จอภาพความลึกสี 10-bit กลายเป็นเทรนด์ของสมาร์ทโฟนระดับเรือธงในปี 2563 และเริ่มได้รับความนิยมสูงอย่างเด่นชัดขึ้นพร้อมทั้งขยับขยายมาสู่มือถือกลุ่มมิดเรนจ์ในปี 2564 นี้ มีข้อดี คือ แสดงผลสีได้มากถึง 1.07 พันล้านสี ใกล้เคียงกับที่ดวงตามนุษย์รับรู้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง หากเปรียบเทียบกันแล้วสูงกว่าหน้าจอ 8-bit ที่ใช้งานกันมานานถึง 64 เท่า

จอกี่บิต แสดงผลได้กี่สี มีวิธีดูยังไง ?

ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมักใช้การโปรโมตจอภาพ 10-bit ว่า สามารถแสดงผลได้ 1.07 พันล้านสีเพื่อให้เข้าใจง่าย ตัวเลขนี้มีที่มาจากเลขฐานสองที่ใช้กันในระบบดิจิทัล ในแต่ละแม่สีของแสงที่ประกอบด้วย แดง เขียว และน้ำเงินนั้นแสดงผลได้อย่างละ 1,024 เฉด ตามผลลัพธ์ของ 210 ซึ่งเมื่อนำทั้ง 3 สีมาผสมกันจะก่อให้เกิดเป็นสีสันอื่น ๆ แตกแขนงแยกย่อยออกไปอีก เป็นไปได้ทั้งสิ้น 1,073,741,824 สี จาก 1,0243

สำหรับจอภาพ 8-bit ที่แสดงผลได้ 16.7 ล้านสี ซึ่งเป็นแบบที่พบเห็นได้มากที่สุดในปัจจุบัน มาจาก 28 เท่ากับ 256 และ 2563 ได้ 16,777,216 ความลึกสีอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ล้วนอยู่บนหลักการข้างต้นเช่นเดียวกัน

ข้อดีของจอ 10 บิต คืออะไร ?

อย่างที่กล่าวไปว่า จำนวนบิตของความลึกสี บ่งบอกถึงจำนวนเฉดในแต่ละแม่สีที่สามารถแสดงผลได้ หมายความว่า ยิ่งตัวเลขนี้สูงเท่าไหร่ก็ยิ่งผสมสีออกมาได้เยอะ ไล่ระดับได้ไม่แข็งกระด้าง มีความนุ่มนวลเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับความสดใสของสีแต่อย่างใด เพราะในส่วนนี้ต้องพิจารณาจากขอบเขตสี (color gamut) ว่า ครอบคลุมเป็นพื้นที่ร้อยละเท่าใดของปริภูมิสี (color space) และกำลังแสดงผลอยู่บนโปรไฟล์ใด


sRGB คือ ขอบเขตสีพื้นฐานที่พบเห็นโดยทั่วไปจากสเปกตรีมสีทั้งหมดที่เป็นไปได้

ยกตัวอย่างเช่น จอภาพ A แบบ 10-bit กับจอภาพ B แบบ 8-bit มีขอบเขตสีครอบคลุม 100% ของสเปกตรัม sRGB เท่ากัน หากแสดงผลด้วยโปรไฟล์สีนี้เหมือน ๆ กันบนตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่แตกต่างกัน ความสดจะเท่ากัน แต่จอภาพ A จะไล่โทนได้เนียนกว่า ดังภาพประกอบด้านล่าง

หน้าจอ 8-bit หน้าจอ 10-bit

ภาพตัวอย่างเปรียบเทียบ จอ 8-bit และจอ 10-bit

มีทั้งจอ 10 บิตแท้ และจอ 10 บิตปลอม

จอภาพ 10-bit ยังแบ่งออกไปได้อีกเป็น true 10-bit กับ 8-bit + FRC (frame rate control) ซึ่งอาจมาในชื่อ 8-bit + 2-bit หรืออื่น ๆ ที่ใกล้เคียง ผมขอเรียกง่าย ๆ ว่า 10-bit ปลอม

ฝ่ายหลังอาศัยการกะพริบของซับพิกเซลหลาย ๆ จุดในสีที่แตกต่างกันด้วยความถี่ที่สูงมาก ๆ จนสามารถหลอกการรับรู้ดวงตามนุษย์ให้มองเห็นคล้ายเป็นสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคู่สีนั้นได้ เปรียบเสมือนมีเฉดสีจำลองเพิ่มขึ้นมา ในขณะที่ฝ่ายแรกสามารถแสดงผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยจำนวน 1.07 พันล้านสีอย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่า คุณภาพย่อมสูงกว่าโดยปริยาย

จอ 10 บิต จำเป็นมากหรือน้อยแค่ไหน ?

แม้ว่า คอนเทนต์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่ปรากฏโดยทั่วไปในตอนนี้ยังคงจัดเก็บและแสดงผลในรูปแบบ 24-bit ที่มีจำนวน 16.7 ล้านสี (แชนแนลแดง เขียว และน้ำเงิน ช่องละ 8-bit เท่ากับ 2563) แต่หากจอภาพมีความลึกสีที่สูงกว่านั้นอาจพอทำให้สังเกตเห็นถึงความแตกต่างได้อยู่บ้าง เช่น ภาพการ์ตูน หรือภาพกราฟิกศิลปะนามธรรมต่าง ๆ ที่มีการไล่ระดับของเฉดสี และจะยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นไปหากแสดงผลบนโปรไฟล์ขอบเขตสีกว้าง อย่าง DCI-P3 หรือ HDR อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ พอขอบเขตสีกว้างขึ้น ช่องว่างระหว่างเฉดสีจึงห่างขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความลึกสีเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบที่บ่งบอกว่า หน้าจอจะให้ภาพที่ดี ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายรวมอยู่ด้วย เช่น ชนิดพาเนล ระดับความสว่างสูงสุด อัตราการสะท้อนของวัสดุปิดทับหน้าจอ คอนทราสต์เรโช ขอบเขตสี เป็นต้น ซึ่งบางอย่างในนี้อาจเป็นตัวแปรที่ควรพิจารณาและเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่า

ดังนั้น หากถามว่า “จอ 10-bit จำเป็นมากหรือน้อยแค่ไหน” โดยส่วนตัวมองว่า “มีไว้ก็ดีนะ แต่ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น” ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นคำตอบคงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละคน ไม่มีผิดหรือถูกแต่อย่างใดครับ