เก็บตก Mi 10 Ultra สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุดจาก Xiaomi ที่เปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องบอกว่า เพียงแค่สเปคและหน้าตาของมันก็ทำให้สมาร์ทโฟนตัวนี้ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นในทันที ยิ่งไปกว่านั้นด้วยประสิทธิภาพกล้องหลัง 4 ตัว ความละเอียด 48MP ทำให้ Mi 10 Ultra สามารถคว้าอันดับ 1 สมาร์ทโฟนกล้องเทพไปครอง จากการจัดอันดับโดย DXOMARK เว็บทดสอบประสิทธิภาพกล้องชื่อดัง และทำลายสถิติคะแนนสูงสุดในหมวดหมู่ย่อย ๆ ไปหลายอย่างเลยทีเดียว


ภาพตัวเครื่อง Mi 10 Ultra ที่ถ่ายด้วย Mi 10 Ultra

คะแนนผลการทดสอบ

ทาง Xiaomi ได้นำเสนอไปตั้งแต่ภายในงานเปิดตัวแล้วว่า Mi 10 Ultra ได้คะแนนรีวิวจาก DXOMARK สูงถึง 130 คะแนน แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Huawei P40 Pro ที่มี 128 คะแนน เป็นที่เรียบร้อย โดย 140 คะแนนนี้จะแบ่งออกเป็น ภาพนิ่ง 142 คะแนน สูงที่สุดเป็นสถิติใหม่ และวิดีโอ 106 คะแนน

สเปคกล้อง Mi 10 Ultra

  • Wide : 48MP เซ็นเซอร์ขนาด 1/1.32 นิ้ว แบบ Quad Bayer, ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 25 มม. (f/1.85), PDAF + OIS
  • Ultra-Wide : 20MP เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.8 นิ้ว, ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 12 มม. (f/2.2), PDAF
  • Telephoto 1 : 12MP เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.56 นิ้ว, ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 50 มม. (f/2), Dual-Pixel AF
  • Telephoto 2 : 48MP เซ็นเซอร์ขนาด 1/2 นิ้ว แบบ Quad Bayer, ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 120 มม. (f/4.1), PDAF + OIS
  • แฟลช : Dual LED
  • เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิสีมัลติสเปกตรัม
  • วิดีโอ : 8K (4320p) ที่ 30 fps, 4K (2160p) ที่ 30/60 fps

ก่อนหน้านี้ทาง Xiaomi ได้แจ้งต่อสื่อต่างประเทศว่า Mi 10 Ultra ไม่มีแผนที่จะวางจำหน่ายนอกประเทศจีน ทำให้โอกาสที่จะได้เห็นไส้ในของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้น่าจะมีน้อยมากๆ แต่แล้วทาง Xiaomi ประเทศจีน ก็ได้เป็นคนออกมาชำแหละเจ้าสมาร์ทโฟนตัวนี้ให้เราดูกันด้วยตัวเองซะเลย ซึ่งในวิดีโอได้เผยให้เห็นถึงกล้องหลังทั้ง 4 ตัวของ Mi 10 Ultra ที่มีเลนส์หลักและเลนส์ Periscope ขนาดใหญ่สุด ๆ ไปเลย

Play video

ภาพรวม

ทาง DXOMARK สรุปภาพรวมเอาไว้ว่า Mi 10 Ultra ถือว่าคู่ควรกับตำแหน่งแชมป์ใหม่ เนื่องจากแทบจะไม่มีข้อตำหนิอะไรที่เด่นชัดเป็นพิเศษ ผลลัพธ์จากการทดสอบก็มีคะแนนระดับท็อปในหลายหมวดหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเลนส์ Ultra-Wide ที่มีความยาวโฟกัสเพียง 12 มม. (ตัวเลขยิ่งน้อย ภาพยิ่งมีมุมกว้าง) ตามสเปคหน้ากระดาษ ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่มีเลนส์มุมกว้างที่สุดในโลกในตอนนี้ แม้ว่า จะขยับขึ้นเป็น 12.5 มม. หลังจากที่แก้ไขความบิดเบี้ยว (distortion) ด้วยซอฟต์แวร์ก็ยังคงมีความกว้างมากกว่าเลนส์ของ Galaxy S20 Ultra ที่มีความยาวโฟกัส 13 มม. อยู่ดี อีกทั้งยังมีรายละเอียดของภาพที่ดีกว่า ไดนามิกเรนจ์กว้างกว่า รวมถึงมี noise น้อยกว่าด้วย


เลนส์ Ultra-Wide แบบกว้างมหาประลัย

ในส่วนของเลนส์ Telephoto เองก็หวังผลได้ในทุกระยะ ให้รายละเอียดของภาพที่ดีและคมชัด ไม่ว่าจะเป็นการซูมระยะกลางหรือระยะไกลก็ตาม  และในการถ่ายด้วยโหมดโบเก้ก็สามารถเรนเดอร์ภาพถ่ายออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ประกอบกับการตัดขอบวัตถุได้ค่อนข้างแนบเนียนทำให้ภาพที่ได้ดูสมจริงสุด ๆ ไม่หลอกตา เรียกได้ว่า ตัวเดียวจบ ครบเครื่องทุกระยะ ทุกสถานการณ์


เมื่อถ่ายภาพในโหมดโบเก้ Mi 10 Ultra จะเลือกเลนส์ Telephoto ในการถ่าย ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ

สารบัญหมวดหมู่การทดสอบ

ความสว่างและคอนทราสต์

กล้องของ Mi 10 Ultra มีไดนามิกเรนจ์ที่กว้างมาก ๆ ส่งผลให้เก็บรายละเอียดของภาพได้ครอบคลุมทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง แม้แต่ในสภาพแสงยาก ๆ เช่น การถ่ายย้อนแสง ก็ยังรับมือได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากนี้มันยังวัดแสงได้อย่างแม่นยำสุด ๆ อีกด้วย

ภาพตัวอย่างเปรียบเทียบชุดแรก ระหว่าง Mi 10 Ultra, Galaxy S20 Ultra และ P40 Pro โดยโจทย์ภาพลักษณ์นี้จะมีความต่างแสงค่อนข้างมาก เนื่องจากตัวแบบอยู่ในร่ม ในขณะที่ฉากหลังจะสว่างกว่ามาก ซึ่งสมาร์ทโฟนทั้ง 3 รุ่นภ่ายภาพออกมาได้ดีไม่ห่างกันเท่าไหร่

เมื่อพอลองเปลี่ยนจากการถ่ายคนมาเป็นถ่ายอาคารแทน ก็พบว่า Mi 10 Ultra เริ่มแสดงพลังของไดนามิกเรนจ์ขึ้นมาอย่างเด่นชัด วัตถุเป้าหมายมีความสว่างอย่างที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันก็ยังคงเก็บรายละเอียดในส่วนของท้องฟ้าได้ครบทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเหนือกว่าสมาร์ทโฟนอีก 2 รุ่นอยู่พอสมควร

สีสันและไวท์บาลานซ์

โดยปรกติแล้ว ระบบการประมวลผลไวท์บาลานซ์ของกล้องดิจิทัลจะด้อยประสิทธิภาพลงในสภาวะแสงน้อย แต่ Mi 10 Ultra ไม่เจอกับปัญหาดังกล่าว เพราะระบบไวท์บาลานซ์สามารถทำงานได้ดีทุกทุกสภาพแสง แถมยังเที่ยงตรงสุด ๆ อีกต่างหาก

ในภาพตัวอย่างชุดแรกของหัวข้อนี้ ก็สามารถสังเกตความแตกต่างได้ในที โดย Mi 10 Ultra มีสีที่เที่ยงตรงอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่ Galaxy S20 Ultra อมเหลืองหนักมาก ส่วน P40 Pro เองก็อมฟ้าซะงั้น

หรือหากใครมองว่า ภาพตัวอย่างชุดแรกนั้นไม่ค่อยมีความแตกต่างกันเท่าไหร่ ผมเชื่อว่า ภาพตัวอย่างชุดที่สองด้านล่างนี้ น่าจะทำให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะสมาร์ทโฟนทั้ง 3 รุ่น ทำผลลัพธ์ออกมาได้ไปในแนวทางเดียวกับภาพชุดแรกเป๊ะ ๆ เลย (แต่รอบนี้เปลี่ยนจาก Galaxy S20 Ultra เป็น OPPO Find X2 Pro แทน)

ออโต้โฟกัส

ระบบออโต้โฟกัสของ Mi 10 Ultra ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งจากการทดสอบในแล็บและสถานที่จริง โดย DXOMARK กล่าวว่า ในภาพตัวอย่างทั้งหมดที่ถ่ายมา มีเพียงแค่ไม่กี่ภาพเท่านั้นที่หลุดโฟกัส ซึ่งจะเกิดก็ตอนที่ถ่ายย้อนแสงหนัก ๆ หรือถ่ายในที่แสงน้อยมาก ๆ ทำให้กล้องจับโฟกัสได้ยาก แต่ก็ด้วยเหตุนี้ทำให้ Mi 10 Ultra พลาดทำ 100 คะแนน ในหมวดหมู่นี้ไปอย่างน่าเสียดาย

กราฟด้านล่างแสดงถึงผลทดสอบในแล็บ ที่แสงน้อยระดับ 20 ลักซ์ ซึ่งเป็นระดับความสว่างที่มืดมาก ๆ แต่ Mi 10 Ultra ก็ยังสามารถล็อกโฟกัสได้ในทันที และสามารถจับโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว

รายละเอียดและนอยส์

ด้วยเซ็นเซอร์ความละเอียด 12MP ทำให้มันมีข้อจำกัดอยู่บ้างในด้านรายละเอียดของภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถ่ายในสภาวะแสงน้อยจะเห็นความแตกต่างกับสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีกล้องความละเอียดสูงกว่า เช่น Galaxy S20 Ultra (108MP) และ P40 Pro (50MP) ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่หากถ่ายในสภาวะแสงปรกติ Mi 10 Ultra ก็ยังทำได้ดีพอสมควร และ DXOMARK ยังบอกอีกว่า ภาพตัวอย่างด้านล่างนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ภาพของ Mi 10 Ultra ที่ถ่ายออกมาแล้วติดเหลือง

ภาพตัวอย่างด้านล่างแสดงให้เห็นว่า P40 Pro สามารถรีดรายละเอียดของพื้นผิวบนตึกที่มีคอนทราสต์ต่ำออกมาได้ดีกว่า Mi 10 Ultra เล็กน้อย

สิ่งแปลกปลอม

สิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในภาพ หรือที่เรียกว่า artifact เป็นคำจำกัดความกว้าง ๆ ขององค์ประกอบแปลก ๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในความเป็นจริง แต่ไปปรากฏอยู่บนภาพ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากชิ้นเลนส์ เซ็นเซอร์รับภาพ หรือไม่ก็การประมวลผลก็ได้ทั้งนั้น โดย Mi 10 Ultra ยังคงสามารถจัดการกับ artifact ต่าง ๆ ได้ดี แม้จะมีแฟลร์ (flare) มัวเร (moiré) และขอบสี (color fringing) เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องซูมภาพสุด ๆ ดู ถึงจะมองเห็น ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอะไร

จากภาพด้านล่างจะสังเกตเห็นได้ถึงการเรนเดอร์ที่เพี้ยน ๆ นิดหน่อยตรงบริเวณขอบภาพ เกิดจากอัลกอริทึมในรวมภาพของ Mi 10 Ultra

เลนส์ซูม

การซูมระยะใกล้ ไกล และไกลมาก สามารถทำออกมาได้ดี ภาพมีความคมชัดและเก็บรายละเอียดได้อย่างดีเยี่ยม แต่ที่การซูมระยะกลาง (ประมาณ 4 เท่า) จะมีการสูญเสียคุณภาพที่บริเวณขอบภาพเล็กน้อย รวมถึงพบว่า มี luminance noise (นึกถึงตอนทีวีเสียง ที่เป็นภาพ ซ่า ๆ แบบนั้นแหละครับ) เกิดขึ้น และอาการสูญเสียรายละเอียดของพื้นผิวของวัตถุเล็ก ๆ ในภาพเป็นบางครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น Mi 10 Ultra ก็ยังทำคะแนนในหัวข้อนี้ได้สูงที่สุดเป็นสถิติใหม่อยู่ดี

ภาพตัวอย่างสองชุดด้านล่างถ่ายในระยะการซูมประมาณ 10 เท่า และ 30 เท่า ตามลำดับ ซึ่ง DXOMARK บอกว่า เป็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจมาก ๆ สำหรับ Mi 10 Ultra

โบเก้และการละลายฉากหลัง

ทาง DXOMARK กล่าวชม Mi 10 Ultra อย่างสุดตัวในหัวข้อนี้ว่า เป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยทดสอบมาในหัวข้อนี้เลย เนื่องจากการประมวลผลโบเก้จำลองที่ทำได้เนียนเป็นธรรมชาติมาก ๆ ประกอบกับการถ่ายในโหมดโบเก้ของมันจะใช้เลนส์ Telephoto ในการถ่าย ทำให้ได้เปรียบสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้เลนส์ Wide ในเรื่องของมุมมองและระยะชัดตื้นที่เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลมากกว่า

จากภาพตัวอย่างด้านล่างถือเป็นหนึ่งในโจทย์ปราบเซียน เพราะช่องว่างระหว่างเส้นผม รวมทั้งตัวเส้นผมเองนั้นมีขนาดที่เล็กมาก ๆ ทำให้เป็นการยากที่กล้องจะประมวลผลในบริเวณนั้นว่า จุดไหนบ้างที่เป็น “ขอบ” ซึ่งปัญหาลักษณะนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุของการตัดขอบวัตถุไม่เนียน เบลอฉากหลังแล้วตัวแบบดูลอย ๆ นั่นเองครับ

แต่ดูเหมือนว่า จะไม่เป็นปัญหาอะไรกับ Mi 10 Ultra เพราะมันไม่สะทกสะท้านอะไรเลยกับโจทย์ปราบเซียนนี้ ส่วน P40 Pro สามารถเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่ Galaxy S20 Ultra นั้นดูเหมือนว่า Samsung ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่อีกเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี แม้ว่า DXOMARK ชื่นชม Mi 10 Ultra ไว้ซะดิบดีในหัวข้อนี้ แต่ฝากข้อสังเกตไว้เหมือนกันว่า บางครั้งมันก็ไล่ระดับความเบลอจากหน้าไปหลังได้ไม่เนียน (แต่เอาจริง ๆ ก็เป็นกันทุกรุ่นอะแหละในตอนนี้ มากน้อยต่างกันไป)

เลนส์อัลตราไวด์

เลนส์ Ultra-Wide ที่มีความยาวโฟกัสเพียง 12 มม. ถือเป็นทีเด็ดของ Mi 10 Ultra  (ตัวเลขยิ่งน้อย ภาพยิ่งกว้าง) แม้จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 มม. หลังจากที่มีการแก้ไขความบิดเบี้ยวด้วยซอฟต์แวร์ ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่มีเลนส์ Ultra-Wide ที่ให้ภาพมุมกว้างที่สุดในโลกอยู่ดี ในส่วนของภาพรวมในหัวข้อนี้ของก็ยังคงทำได้ดี มีไดนามิกเรนจ์ที่กว้างอย่างเห็นได้ชัด และมีการสูญเสียความคมที่ขอบภาพค่อนข้างน้อย หากเทียบกับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีอาการเหลือบสี (chromatic aberration) ตามขอบ ๆ ของวัตถุบ้างประปราย

ภาพตัวอย่างสองชุดที่ด้านล่างแสดงให้เห็นถึงคุณภาพเลนส์ Ultra-Wide ของ Mi 10 Ultra ที่มีความคมชัดและจัดการกับ noise ได้ดี อีกทั้งยังมีไดนามิกเรนจ์ที่โดดเด่นสุด ๆ แน่นอนว่า มันให้มุมภาพที่กว้างกว่าด้วยเช่นกัน

การถ่ายกลางคืนและที่แสงน้อย

หัวข้อการถ่ายภาพกลางคืนหรือในสภาวะแสงน้อย ถือว่าเป็นอีกหัวข้อที่ Mi 10 Ultra ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ การวัดแสงและไวท์บาลานซ์ยังคงทำงานได้ดี noise ก็ไม่ค่อยโผล่ แถมการทำงานของแฟลชในโหมดออโต้เองก็ยอดเยี่ยม ยิงแฟลชออกมาได้สัมพันธ์กับแสงสภาวะโดยรอบ ทำให้ภาพออกมาดูเป็นธรรมชาติ แล้วก็ยังทำงานอัตโนมัติได้ฉลาดมาก ๆ อีกด้วย (ถ้าเปิดออโต้ไว้) เช่น หากถ่ายภาพบุคคลแฟลชจะทำงาน แต่หากถ่ายภาพวิวหรือภาพตึก แฟลชจะไม่ทำงาน อะไรทำนองนี้

หากถ่ายแบบปิดแฟลช ถึงแม้ P40 Pro จะมีภาพที่สว่างกว่าก็จริง แต่ในทางกลับกันมันก็สูญเสียรายละเอียดและความคมไปพอสมควร แถมไฮไลท์ของฉากหลังในหลาย ๆ จุดก็สว่างจนหลุดไปเลย ในขณะที่ Mi 10 Ultra ถ่ายออกมาได้ดูเป็นธรรมชาติกว่ามาก อีกทั้งรายละเอียดและสีสันก็ยังอยู่ครบ ไวท์บาลานซ์ก็วัดค่าสีออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วน OPPO Find X2 Pro นั้นมืดจนแทบมองไม่เห็นตัวแบบเลย

Mi 10 Ultra มากับเซ็นเซอร์หลัก OmniVision OV 48C ความละเอียด 48MP ไม่ใช่ Bright HMX 108MP ของ Samsung

มีสมาร์ทโฟนเรือธงในซีรีส์ Mi ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วถึง 3 รุ่น ที่เลือกใช้เซ็นเซอร์ความละเอียดสูง 108MP ของ Samsung อย่าง ISOCELL Bright HMX แต่เจ้า Mi 10 Ultra ตัวนี้ กลับไปใช้เซ็นเซอร์ OmniVision 0V48C ที่มีความละเอียด 48MP แทน

เซ็นเซอร์ของ OmniVision จะมีขนาดอยู่ที่ 1/1.32 นิ้ว ใหญ่กว่าของ Samsung ที่มีขนาด 1/1.33 นิ้ว อยู่จิ๊ดนึง จะเห็นได้ว่า เซ็นเซอร์ทั้งสองตัวมี “ขนาด” ที่ใกล้เคียงกัน แต่ “ความละเอียด” ต่างกันเกือบเท่าตัว ซึ่งข้อดีของการที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่แต่ความละเอียดน้อยก็คือ พิกเซลแต่ละจุดที่อยู่บนเซ็นเซอร์จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า ทำให้แต่ละพิกเซลมีพื้นที่ในการรับแสงที่มากกว่า หากเทียบกับพวกเซ็นเซอร์ที่อัดจำนวนพิกเซลมาเยอะ ๆ นั่นเองครับ โดย OmniVision 0V48C จะมีขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.2 μm ใหญ่กว่า ISOCELL Bright HMX ที่มีขนาด 0.8 μm อยู่ระดับนึง


ภาพตัวอย่างเปรียบเทียบในกรณีที่ขนาดของเซ็นเซอร์เท่ากัน แต่จำนวนพิกเซลต่างกัน

ทั้งนี้ Xiaomi ไม่ได้ชี้แจงใด ๆ ถึงเหตุผลของการตัดสินใจโยกย้ายจาก ISOCELL มาใช้ OmniVision ในครั้งนี้ แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่า อาจมาจากสองสาเหตุหลัก ๆ คือ ISOCELL Bright HMX ค่อนข้างมีปัญหากับระบบโฟกัสของตัวเอง ที่ทำงานได้ช้าอย่างน่าหงุดหงิดในบางสถานการณ์ ประกอบกับความละเอียดที่สูงถึง 108MP  ทำให้กินทรัพยากรในการประมวลผลมาก ส่วนอีกข้อ คือ เซ็นเซอร์จาก OmniVision มีต้นทุนที่ถูกกว่า ISOCELL ของ Samsung อย่างไรก็ดี ดูเหมือน Xiaomi จะตัดสินใจถูกในครั้งนี้ ตามที่เราเห็นได้จากประสิทธิภาพกล้องสุดโหดของ Mi 10 Ultra ในบทความนี้เลย

สรุปจุดเด่นและข้อสังเกต

จุดเด่น

  • วัดแสงวัตถุได้เหมาะสม และมีไดนามิกเรนจ์ที่กว้าง
  • ไวท์บาลานซ์แม่นยำ
  • เก็บรายละเอียดของภาพได้ดีทั้งการซูมระยะกลางและไกล
  • เลนส์ Ultra-Wide ให้มุมภาพที่กว้างมาก และมีไดนามิกเรนจ์ที่ดี
  • การถ่ายภาพกลางคืนให้ภาพที่สว่าง และมีไดนามิกเรนจ์ที่ดี
  • ไวท์บาลานซ์ยังคงแม่นยำ แม้จะถ่ายโดยใช้แฟลช
  • มีโบเก้ที่สวยงาม แม้จะละลายหลังไปมาก แต่ก็ยังดูเป็นธรรมชาติ

ข้อสังเกต

  • เกิด artifact ในโหมด HDR
  • เกิด luminance noise ในภาพจากหลาย ๆ สถานการณ์
  • เกิดสภาวะการเรนเดอร์รายละเอียดของภาพที่ไม่เป็นธรรมชาติในโหมด HDR ในบางครั้ง
  • เกิด artifact ของความลึกเมื่อมีวัตถุที่ซับซ้อนอยู่ในภาพในขณะถ่ายด้วยโหมดโบเก้ (เช่น ช่องว่างระหว่างเส้นผมและกิ่งของต้นไม้)
  • เกิด noise ในภาพ และสูญเสียรายละเอียดของภาพ หากถ่ายด้วยเลนส์ Ultra-Wide
  • ภาพจะติดเหลืองอย่างมาก หากถ่ายใต้หลอดไฟโซเดียมความดันต่ำ (เช่น ไฟส่องถนน)

Play video

จากการทดสอบจะเห็นได้ว่า Mi 10 Ultra ดูจะเหมาะสมกับตำแหน่งแชมป์ใหม่จริง ๆ สามารถทำผลงานออกมาได้ดีอย่างรอบด้าน และไม่มีจุดที่เป็นข้อด้อยอะไรที่เด่น ๆ เลย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ Xiaomi ได้ออกมาให้ข้อมูลต่อสื่อต่างประเทศว่า Mi 10 Ultra ไม่มีแผนที่จะทำตลาดนอกประเทศจีน แต่ก็มีความเห็นบางส่วนจากโซเชียลมีเดียเดาว่า ไม่แน่ Mi 10 Ultra อาจจะวางจำหน่ายนอกประเทศจีนโดยการเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่นก็เป็นได้ ยังไงในส่วนนี้ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปครับ

 

ที่มา : DXOMARK | Weibo | Notebookcheck