วนประกอบ แทบไม่ต้องกังวลปัญหาเบิร์นอิน ตลอดจนถึงราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นข้อหลังนี่น่าจับตามองว่า หากคุณภาพออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ในอนาคตหน้าจอชนิดนี้จะกลับมาตีโต้ OLED ในตลาดสมาร์ทโฟนได้หรือไม่
อนึ่ง Apple ใส่แบ็กไลต์ Mini-LED มาให้เฉพาะ iPad Pro 12.9″ เท่านั้นนะครับ iPad Pro 11″ ยังคงเป็นแค่ LED ธรรมดา ทั้งคู่ใช้พาเนล IPS LCD เหมือนกัน
Apple ต้องแบบนี้ ไม่รีบกั๊กไว้ๆ รอเปิดแล้วบอก นี่คือ Ipad ที่จอดีที่สุดตั้งแต่เคยมี ipad pro ในอีก gen 55
ในพรีเซนต์มีบอกหรอครับว่า mini led 10k ดวงไม่ค่อยอยากเชื่อเท่าไหร่ เพราะขนาดทีวีปีนี้ mini led จอขนาด 55" ยังไม่ถึง 1k ดวงเลย