ทุกคนในที่นี้น่าจะเคยใช้ปุ่ม dislike และ not interested บน YouTube กันแน่นอนซึ่งมันคือการกดไม่ชอบใจ และบอกกับ YouTube ว่าเราไม่ได้สนใจต่อวิดีโอนั้น และวิดีโอประเภทนั้นด้วย ตอนกดก็หวังว่า YouTube จะไม่แสดงเนื้อหาคอนเทนประเภทเดียวกันให้เราดูอีก แต่ที่ไหนได้…มีการศึกษาออกมาค่ะว่าความจริงแล้วการกดปุ่มพวกนั้นแทบไม่ได้ช่วยคัดกรองเนื้อหาวิดีโอเลย ไม่รู้ว่าให้กดทำไมกัน ? 

ผลงานวิจัยเรื่องนี้มาจาก Mozilla (เจ้าเดียวกับที่ทำเบราว์เซอร์ Firefox ค่ะ) พบว่าการกดปุ่ม Dislike หรือ Not Interested ระหว่างที่เรารับชมวิดีโอมากมายบน YouTube ไม่ได้ส่งผลให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเลยค่ะ เพราะยังไงมันก็จะขึ้นเนื้อหาเดิมที่คล้ายคลึงกับวิดีโอที่เราพึ่งดูแล้วไม่สนใจเมื่อกี๊อยู่ดี (ไม่รู้ว่าทำมาทำไมกันเนี่ย)

การศึกษาครั้งนี้ ใช้ตัวชี้วัดในการตรวจสอบข้อมูลด้วย RegretsReporter ที่เป็นส่วนขยายของเบราว์เซอร์ Mozilla เองค่ะ โดยใช้ตรวจสอบว่าการใช้งานปุ่มต่าง ๆ บน YouTube ได้ผลจริงมั้ย เมื่อทุกครั้งที่พวกเราคลิกปุ่ม Dislike, Not interested, Don’t recommend channel, Remove from history จริง ๆ แล้วแทบไม่ได้มีการส่งข้อเสนอแนะพวกนั้นไปทาง YouTube เลยค่ะ ทั้งหมดนี้คือการรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานใน YouTube มากกว่า 20,000 ราย นะคะ

สำหรับปุ่มต่าง ๆ ที่เรากดเวลาเจอวิดีโอที่ไม่ชอบ ทาง Mozilla ก็ได้คำนวณออกมาให้ดูว่ามันมีเปอร์เซนต์ในการป้องกันวิดีโอประเภทนั้นโผล่ขึ้นมาอีกมากน้อยแค่ไหน

  • ปุ่ม Dislike และ Not interested : ป้องกันการแสดงเนื้อหาได้ 11 – 12%
  • ปุ่ม Don’t recommend channel : ป้องกันการแสดงเนื้อหาได้ 43%
  • ปุ่ม Remove from history : ป้องกันการแสดงเนื้อหาได้ 29%

นักวิจัยของ Mozilla บอกว่าทาง YouTube ควรเคารพความคิดเห็นของผู้ใช้งานและใส่ใจในฟีดแบกให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกดปุ่มอะไรก็ตามบนแพลตฟอร์ม เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ใช้งานเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ  แต่ในเรื่องนี้ทางโฆษกของ YouTube ออกมาแสดงความคิดเห็นค่ะ ว่าการที่เราไม่ได้คัดกรองเนื้อหาทั้งหมดออกไปเนื่องจากสิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อผู้ใช้ ว่าอาจจะได้รับชมเนื้อหาประเภทเดียว ทำให้ผู้รับชมได้แต่แนวความคิดเดิม ๆ จนหลงเชื่อว่าสิ่งที่เราคิด เป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มองได้สองมุมค่ะ

แต่ทางเรารู้สึกเห็นด้วยกับนักวิจัยของ Mozilla นะคะ ว่าการที่ YouTube ควรหันมาใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ แบบนี้จะทำให้ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจกับแพลตฟอร์มมากขึ้นจนอยากจะรับชมวิดีโอต่อเป็นเวลานาน แต่ในทางกลับกันเราก็คิดว่าการที่ YouTube แสดงออกข้อมูลแบบนั้นถือว่าไม่ได้ผิดซะทีเดียว เพราะเป็นการให้เราได้รับข้อมูลในแง่อื่น ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนนั่นเอง แล้วทุกคนมีความคิดเห็นกันยังไงบ้างคะ ??

 

ที่มา theverge