ในปี 2018 ที่กำลังจะถึงนี้ ประเทศไทยเตรียมมีการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้นำเอาใช้บริการโทรศัพท์กันอีกรอบ ซึ่งช่วงนี้บางคนก็น่าจะเริ่มได้ยินข่าวความเคลื่อนไหวกันจากหลายฝ่าย ทั้ง กสทช.ที่เพิ่งทำประชาพิจารณ์ไปวันนี้ ดีแทคที่เรียกร้องการประมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุดในวันก่อน และเพื่ออัพเดทสถานการณ์ของคลื่นความถี่, 4G, และการประมูล วันนี้ผมก็จะขอมารวบรวมข้อมูลต่างๆที่น่าสนใจมาเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกันนะ

สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประมูลในครั้งนี้ ผมวางแผนเอาไว้ว่าจะปล่อยเป็นตอนๆไปนะครับ เพราะมีเรื่องราวที่น่าสนุกมากมายที่อาจจะเปลี่ยนแปลงวงการโทรคมนาคมเมืองไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ อยากมาเล่าและชวนเพื่อนๆมาติดตามไปพร้อมๆกันครับ สำหรับในตอนแรกนี้ก็จะขอนำเอาข้อมูลของ 4G ประเทศไทยมาอัพเดทให้เพื่อนๆได้ฟังกันก่อนว่า ปัจจุบันเน็ตบ้านเรานี้เป็นอย่างไร หากเทียบกับนานาชาติ ซึ่งข้อมูลชุดนี้ได้มาจากทาง บริษัทเนร่า ที่ทางดีแทคเรียกมาให้ข้อมูลวันก่อน ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกที่ออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ทั่วโลกทั้งเอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา รวมถึงกสทช.ก็เคยเรียกใช้งานมาก่อน มาเปิดเผยถึงผลการศึกษาต่อมุมมองการประมูลคลื่น 1800MHz และ 900MHz ของประเทศไทยที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2561 ครับ

จำนวนคลื่นความถี่ที่ถูกนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศจำนวนคลื่นที่ถูกนำมาใช้เพื่อกิจการโทรคมนาคม

ด้วยความที่ประชากรมีความต้องการใช้งานดาต้าในโทรศัพท์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละประเทศก็มีความพยายามในการจัดสรรคลื่นเพื่อนำมาใช้งานให้เพียงพอมากที่สุด ยิ่งปล่อยคลื่นมาได้มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่คุณภาพของสัญญาณจะดีเพิ่มเติมขึ้นเท่านั้น รวมถึงสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย ซึ่งอย่างที่เห็นว่าตามกราฟคือไทยยังถูกรวมอยู่ในกลุ่มของประเทศที่จัดสรรคลื่นมาใช้ค่อนข้างน้อย เพราะคลื่นที่ใช้งาน 4G ยังไม่ถูกปล่อยให้นำเอามาใช้เท่าไหร่นักนั่นเองครับ เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น จะขออธิบายเพิ่มเติมในแต่ละอันกันสักหน่อยนะครับ

Traditional 2G bands คือ คลื่นความถี่ที่ก่อนหน้านี้ถูกนำเอาไปให้บริการ 2G มาก่อน ได้แก่ 850, 900, 1800 MHz ซึ่งตามกราฟของไทยที่บอกว่ามี 200 ก็จะเป็น 850@25+25MHz, 900@20+20MHz, 1800@55+55MHz รวมออกมาเท่ากับ 200MHz พอดี (ที่เห็นมี + ด้านหลังจำนวนเท่ากันขึ้นมา คือคลื่นมันจะมีคู่คลื่น upload+download)

Traditional 3G bands คือ คลื่นความถี่ที่ถูกนำมาใช้เป็น 3G ได้แก่ 2100MHz ซึ่งมีการใช้งานอยู่รวม 60+60MHz (มี upload+download เช่นกัน)

New 4G Bands คือ คลื่นที่ถูกนำเอาออกมาใช้ภายหลัง จากความต้องการคลื่นเพื่อมาทำ 4G มากขึ้น โดย 2300 และ 2600 MHz เป็นช่วงคลื่นหลัก

New 5G Capacity คือ คลื่นที่คาดว่าจะหามาเสริมอีกเพื่อเพิ่มปริมาณความถี่ให้สามารถใช้งานได้เพียงพอในยุค 5G ครับ

ใครสงสัยเรื่องว่าทำไมถึงต้องมี download + upload และใครถือครองสัญญาณลองคลื่นไหนบ้างไปอ่านเพิ่มเติมได้นะครับ
Thailand frequency spectrum allocation

ความเร็วและการครอบคลุมของ 4G ในไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

mobile speed & coverage

ด้านซ้ายเป็นความครอบคลุมของสัญญาณ 4G ที่วันนี้ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงของทั้ง 3 ค่าย จึงต้องแย่งชิงแข่งขันกันลงเสาสัญญาณให้เข้าถึงผู้ใช้กันให้มากที่สุด แต่เมื่อมาดูด้านขวา ความเร็วของสัญญาณ 4G กลับตกต่ำมาก ซึ่งสาเหตุที่ทางเนร่าได้ให้ไว้ ก็คือประเทศไทยขาดซึ่งความถี่ที่เพียงพอแก่การให้บริการ โดยประเทศอย่างนอร์เวย์และสิงคโปร์ต่างก็มีการเปิดคลื่น 4G มาใช้งานกันแล้วเรียบร้อยนั่นเอง

ราคาของการประมูลคลื่น 900-1800 MHz ส่งผลต่อคุณภาพและราคาค่าบริการ

จากข้อมูลข้างต้น ทางเนร่าได้มีการให้ข้อมูลเปรียบเทียบราคาประมูลคลื่นความถี่ของไทยว่าสูงกว่าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคลื่น 900MHz ที่ขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งว่าแพงที่สุดในโลกกันไปเลย

ส่วนคลื่น 1800MHz แม้ว่าการประมูลของไทยจะยังไม่ขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งของโลก แต่ว่าราคาก็ยังพุ่งกระฉูดไม่น้อยเลยค่าเฉลี่ยไปพอสมควร

ทางเนร่าได้มีการบอกว่ามีข้อมูลชี้ชัดว่าเมื่อราคาของการประมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ก็จะส่งผลต่อค่าบริการและคุณภาพสัญญาณตามไปด้วย เนื่องจากเครือข่ายมีการลงทุนในเรื่องใบอนุญาตไปมากแล้ว การลงทุนในเสาสัญญาณจะทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดีการประมูลคลื่น 900-1800 ในปี 2015 ที่สร้างสถิติราคาติดอันดับโลกนี้ ส่วนนึงที่ทำให้เกิดขึ้นได้เป็นเพราะมีเหตุการณ์หลายๆอย่างประกอบกัน ทั้งฝั่ง AIS ที่ต้องการคลื่นมาใช้งานให้เพียงพอ กดราคาของคลื่น 1800MHz แบบไม่ยั้ง, ส่วนคลื่น 900MHz ก็มีทาง JAS ที่เป็นตัวแสบกดราคาแบบไม่ยั้งเช่นกัน แต่สุดท้ายกลับไม่มีเงินจ่าย จนทำให้ AIS กลายเป็นคนได้รับแทนไป ซึ่งหากไม่มี JAS ป่วนตั้งแต่แรก ราคาก็อาจจะขึ้นไปไม่ถึง 75,000 ล้านบาท ก็เป็นได้ ซึ่งราคาคลื่นที่แพงขนาดนี้ทาง เนร่า ก็ได้บอกว่ามีผลต่อคุณภาพและราคาค่าบริการตามไปด้วยครับ

และด้วยความที่ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นข้อมูลจากทาง เนร่า ซึ่งทาง dtac จ้างมาให้ช่วยทำการศึกษาเกี่ยวกับการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2018 นี้ ซึ่งทางดีแทคไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ที่ทางกสทช.ตั้งขึ้นมาเท่าไหร่นัก บางคนอาจจะมีข้อสงสัยถึงความไบแอสของข้อมูล ดังนั้นผมจึงลองทำการตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งจากแหล่งต่างๆ เพื่อความแม่นยำ และแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้ลองใช้งานในแต่ละประเทศมาแชร์เพิ่มเติมตามข้างล่างนี้นะครับ

ข้อมูลจาก OpenSignal : State of LTE อัพเดทเมื่อ มิถุนายน 2017

ภาพรวมคือจะค่อนข้างคล้ายกับที่เนร่าบอกเอาไว้นะครับ คือ การ Coverage ทำได้ดีติดอยู่ในกลุ่มบน แต่เรื่องความเร็วจะค่อนข้างต่ำ เกาะกลุ่มด้านล่างจริง ส่วนเรื่องการถือครองความถี่ของประเทศต่างๆ ตามที่ทาง spectrummonitoring ได้เก็บรวบรวมเอาไว้ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพสัญญาณอย่างเกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ทุกเจ้าต่างก็มีการเปิดให้นำเอาคลื่นใหม่สำหรับ 4G ในช่วง 2000+MHz ไปใช้งานกันแล้วทั้งสิ้นจริงๆ

จากประสบการณ์ส่วนตัว ไทยไม่ได้แพ้ประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดนี้แอบขัดใจผมเล็กน้อยเพราะตามประสบการณ์ใช้งานที่ได้ไปทั้งยุโรป อเมริกา หรือในเอเชียมาหลายๆประเทศ ความเร็วอินเทอร์เน็ตและการครอบคลุมของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านานาชาติเลย แต่กลับรู้สึกว่าเร็ว ครอบคลุมภายในอาคารและเสถียรกว่าหลายๆประเทศที่อันดับดีกว่าในการจัดอันดับของ OpenSignal เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกันเองก็ตาม ซึ่งความคาดเคลื่อนนี้อาจจะต้องลงไปเจาะลึกในข้อมูลของทาง OpenSignal อีกทีว่ามีการเก็บข้อมูลอย่างไรครับ

ประเทศที่ได้ไปมาในช่วง 1-2 ปีนี้ และซื้อซิมของประเทศนั้นๆมาใช้งาน ได้แก่ อเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ไต้หวัน, สิงคโปร์, อินเดีย, พม่า, กัมพูชา, บาหลี

ราคาของแพ็กเกจซิมท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่เคยซื้อมา

เอาเท่าที่จำได้คร่าวๆนะครับ คือไม่ได้รู้สึกว่าของไทยถูกกว่าหรือแพงกว่าที่ต่างประเทศขนาดนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะเป็นแค่นักท่องเที่ยวรึเปล่า เลยราคาได้ประมาณนี้ ยังไงฝากคนที่เคยไปอยู่ประเทศต่างๆมาแชร์กันได้นะ

  • อินเดีย : Airtel 520 บาท ใช้งานได้ 70 วัน โทรออกไม่จำกัด เน็ตวันละ 1GB (ข้อมูลไม่ผิดครับ ตามนี้จริงๆ 555)
  • อังกฤษ : EE 480 บาท ใช้งานได้ 30 วัน โทรออก 100 นาที เน็ต 2+10GB
  • ไต้หวัน : Chuanghwa Telecom 550 บาท ใช้งานได้ 7 วัน เล่นอินเทอร์เน็ตและ Wifi ไม่จำกัด โทรออกได้ $150

 

สรุปว่าเราได้อะไรจากข้อมูลชุดนี้

อย่างที่บอกไปว่าข้อมูลชุดนี้รวบรวมจากทางเนร่า ที่ทางดีแทคได้ทำการจ้างมาเพื่อช่วยวิเคราะห์การประมูลในปี 2018 นี้ ซึ่งดีแทคจะเป็นค่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และอยากให้เกิดการประมูลอย่างยุติธรรม และเหมาะสมต่อทุกฝ่ายที่สุด ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นว่ามีความพยายามชูปัญหาเรื่องความเร็ว และการครอบคลุม เป็นพิเศษเพื่อบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับดีแทคในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะการขาดแคลนทรัพยากรคลื่นความถี่นั่นเอง

แม้ว่าบางคนอาจจะไม่เห็นด้วยที่ดีแทคเอาเรื่องนี้มาอ้างเรื่องปัญหาสัญญาณ แต่หากมองเฉพาะเรื่องจำนวนคลื่นความถี่ที่ประเทศเรามีใช้งานเมื่อเทียบกับนานาประเทศ เราก็ยังตามคนอื่นอยู่มาก และควรต้องมีการประมูลนำคลื่นมาใช้งานเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง 5G ที่กำลังจะมาในปี 2020 อีกด้วย และถ้าเรามองข้ามดีแทคไป และพิจารณาที่การประมูล กฎเกณฑ์ รวมถึงราคาตั้งต้นที่ทาง กสทช. ตั้งขึ้นเอาไว้ดูเหมือนจะประหลาดๆอยู่จริงๆ ทั้งราคาตั้งต้นที่สูงลิบ ทั้งการประมูลคลื่นเพียงบางส่วน ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าการประมูลที่เหมาะสมจริงๆควรเป็นอย่างไรกันแน่

ยังไงรอติดตามในบทความต่อไปนะครับ เดี๋ยวจะมาวิเคราะห์เรื่องการประมูลในปี 2018 ให้ได้อ่านกัน