จากที่ก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าจะทำการเลื่อนประมูล 4G คลื่น 900MHz จากเดือนธันวาคมมาเป็น 12 พฤศจิกายน ตามหลังคลื่น 1800MHz เพียงแค่วันเดียวนั้น วันนี้มีอัพเดทล่าสุดออกมาว่าทาง กสทช. ได้ประกาศเลื่อนการประมูลกลับไปเป็น 15 ธ.ค.ตามเดิมเรียบร้อย โดยให้สาเหตุว่าเพื่อความโปร่งใสของการประมูลที่หากวันใกล้กันเกินไปจะทำให้เกิดการฮั้วประมูลกันได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ จะยังมีการประมูลคลื่น 1800MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตตามเดิม

เลื่อนประมูลจะช่วยกันการฮั้วประมูลได้จริงรึเปล่า?

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการประมูล 4G ในตอนนี้มีทั้งหมด 4 ใบอนุญาต ใน 2 คลื่นความถี่โดยแบ่งเป็น

  1. คลื่น 1800MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15MHz อายุใบละ 18 ปี (2558-2575)
  2. คลื่น 900MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10MHz อายุใบละ 15 ปี (2558-2572)

โดยทั้งสองใบอนุญาตมีผู้ยื่นซองเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 4 เจ้า ได้แก่ AIS, DTAC, Truemove, และ JAS (หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในนาม 3BB) ทำให้หลายๆคนตั้งแง่ขึ้นมาว่ามีคนประมูลเท่ากับจำนวนใบอนุญาตแบบนี้แล้ว มันจะเรียกว่าการประมูลได้อย่างไร และต่อให้แต่ละเจ้าต้องการใบอนุญาตมากกว่า 1 ใบ ก็อาจจะเกิดการฮั้วกันได้อยู่ดีเพราะอาจจะมีการตกลงกันระหว่างค่ายใดๆเพื่อกีดกัดเจ้าอื่นได้เช่นกัน

จากการวิเคราะห์ของหลายๆที่ เราจะสามารถเรียงลำดับความต้องการได้คร่าวๆดังนี้

  1. AIS – ต้องการมากกว่าใครเนื่องจากแบนด์วิธของคลื่นความถี่ 2100MHz ที่ประมูลได้มาก่อนหน้า 15MHz กำลังจะเต็มแล้ว ต้องใช้วิธีวางเสาถี่ๆเพื่อรองรับผู้ใช้ที่มากกว่า Dtac และ Truemove ถึง 2 เท่านั่นเอง คาดว่า AIS น่าจะต้องการใบอนุญาตมากกว่า 1 ใบค่อนข้างแน่นอน
  2. Dtac – ด้วยอายุสัมปทานของคลื่น 1800MHz ที่กำลังจะหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะทำให้ Dtac เหลือคลื่นความถี่สำหรับทำ 4G ในมือไม่มากนัก การประมูลครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการทำแผนสำหรับรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อาจจะไม่ได้ต้องการทั้ง 2 ใบอนุญาตเท่า AIS เพราะจำนวนของผู้ใช้บริการไม่ได้มากเท่านั่นเอง
  3. Truemove – ถูกมองว่าเป็นเจ้าที่ต้องการใบอนุญาตน้อยที่สุดใน 3 เจ้า เพราะมีคลื่น 850MHz และ 2100MHz ที่มีแบนด์วิธเยอะมากในมืออยู่แล้ว หากประมูลได้ใบใดใบหนึ่งไปก็อาจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับตัวเองมากกว่า แต่ในอีกมุมมองนึง ก็มองว่าทางทรูก็ยังต้องการอีกใบอนุญาตเพื่อคงภาพลักษณ์ความเป็นเบอร์หนึ่งด้าน 4G เอาไว้อยู่
  4. JAS – น้องใหม่ม้ามืดที่หลายๆคนงงว่ามาได้ยังไง แต่ก็ตามข่าวคือทางบริษัทต้องการขยายธุรกิจจากแค่บรอดแบนด์ขึ้นมาร่วมวงกับเครือข่ายโทรศัพท์ จากเงินที่ระดมทุนขึ้นมารอบใหม่ได้มาหลักหมื่นล้านบาทอยู่ น่าจะเพียงพอที่ขึ้นมาโลดแล่นในวงการได้ แต่ก็น่าจะเหนื่อยหน่อยเพราะเจ้าตลาดทั้งสามก็นำหน้าไปไกลมากแล้วนั่นเอง

จากบทวิเคราะห์ข้างต้นนี้ ทำให้เรื่องความโปร่งใสและการฮั้วอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายขนาดนั้น เพราะนั่นหมายความว่าทางเครือข่ายที่ฮั้วกัน ต้องไว้ใจกันพอสมควรและต้องมั่นใจว่าคู่แข่งจะไม่สร้างปาฎิหารย์ทำลายดีลที่ตกลงกันเอาไว้ได้ด้วย

ส่วนบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร วันพุธหน้า (11 พ.ย.) หลังจากผลการประมูลคลื่น 1800MHz ออก คงจะได้เห็นภาพกันชัดเจนขึ้นครับ

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ