หลายคนตั้งตารอการมาของฟีเจอร์ลงแอป Android บน Windows 11 ที่ Microsoft เคยสัญญาไว้นานตั้งแต่เปิดตัว ข่าวดีก็คือจริง ๆ ฟีเจอร์นี้มีให้ใช้อยู่แล้วตอนนี้ และเพิ่งจะประกาศขยายการรองรับเพิ่มมาเป็น 31 ประเทศวันเดียวกับที่ปล่อย Windows 11 เวอร์ชัน 22H2 แต่ข่าวร้ายก็คือยังไม่มีประเทศไทย (อีกตามเคย) ซึ่งถ้าใครทนรอไม่ไหวหากไม่มุดเปลี่ยน Country or region ไปลองกับประเทศอื่น ก็ต้องยอมใช้แอปอีมูเลเตอร์แทนกันไปก่อน
สิ่งที่น่าสนใจและเชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากรู้ คือไอคำว่า “รันแบบเนทีฟ” ที่ Microsoft เคยชูจุดเด่นมา พอถึงคราวจะได้ใช้จริงแล้วมันจะลื่นสักแค่ไหนกันเชียว เทียบกับเวลาใช้บนเครื่อง Android แท้ ๆ ได้เลยรึเปล่า, ต้องใช้กับคอมจอสัมผัสเท่านั้นมั้ย หรือมีแอปรองรับเยอะขนาดไหน และถ้าเทียบกับพวก Android Emulator ในท้องตลาดอย่าง BlueStacks, MEmu, Nox และ LDPlayer ที่ใช้ได้ฟรีอยู่แล้วอันไหนจะลื่นกว่ากัน วันนี้เราจะพามาตอบคำถามเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันให้หมดเลย
วิธีที่จะทดสอบให้ดูครั้งนี้ก็คือจะใช้โน้ตบุ๊ค Acer Swift 5 (2022) สเปค Core i5-1240P ที่รองรับ touch screen เอามาใช้โหลดแอป Android เล่นเหมือนเป็นแท็บเล็ตคร่าว ๆ เครื่องหนึ่งให้ดูเลย ซึ่งสาเหตุที่ไม่เลือกรุ่นซีพียูรหัส H มีการ์ดจอแยกมาลอง ก็เพื่อจะไม่ให้มันแรงเกินจนแยกความต่างไม่ออก และจะได้เป็นการพิสูจน์ในตัวด้วยว่าโน้ตบุ๊คทำงานทั่วไปก็เพียงพอแล้วที่จะรันแอป Android ได้แบบลื่น ๆ (รึเปล่า)
แอป Android ที่รันบน Windows 11 แบบเนทีฟ
ส่วนถัดมาก็คือตัวแอป Android ของ Windows 11 ทีมงานได้มุด region ไปเป็น US เพื่อสมัครเอา Amazon Appstore มาโหลดแอปใช้ล่วงหน้า แต่ขอสปอยล์ก่อนเลยว่าแอปในนั้นมันน้อยมาก ก็เลยลง Google Play Store ที่มีชาว Github หัวใสทำพอร์ตลงเอามาใช้ด้วย สามารถโหลดได้ทุกแอปและใช้วิธีรันแบบ sideload ผ่าน Windows Subsystem for Android เหมือนกัน จึงไม่ต้องกังวลว่าพอไม่ official แล้วจะมีปัญหารึเปล่า เอาเป็นว่าอย่างน้อยต่อให้ไม่สมบูรณ์ก็ยังพอบอกได้คร่าว ๆ ว่าเล่นจริงแล้วจะเป็นยังไง
แอปจำลองหรืออีมูเลเตอร์ (Android Emulator)
นอกจากแอปเนทีฟ ผู้ท้าชิงในศึกนี้ของเราก็คือเหล่า Android Emulator ทั้ง 4 เจ้านั่นเอง (เกิดก่อนทำไมกลายเป็นผู้ท้าชิงไปได้) ได้แก่ BlueStacks, MEmu, Nox และ LDPlayer ซึ่งก็จะทำการโหลดแอปเดียวกันทั้งโซเชียลและเกมมาลองเปรียบเทียบให้ดู
อีมูทุกตัวเลือกตั้งค่าให้จำลองด้วย OS เป็น Android 9 Pie (64-bit) โดยที่บางตัวยังระบุเป็นรุ่น Beta อยู่ แต่มันก็คือเวอร์ชันล่าสุดของทุกอันแล้ว พร้อมเลือกจัดสรรทรัพยากรซีพียูให้เป็น 4 Core แรม 4GB ตามค่ามาตรฐานที่ทุกแอปแนะนำทั้งหมด ซึ่งผลจะออกมาลำเอียงไม่ลำเอียงก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ด้วย แต่ให้เข้าใจว่าเป็นผลลัพธ์คร่าว ๆ ที่เกิดจากการใช้งานจริงก็แล้วกันครับ
เปรียบเทียบการเล่นแอปโซเชียลทั่วไป
สำหรับแอปโซเชียลเบา ๆ อย่าง Facebook หรือ Line หากเป็นการไถอ่านดูรูปทั่วไป ทุกตัวทำได้ค่อนข้างลื่นพอ ๆ กันหมด แต่พอถึงคราวเปิดเล่นวิดีโอ ซึ่งรวมถึงตอนเปิดบน YouTube หรือ TikTok ด้วย อันนี้ฝั่งอีมูเกือบทุกตัวจะเริ่มเห็นอาการกระตุกให้เห็นบ่อย ไม่ก็จะมีปัญหาแสดงผลแบบเพี้ยน ๆ ไปเลย มีเพียง Nox ที่พอจะไปวัดไปวาได้บ้าง แต่ก็ยังใช้จริงไม่ค่อยสนุกอยู่ดี
TikTok บน BlueStacks แสดงผลภาพเพี้ยน
อย่างไรก็ดี ฝั่งเนทีฟกลับแสดงผลสตรีมวิดีโอได้ค่อนข้างเสถียรกว่ามาก เช่น แอป TikTok ก็นิ่งแทบจะเหมือนที่เล่นบนมือถือปกติ ส่วน YouTube ซึ่งปรับความละเอียดได้สูงสุด 4K นาน ๆ ทีจะมีภาพแตกหรือแสดงผลเพี้ยนให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่เจออาการวิดีโอค้างให้เห็น กะคร่าว ๆ ว่าใช้ได้ดีประมาณ 90% ของเวลาเล่นบนเบราว์เซอร์คอมปกติเลย
TikTok และ YouTube แบบแอปเนทีฟแสดงผลภาพได้ปกติ
มีอีมูบางตัวไม่รองรับการ pinch to zoom บนจอทัช
เจ้าตัวนั้นก็คือ BlueStacks นั่นเอง คือไม่สามารถใช้ 2 นิ้วถ่างซูมดูรูปในแอป Photos หรือ Google Maps อะไรได้เลย ขณะที่อีมูเจ้าอื่นทำได้หมด รวมถึงแอปเนทีฟก็ทำได้ ทำให้เป็นแอปเดียวที่ไม่เหมาะกับการใช้บนจอสัมผัสเท่าไหร่ ต้องใช้เมาส์เล่นอย่างเดียว
บางแอปยังแสดงสัดส่วนบนจอได้ไม่ดี
ตัวอย่างชัดเจนคือแอป Facebook เวลาเปิดเต็มจอจะโดนสเกลสัดส่วนออกมาตลกหน่อย คือ UI จะโดนกางให้เต็มจอไปซะหมด ทำให้รูปโดนกินสัดส่วนไป (ไม่เหมือนกับ iPad ที่ปรับขนาดมาอยู่ตรงกลางให้) ซึ่งเป็นกับอีมูทุกตัว (มีเฉพาะ BlueStacks ที่บังคับจอตั้งไปเลย) รวมถึงฝั่งเนทีฟจริง ๆ ก็เป็น แต่เนทีฟได้เปรียบกว่าคือยังย่อหน้าต่างให้ใช้แบบจอเล็กได้
เปรียบเทียบการเล่นเกม
มาถึงตาทดสอบด้วยแอปหนัก ๆ ขึ้นอย่างแอปเกมกันบ้าง เกมแรกที่เลือกก็คือ Asphalt 9: Legends ซึ่งก็ไม่ใช่เกมที่กราฟิกเบาหรือหนักอะไรมาก แต่ก็ทำให้เห็นความต่างได้ชัดเจน โดยเริ่มจากแอปเนทีฟก่อน พบว่าสามารถเล่นได้ลื่นไหลดี โดยตอนวิ่งปกติไม่ค่อยมีอาการแลคให้เห็น แต่จะเริ่มมีหนัก ๆ ตอนพุ่งชนคู่ต่อสู้หรือตอนเปิดไนโตรขั้นแรงสุดบ่อย ๆ ลองดูวิดีโอตัวอย่างได้จากด้านล่าง
ทดสอบเล่น Asphalt 9 บนแอปแบบเนทีฟ ส่วนใหญ่แลคตอนพุ่งชน
ส่วนแอปบนโปรแกรมอีมู ทุกเจ้าเล่นได้ลื่นพอประมาณใกล้เคียงกันหมด มีแลคหนักจริง ๆ เฉพาะจังหวะชนเหมือนกัน แต่โดยรวมก็ยังรู้สึกว่าลื่นน้อยกว่าแบบเนทีฟอยู่เล็กน้อย เพราะจับจังหวะกระตุกได้เยอะกว่า (ลองเปรียบเทียบคลิปล่างกับบน) อย่างไรก็ดี ก็ยกนิ้วให้โปรแกรมอีมูเหล่านี้ที่ตั้งใจ Optimize มาให้เพื่อการเล่นเกมได้ดีมาก ทั้ง ๆ ที่กินสเปคหนักกว่าแอปโซเชียลอีก แต่พวกแอปโซเชียลดันออกมาหน่วงกว่าซะงั้น
ทดสอบเล่น Asphalt 9 บน LDPlayer แอบกระตุกเยอะกว่าแบบเนทีฟเล็กน้อย
ส่วนการเล่นเกมแคชชวล (Among Us, PvZ 2, Subway Surfers) อันนี้ไม่มีปัญหา ทุกอันเล่นได้ลื่น ๆ เท่ากัน แต่พวกอีมูจะได้เปรียบกว่า เพราะบางเจ้าจะมีฟีเจอร์แม็ปคีย์ให้บางเกมสามารถใช้คีย์บอร์ดเล่นได้ด้วย ตัวอย่างด้านล่างก็คือเกมบน BlueStacks กับ MEmu จะใช้ปุ่ม W-A-S-D บังคับแทนจอยได้ซึ่งคล้ายเวอร์ชัน PC เลย แต่ของเนทีฟตอนนี้ยังทำไม่ได้ (จริง ๆ ต้องขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาเกมด้วยว่าทำรองรับเผื่อไว้มั้ย)
เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย ของทั้ง 5 แพลตฟอร์ม
- เนทีฟ ข้อดี เล่นแอปลื่นไหลที่สุดในบรรดาทั้งหมด (ทั้งโซเชียลและเกม) ข้อเสีย ใช้แป้นพิมพ์เล่นเกมไม่ได้, มีแอปน้อยหากไม่โหลด Play Store มาเสริม (แต่ยังลง apk แทนได้)
- BlueStacks ข้อดี หมุนสลับจอแอประหว่างแนวตั้งกับนอนได้เร็วสุด, รองรับการใช้แป้นเล่นดีกว่าเจ้าอื่น ข้อเสีย ไม่มีแท็บแสดงแอปที่เปิด, ไม่รองรับการ Pinch to Zoom บนจอทัช
- Nox ข้อดี UI เสถียรสั่งงานสัมผัสลื่น (ใกล้เคียงความเป็นแท็บเล็ตที่สุด) ข้อเสีย ไม่มีแท็บแสดงแอปที่เปิด, ใช้แป้นพิมพ์เล่นเกมไม่ได้
- MEmu ข้อดี มีแท็บแสดงแอปที่เปิด, ใช้แป้นเล่นบางเกมได้ ข้อเสีย มีหน้าโฆษณาใหญ่แทรกระหว่างใช้, รองรับแอปน้อยกว่าอีมูตัวอื่น (เช่น ไม่มี Asphalt 9)
- LDPlayer ข้อดี เปิดเรียกตัวอีมูขึ้นมาใช้ได้เร็วสุด, มีแท็บแสดงแอปที่เปิด, ใช้แป้นเล่นบางเกมได้ ข้อเสีย แถบเมนูข้างเล็ก ไม่ขยายตามความละเอียด
ข้อสรุป
ในส่วนของความลื่นไหล แอป Android แบบเนทีฟบน Windows 11 ทำได้ลื่นที่สุด เมื่อเทียบกับโปรแกรมจำลองอีมู แถมใช้งานกับโน้ตบุ๊คจอทัชได้ดีกว่าด้วย ส่วนอีมูทุกตัวทำได้ประสิทธิภาพพอ ๆ กันหมด แม้โดยภาพรวมของทั้ง 4 ตัวจะพ่ายแพ้ให้กับฝั่งเนทีฟเรื่องความเสถียรของโซเชียล แต่เรื่องการเล่นเกมไม่ถือว่าต่างเยอะ ซึ่งถ้าตั้งใจจะเอามาเล่นเกม Android โดยใช้แป้นพิมพ์ด้วย ฝั่งอีมูยังถือว่าตอบโจทย์ได้ดีกว่าด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ทุกอันที่ว่ามาแม้กระทั่งตัวเนทีฟ ก็ยังทำให้โน้ตบุ๊ค Windows กลายมาเป็นแท็บเล็ต Android เครื่องหนึ่งเลยไม่ได้ เพราะแอปยังลื่นไหลได้ไม่เท่า เปิดแอปช้าใช้เวลานานกว่า หรือรอโหลดระหว่างแอปก็นานมากจนหงุดหงิด ไม่รวมปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น ค่า latency ของจอ Windows ที่ยังดีเทียบ Android ไม่ได้ ส่วนใหญ่สัมผัสแล้วจับดีเลย์ได้หมด ถ้าไม่ใช่ตระกูล Surface ที่ทำมาดีจริง ๆ
ดังนั้นก็สรุปได้ว่าการใช้แอป Android บน Windows ได้ถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วยเติมเต็มให้เรามีตัวเลือกที่หลากหลายกว่าเดิม ใช้งานได้กว้างขึ้น แต่ก็ยังไม่อยากให้คาดหวังว่าจะเอามาใช้เป็นส่วนหลักแทน Android ได้เลยในปัจจุบัน เพราะยังมีข้อจำกัดอยู่เยอะอย่างที่บอกไป
แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ หากการใช้งานเสถียรกว่านี้แล้ว Microsoft จะมีทั้ง 3 ข้อดีร่วมผนึกกำลังกันได้บนอุปกรณ์เดียว ได้แก่ Desktop Apps, Web Apps (เบราว์เซอร์) และ Mobile Apps (Android) ซึ่งจะสร้างทั้งแต้มต่อเหนือและความร้อนหนาวให้กับแท็บเล็ต Android หรือ iPad เป็นอย่างมาก มารอดูกันว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อไหร่
This is very well-written. Keep up the good work!
Thank you very much krub bro
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ