Mini-LED คือ แหล่งกำเนิดแสงสำหรับหน้าจอประเภท LCD ซึ่งมีใช้กันมานานแล้วในอุตสาหกรรมทีวี แต่ Apple พึ่งนำเทคโนโลยีนี้มาสู่ตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกับ iPad Pro 12.9″ ที่เปิดตัวไปเมื่อ 20 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า Liquid Retina XDR แบ็กไลต์ชนิดนี้ทำให้จอภาพมีความสว่างมากขึ้น คอนทราสต์สูงขึ้น แสดงผลได้สมจริงยิ่งกว่าเดิม แถมยังกินไฟน้อยลงอีกต่างหาก

LCD คืออะไร ?

Liquid Retina XDR ยังคงอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยี LCD (liquid-crystal display : จอภาพผนึกเหลว) โครงสร้างภายในประกอบไปด้วยเลเยอร์ซ้อน ๆ กัน ทำงานโดยอาศัยแสงจากแหล่งกำเนิดส่องผ่านฟิล์มโพลาไรซ์ที่ทำมุมตั้งฉากกันในแนวนอนกับแนวตั้ง โดยมีชั้นผนึกเหลวและฟิลเตอร์สีที่อยู่กึ่งกลางซึ่งประกอบไปด้วยพิกเซลย่อย สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ก่อให้เกิดเป็นแสงสีต่าง ๆ ตามต้องการ


โครงสร้างภายในหน้าจอ LCD (ภาพจาก Samsung Display)

ชั้นผนึกเหลว ถือเป็นหัวใจสำคัญของจอภาพชนิดนี้ มันสามารถปรับโครงสร้างของโมเลกุลโดยการจ่ายประจุไฟฟ้าเข้าไป เพื่อเปลี่ยนทิศทางของแสงให้สามารถเดินทางจากฟิลเตอร์โพลาไรซ์ชั้นที่ 1 ผ่านฟิลเตอร์สีไปยังชั้นที่ 2 ได้

หากใครนึกภาพตามไม่ออก ให้ลองหยิบแว่นกันแดดโพลาไรซ์มา 2 อันมาซ้อนกันโดยทำมุม 90 องศาดู เพื่อน ๆ จะพบว่า แสงนั้นแทบส่องผ่านเลนส์ไปไม่ได้เลย ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากจอภาพ LCD ไม่มีชั้นผนึกเหลวอยู่กึ่งกลางระหว่างฟิลเตอร์โพลาไรซ์ทั้ง 2 ชั้นนั่นเอง

Mini-LED สว่างมากขึ้น คอนทราสต์สูงขึ้น กินไฟน้อยลง

สิ่งที่ Liquid Retina XDR แตกต่างไปจากจอภาพ LCD แบบเดิม ๆ คือ การเปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงจาก LED มาเป็น Mini-LED ซึ่งมีขนาดที่เล็กลงอย่างมาก จนทำให้สามารถยัดหลอดไฟขนาดจิ๋ว ๆ นี้เข้าไปได้เป็นจำนวนมหาศาล อย่างที่เห็นกันไปแล้วใน iPad Pro 12.9″ จากเดิมที่มีหลัก 10 ดวง คราวนี้มีมากถึง 10,000 ดวงเลยทีเดียว


Mini-LED มีอัตราส่วนคอนทราสต์และความสว่างสูงสุดใกล้เคียงกับ OLED

ผลลัพธ์ที่ตามนั้นมีข้อดีหลายอย่าง มีความสว่างที่สูงและสม่ำเสมอทั่วทั้งหน้าจอมากกว่า เพราะ Micro-LED กระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยลดจุดอ่อนด้านคอนทราสต์เรโชของ LCD โดยการหรี่แสงเฉพาะจุดแบบโซนได้ เช่น ฉากที่มีดวงดาวเต็มฟากฟ้า แบ็กไลต์จะลดการทำงานในบริเวณมืดของฉากไป ภาพที่ออกมาจึงดูมีมิติสมจริงมากขึ้น ไม่เหมือนกับ LED ที่แหล่งกำเนิดแสงกระจุกอยู่แค่บริเวณขอบ แถมยังมีจำนวนเพียงแค่ไม่กี่ดวงตามที่กล่าวไปแล้วนั้น จึงไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ นอกจากนี้ Mini-LED ยังบริโภคพลังงานน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย

สิ่งที่ผมกล่าวมาจะอิงจากเทคโนโลยีจอภาพที่พบในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ยังแตกแขนงแยกย่อยออกไปอีกเยอะแยะเลย พบเห็นได้มากในอุตสาหกรรมทีวี แต่ขอละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจแล้วกัน มิเช่นนั้นเนื้อหาอาจมีความยาวเกินจำเป็น

Mini-LED กับ OLED อะไรดีกว่ากัน ?

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจหลังการเปิดตัวของ iPad Pro 12.9 จาก Apple เชื่อว่า มีเพื่อน ๆ จำนวนไม่น้อยสงสัยว่า Mini-LED ดีพอจะสู้กับ OLED ได้หรือยัง ?

หากพิจารณาจากทั้งทฤษฎีและผลลัพธ์ของจอภาพในอุตสาหกรรมทีวีที่ปรากฏให้เห็นจนถึงตอนนี้ คำตอบ คือ “ยังสู้ไม่ได้” ในแง่ของการแสดงผลต่าง ๆ (ไม่นับรวมปัจจัยอื่น เช่น การปรับเทียบสีหรือคุณภาพวัสดุปิดทับหน้าจอ) เพราะ OLED กุมความได้เปรียบตรงที่สามารถเปล่งแสงสีได้ในตัวเอง จึงมีความสดใสเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าไปอีกระดับ รวมถึงความสามารถในการควบคุมไดโอดได้แบบเต็ม 100% ส่วนมืดของฉากจะดำสนิทอย่างแท้จริง และไม่เกิดเอฟเฟกต์เฮโลเป็นแสงฟุ้ง ๆ แบบ Mini-LED (แม้จะดีขึ้นจาก LED มาก แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ)


Mini-LED ยังคงมีเอฟเฟกต์เฮโลให้เห็นอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม Mini-LED นั้นเหนือกว่าในแง่อายุการใช้งาน เพราะไม่มีสารอินทรีย์เป็นส่วนประกอบ แทบไม่ต้องกังวลปัญหาเบิร์นอิน ตลอดจนถึงราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นข้อหลังนี่น่าจับตามองว่า หากคุณภาพออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ในอนาคตหน้าจอชนิดนี้จะกลับมาตีโต้ OLED ในตลาดสมาร์ทโฟนได้หรือไม่

อนึ่ง Apple ใส่แบ็กไลต์ Mini-LED มาให้เฉพาะ iPad Pro 12.9″ เท่านั้นนะครับ iPad Pro 11″ ยังคงเป็นแค่ LED ธรรมดา ทั้งคู่ใช้พาเนล IPS LCD เหมือนกัน

 

อ้างอิง : Wikipedia | Apple