ก่อนหน้านี้ทั้ง Netflix, Facebook และ Disney+ ได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาเตรียมลดความละเอียดวิดีโอให้เลือกแค่ระดับ Standard Definition หรือ 480p เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตของประเทศในโซนยุโรป ช่วงการกักตัวอยู่บ้าน เนื่องจากโรคระบาด COVID-19 และล่าสุดผู้ให้บริการวิดีโอออนไลน์ระดับโลกอย่าง YouTube ก็ขอเคลื่อนไหวบ้าง ด้วยการประกาศลดความละเอียดวิดีโอเป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ มีผลตั้งแต่วันนี้ทั่วโลก

เบื้องต้น YouTube จะค่อยๆ ทะยอย ปรับการตั้งค่าให้ค่าเริ่มต้น (Default) ของผู้ใช้งานทุกคน เวลาดูวิดีโอหรือคอนเทนต์ต่างๆ บน YouTube เหลือแค่ความละเอียด 480p อย่างไรก็ตาม หาก users ท่านไหนต้องการจะดูคลิปวิดีโอที่ความละเอียดสูงๆ ก็ยังสามารถทำได้นะ เพียงแต่ว่าจะต้องปรับเอง จากเดิมที่ YouTube จะคอยปรับให้อัตโนมัติตามความเร็วอินเตอร์เน็ต ณ ขณะนั้น โดยมาตรการนี้ จะแตกต่างจากของ Netflix, Facebook และ Disney+ ที่ก่อนหน้านี้ ได้ออกมาลดความละเอียดวิดีโอบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ตรงที่ว่า YouTube จะใช้มาตรการนี้กับทั่วโลกเลย ไม่ใช่แค่เฉพาะทวีปยุโรปอย่างเดียว

โดยการสตรีมวิดีโอ หรือดูคอนเทนต์จาก YouTube, Netflix, Facebook และแพลตฟอร์มดูคลิปดูหนังอื่นๆ นั้น จะใช้ Internet Bandwidth ที่มากกว่าการฟังเพลงบนบริการออนไลน์, การแชทส่งข้อความหากัน, การเล่นเกมออนไลน์ หรือการใช้งานแอปนำทางอย่าง Google Maps อยู่หลายเท่าตัว เนื่องจากขนาดของไฟล์วิดีโอที่ยิ่งมีละเอียดมาก ขนาดก็จะใหญ่ตามไปด้วย ซึ่งบริษัทพัฒนาระบบวิเคราะห์ทราฟิกเครือข่ายชื่อดัง Sandvine ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2019 ที่ผ่านมา Google (บริษัทแม่ของ YouTube) ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก

ยอดการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกเกือบๆ 60% มาจากการรับชมคอนเทนต์ในรูปแบบของวิดีโอด้วยกันทั้งสิ้น

ซึ่งหลังจากที่เชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรค COVID-19 ระบาดหนักๆ ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตของ YouTube ก็เพิ่มมากขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว เพราะคนเริ่มปรับตัว ทำงานอยู่บ้าน หรือเรียนออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น แถมวันหยุดก็ยังออกไปเที่ยวไหนไม่ได้อีก…ทำให้ยอดการใช้งาน YouTube เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้พวกเขาต้องออกมาตรการนี้ในที่สุด เพื่อไม่ให้มีการใช้งาน Internet Bandwidth มากเกินไปจนรบกวนการใช้งานประเภทอื่นๆ ที่สำคัญกว่านั่นเอง

รู้ไหมว่า.. ดูหนัง ฟังเพลง จาก YouTube, Netflix, Spotify หรือแอปอื่นๆ หนึ่งชั่วโมงจะใช้เน็ตมือถือไปเท่าไหร่

ที่มา: Bloomberg