ปัจจุบันแอปพลิเคชันสำหรับ การแชท (Chat) หรือแอปสำหรับการรับส่งข้อความแบบ Instant Massaging กลายเป็นแอปสามัญประจำเครื่องที่ขาดไม่ได้พอ ๆ กับมือถือเลยก็ว่าได้ เพราะมีความสะดวกในการติดต่อกับผู้อื่น ทั้งในเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องงาน บวกกับความยืดหยุ่นในการโต้ตอบที่มากกว่าการติดต่อรูปแบบอื่น ๆ ทำให้บรรดาแอปแชทต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทกับเราแทบทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน

แน่นอนว่าทั่วทั้งโลกมีแอปแชทให้เลือกใช้กันหลากหลายเจ้านับไม่ถ้วน แต่จะมีเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่ครองตลาดประเทศใดประเทศหนึ่งเอาไว้ได้ เพราะหากแอปไหนมีคนใช้อยู่เยอะ คนก็มักจะต้องใช้ตาม ๆ กันเพื่อให้สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้ง่าย ประเทศไทยเองก็มีอยู่ 3 เจ้าหลัก ๆ ได้แก่ LINE, Facebook Messenger และ Telegram ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละแอปเปรียบเทียบให้ได้ชมกันว่า แอปใดในปี 2021 ถือได้ว่าเป็นแอปแชทที่ฟีเจอร์ครบครัน ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้หลายด้านที่สุด หรือใช้งานสะดวกที่สุด ณ เวลานี้

ภาพรวมของแอปพลิเคชัน LINE

หากพูดถึงหนึ่งในแอปสามัญประจำเครื่องของคนไทย แน่นอนว่าตำแหน่งแอปแชทยอดนิยมที่สุด ณ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้น LINE หรือ ไลน์ ปัจจุบัน LINE ครองแชมป์แอปแชทอันดับ 1 ที่คนไทยใช้งานต่อเนื่องมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ใช้รวมกันมากกว่า 50 ล้านบัญชีแล้ว (ข้อมูลจาก Thairath เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 64)

อย่างที่ทราบกันดีว่า LINE เป็นแอปที่โดดเด่นมากในเรื่องของ สติกเกอร์ และธีม ที่สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าในตัว ปัจจุบันมีสติกเกอร์ไลน์ให้เลือกซื้อจำนวนกว่า 6 ล้านชุด รวมถึงธีมและอีโมจิต่าง ๆ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นสำคัญอย่างมากของ LINE ที่ครองใจคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ LINE ยังเด่นในเรื่องของฟิลเตอร์วิดีโอคอลที่มีให้เลือกเยอะ ทั้งในรูปแบบสีสัน ตัวการ์ตูน หรือกระทั่งมินิเกมที่สามารถเล่นได้ ให้เลือกปรับแต่งกันได้ตามใจชอบ

เริ่มมีกระแสไม่เห็นด้วยกับการใช้ LINE เป็นแอปแชทหลัก

อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์เริ่มมีประเด็นถกเถียงพูดถึงแอป LINE ว่าเป็นแอปแชทที่ค่อนข้างมีปัญหาในการใช้งานหลายด้าน ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับแอปเจ้าอื่นในตลาด จะพบว่า LINE ยังมีฟีเจอร์ที่เป็นข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างเยอะในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

  • login เข้าใช้บนอุปกรณ์ที่ทำพร้อมกันหลายเครื่องไม่ได้ ได้เฉพาะมือถือ 1 เครื่อง กับบน PC / iPad ได้อีก 1 เครื่อง
  • ไม่เก็บประวัติข้อความแชทไว้แบบออนไลน์ ผู้ใช้ต้อง backup ข้อมูลด้วยตัวเองผ่าน cloud ส่วนตัว เช่น Google Drive หรือ iCloud เท่านั้น
  • กินพื้นที่เครื่องสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากตัวแอปเก็บประวัติแชทและ Cache จำนวนมาก ไว้ในเครื่องแบบออฟไลน์ทั้งหมด
  • ย้ายข้อมูล ข้ามแพลตฟอร์มไม่ได้ เช่นหากย้ายบัญชีจาก iOS ไป login บน Android จะไม่สามารถนำประวัติการแชทเดิมกลับมาด้วยได้
  • ไฟล์ต่าง ๆ มีวันหมดอายุ เช่น รูปภาพ วิดีโอ เอกสาร และอื่น ๆ หากไม่ทำการ backup จะหมดอายุภายใน 15 วัน

หลายคนให้ความเห็นว่าปัญหาของ LINE เหล่านี้สร้างภาระและลดความยืดหยุ่นในการใช้งานลงพอสมควร ซึ่งเป็นเวลากว่าหลายปีที่ทาง LINE ไม่มีท่าทีจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมฟีเจอร์เหล่านี้ขึ้นมา ในขณะที่แอปอื่น ๆ แก้ปัญหาเหล่านี้กันได้จนเป็นเรื่องปกติแล้ว หรือแม้ระยะหลัง LINE จะมีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่พัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เพิ่มขึ้น เช่น LINE Keep สำหรับเก็บไฟล์ หรือแชทกลุ่มแบบ OpenChat ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (เก็บไฟล์ได้นานขึ้นถึง 6 เดือน) แต่ก็ยังคงไม่ตอบโจทย์การทำงานโดยรวม คนไทยส่วนหนึ่งจึงพยายามรณรงค์ให้มีการย้ายไปใช้แอปอื่นเป็นแอปแชทคุยงานแทน LINE กันมากขึ้น

 

 

ภาพรวมของแอป Facebook Messenger

สำหรับ Facebook Messenger ปัจจุบันถือเป็นแอปแชทที่ได้รับความนิยมสูงมากในหมู่คนไทยไม่แพ้ LINE ด้วยจำนวนยอดดาวน์โหลดสูงที่สุดในบรรดาแอปแชททั้งหมด บวกกับอยู่บน ecosystem เดียวกับ Facebook ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักที่คนไทยใช้กันอยู่มากที่สุด แถมข้อจำกัดไม่เยอะเหมือน LINE ทำให้ Messenger ก็ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน แม้จะเปิดให้บริการมานานกว่าใครตั้งแต่ปี 2011

Messenger เองก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแอปแชทที่มีฟีเจอร์ค่อนข้างครบ มีฟิลเตอร์ที่โดดเด่นไม่แพ้ LINE แถมยังมีคลังสติกเกอร์น่ารัก ๆ ให้ใช้งานกันแบบฟรี ๆ สามารถสร้างสติกเกอร์ตัวละครของตัวเองขึ้นมาได้ด้วย นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับร้านค้าเพจธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่บน Facebook ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนี่ถือเป็นจุดขายเดียวที่แอปอื่นยากจะเอาชนะได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อถกเถียงเรื่องความน่าใช้หรือถูกเปรียบเทียบฟีเจอร์กับแอปอื่นโดยตรง แต่ Messenger กลับยังเป็นแอปที่ไม่ตอบโจทย์การทำงานบางอย่าง หรือยังมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่บ้าง เช่น การมีภาพลักษณ์ด้านการเป็นแอปสำหรับเล่นโซเชียลมากเกินไป เพราะผูกไว้กับบัญชีส่วนตัว ซึ่งอาจถูกตามส่องชีวิตส่วนตัวได้ง่าย จึงไม่เหมาะกับการติดต่อด้านการทำงาน รวมถึงข้อจำกัดด้านการส่งไฟล์ เช่น การส่งไฟล์บีบอัดประเภท zip / rar ยังถูกจำกัดไว้เป็นรูปแบบไฟล์ที่ไม่ปลอดภัย ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานที่อาศัยการโยนไฟล์ข้ามแพลตฟอร์มไปมาตลอดเวลา

นอกจากนี้ Facebook มักจะถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ชอบแอบขโมยข้อมูลผู้ใช้ ไม่ว่าจะฝั่ง Messenger หรือ WhatsApp ที่ต่างก็เป็นแอปแชทของ Facebook มีผู้ใช้จำนวนหนึ่งพบว่าเมื่อคุยอะไรลงไปในแชท มักจะเด้งโฆษณาที่เกี่ยวข้องแนะนำขึ้นมาอยู่บ่อย ๆ ทาง Facebook ก็เคยออกมายืนยันว่าไม่ได้มีการเก็บข้อมูลส่วนดังกล่าวของผู้ใช้ แต่ในแง่ของความน่าเชื่อถือแล้ว Facebook ยังสร้างความมั่นใจต่อผู้ใช้งานได้ไม่ดีพอ ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นบริษัทโฆษณา ทำให้ผู้ใช้มีความกังวลในด้าน Privacy ตามมาอยู่เสมอ

ภาพรวมของแอป Telegram

ฝั่ง Telegram เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2013 และกำลังเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้นในระยะ 1-2 ปีมานี้ Telegram ชูจุดเด่นอย่างมากในเรื่อง Privacy & Security ของผู้ใช้ ที่มีการ Encrypt ข้อความการสนทนาแบบ End-to-End Encryption ทำให้ยากต่อการแอบดักข้อมูลระหว่างทาง ซึ่งนี่เป็นจุดขายสำคัญที่ส่งผลให้ Telegram เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ความร้อนแรงของกระแสม็อบในปีที่แล้ว

คนเริ่มอพยพจากแอปอื่นมาใช้ Telegram มากขึ้น

จากกระแสจุดติดของ Telegram ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่เริ่มได้รับความนิยม ทั่วโลกเองก็เริ่มให้ความสนใจอพยพจากแอปอื่นมาใช้ Telegram กันเยอะมากทีเดียว เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าว Network ของ Facebook ล่มเป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง ผู้ก่อตั้งถึงกับออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาได้ผู้ใช้ใหม่เข้ามาเพิ่มอีกเกือบ 70 ล้านคนภายในวันนั้นวันเดียว ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่คนยังหันมาให้ความสนใจใช้แอปนี้กันมากขึ้น ในขณะที่ตลาดแพลตฟอร์ม Instant Messaging ซึ่งมีตัวเลือกอยู่เยอะ ค่อนข้างจะอิ่มตัวขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ Telegram ยังมีข้อดีหลายอย่างที่ทำได้เหนือคู่แข่ง ด้วยความที่มีฟังก์ชันพื้นฐานครบเทียบเท่า และมีฟีเจอร์เพิ่มเติมให้เลือกใช้งานได้มากกว่า ทำให้เป็นแอปที่สามารถใช้งานได้เกือบทุกด้าน แถม Telegram ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการใช้งานที่ง่าย หน้าตาเรียบหรู การโหลดข้อมูลหน้าแชทที่รวดเร็ว ตัวแอปมีน้ำหนักเบา ไม่มีบริการเสริมอื่น ๆ ไม่สูบแบต ใช้งานพร้อมกันได้กับทุกแพลตฟอร์ม และเก็บข้อมูลการแชทให้ทั้งหมด บวกทั้งยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ อีกจำนวนเยอะมากที่ LINE กับ Messenger ยังไม่มี เรียกว่าสร้างความแตกต่างจาก 2 แอปเจ้าตลาดมากพอสมควร

Telegram เผย มียูเซอร์ใหม่เพิ่มเข้ามามากถึง 70 ล้านคนในวันที่ Facebook ล่ม

อย่างไรก็ตาม แม้ Telegram จะเปิดตัวมานานแล้ว แต่สำหรับในไทยยังถือเป็นแอปน้องใหม่ที่คนยังไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ สิ่งที่ Telegram ยังขาดและเป็นสิ่งที่ค่อนข้างดึงดูดใจคนไทยหรือคนเอเชียเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเรื่องของสติกเกอร์และธีม ที่ปัจจุบันยังมีแต่เวอร์ชันฟรีให้ใช้ ซึ่งอาจจะยังไม่หลากหลายเท่ากับ LINE หรือ Messenger ที่เป็นร้านค้าครีเอเตอร์ขนาดใหญ่ รวมถึงยังไม่มีฟิลเตอร์สำหรับใช้งานระหว่างวิดีโอคอลที่ค่อนข้างดึงดูดใจกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้นหากมอง Telegram เป็นแอปแชทสำหรับคุยเล่นสนุกสนานกับคนรู้จัก อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ได้ดีเท่ากับ 2 แอปเจ้าตลาด ซึ่งคนจะยังจำภาพปัจจุบันของ Telegram ว่าเป็นแอปสำหรับคุยงานมากกว่า

ดังนั้นจากจุดเด่นและจุดด้อยของทั้ง 3 แอปที่กล่าวมา หากนำมาทำเป็นตารางเปรียบเทียบฟีเจอร์สำคัญของแต่ละแอป สามารถสรุปได้ดังนี้ครับ

ตารางสรุปเปรียบเทียบฟีเจอร์หลักด้านการแชทระหว่าง Telegram, LINE และ Facebook Messenger

ฟีเจอร์การส่งข้อความ

ฟีเจอร์ (Features)TelegramLINEFB Messenger
ส่งข้อความแบบไม่แจ้งเตือน
ส่งข้อความแบบตั้งเวลาส่ง
ส่งข้อความผ่านแชทลับ (ตั้งเวลาลบได้)
ส่งข้อความเสียง
ส่งสติกเกอร์
ส่งรููปภาพเคลื่อนไหว (GIF)
ยกเลิกส่งข้อความ (unsend)
(ภายใน 24 ชม. เท่านั้น)
แก้ไขข้อความที่ส่งไปแล้ว
ค้นหาข้อความในแชท
แสดงความรู้สึกบนข้อความ
มีห้องแชทสำหรับเก็บข้อความไว้ส่วนตัว
ส่งคลิปวิดีโอความยาวเกิน 5 นาที

(ส่งในรูปแบบไฟล์เท่านั้น)

ส่งรูปภาพขนาดต้นฉบับได้

(สัดส่วนภาพเดิม แต่ขนาดไฟล์ลดลง)

ฟีเจอร์การ Login / ใช้งานบน Platform

ฟีเจอร์ (Features)TelegramLINEFB Messenger
Login บัญชีเดียวบนมือถือพร้อมกันได้หลายเครื่อง
Login บน PC / tablet พร้อมกันได้หลายเครื่อง
รองรับการใช้งานบน browser

(Chrome Extension เท่านั้น)

วิดีโอคอลบน browser
Login บนแอปเดียวพร้อมกันได้มากกว่า 1 บัญชี
ย้ายข้อมูลข้าม platform

 

ฟีเจอร์อื่น ๆ

ฟีเจอร์ (Features)TelegramLINEFB Messenger
การเพิ่มเพื่อนด้วย ID
การเพิ่มเพื่อนอัตโนมัติด้วยเบอร์มือถือ ✓ ✓ ✓
การวิดีโอคอลแบบกลุ่ม
ใช้ฟิลเตอร์ขณะวิดีโอคอล
การแสดงสถานะ ออนไลน์ / ออฟไลน์
แสดงเครื่องหมายว่าคนรับอ่านข้อความแล้ว
แสดงเครื่องหมายว่ามีคนกำลังจะพิมพ์ส่งมา
แสดงจำนวนผู้อ่านแล้วในแชทกลุ่ม ✓
(ระบุตัวตนผู้ที่อ่านในหน้าป๊อปอัป)
 ✓ ✓
(ระบุตัวตนผู้ที่อ่านในหน้าแชท)
ปักหมุดแชทไว้ด้านบนสุด
ใช้รูปภาพเป็นพื้นหลังแชท

(รูปเดียวใช้ร่วมกันทุกแชท)

(ตั้งของแต่ละแชทเองได้)

การจัดกลุ่มแยกหมวดห้องแชท (Folder)

(ตั้งโฟลเดอร์แยกได้เองอิสระ)

(แยกกลุ่มตามประเภทให้)

เปลี่ยนชื่อผู้ติดต่อ
เชิญคนเข้ากลุ่มด้วยลิงก์
มีร้านค้าซื้อขายสติกเกอร์ / ธีม
มีโหมดธีมมืด (dark mode)
ล็อกแอปด้วย passcode / fingerprint
ไฟล์ไม่มีวันหมดอายุ
ส่งไฟล์ได้ทุกประเภท ✓

(ไม่อนุญาตไฟล์ประเภทบีบอัด)

ไม่ต้อง backup ข้อความเอง
ปรับแต่งได้ตามใจชอบ ✗
(ต้องซื้อธีม)
ตรวจสอบอุปกรณ์ที่กำลัง login อยู่จากในแอปได้
บล็อกเนื้อหา sensitive ได้

 

สรุปการเปรียบเทียบฟีเจอร์ของทั้ง 3 แอป

อย่างที่กล่าวกันมาตั้งแต่ต้นว่าทั้ง Telegram, LINE และ Facebook Messenger ต่างมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจตอบโจทย์ผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ แต่หากพูดในเชิงเปรียบเทียบด้วยฟีเจอร์ภาพรวมของทั้ง 3 แอปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า Telegram เป็นแอปที่มีฟีเจอร์ครบและตอบโจทย์ผู้ใช้งานโดยรวมมากที่สุด ด้วยจำนวนลูกเล่นสำคัญสำหรับใช้ในการแชทที่ค่อนข้างครอบคลุมกว่า ซึ่งจากตารางก็จะเห็นแล้วว่า Telegram เป็นแอปที่มีจำนวนฟีเจอร์เด็ดหลายตัวเยอะกว่ามาก ๆ ที่ LINE กับ Facebook Messenger ยังไม่มีในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

  • การตั้งเวลากดส่งข้อความ

  • การแก้ไขข้อความที่ถูกส่งไปแล้วได้ทุกเวลา

  • การ Unsend ข้อความได้แบบไม่จำกัดเวลาและไม่ทิ้งหลักฐานเก็บไว้

  • ไม่มี Ads โฆษณาขึ้นคั่นในหน้ารวมแชท

  • ตรวจสอบอุปกรณ์ที่กำลัง login อยู่จากในตัวแอปได้เลย

  • บล็อกเนื้อหา sensitive ได้

นอกจากนี้ เมื่อเทียบเฉพาะข้อดีที่มีเหมือนกันทั้ง 3 แอป Telegram ก็ยังถือว่าทำออกมาได้ดีกว่าอยู่หลายฟีเจอร์มาก ๆ เช่น การโทรด้วยเสียง (voice call) ของ Telegram ถือว่าโทรได้ค่อนข้างชัดเจนที่สุดในบรรดาทั้ง 3 แอป ไม่ค่อยติด ๆ ดับ ๆ ตัดเสียงรบกวนได้ค่อนข้างดี แถมตัวแอปมีขนาดเบา เปิดแอปเร็ว โหลดข้อความเร็ว และกินแบตน้อยกว่าแอปอื่นอย่างเห็นได้ชัด มีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวสูง ฟีเจอร์ที่มีให้เยอะกว่า และหากไม่ต้องการใช้ ก็สามารถตั้งค่าเปิดปิดได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เรียกว่าเป็นแอปที่ทั้งเยอะทั้งปรับแต่งได้มากที่สุดแอปหนึ่งเลยทีเดียว

ดังนั้นจากความเห็นของทีมงาน Droidsans มองว่า Telegram น่าจะเป็นแอปแชทที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้มากที่สุด ณ เวลานี้ จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาใช้ Telegram กันมากขึ้น หรือใครยังไม่เคยใช้ก็อยากให้เปิดใจมาทดลองใช้ดู แล้วจะพบความแตกต่างและความสะดวกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทีเดียวครับ