5G นั้นถือเป็นอนาคตของวงการสมาร์ทโฟนทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็มีหลายค่ายเริ่มไหวตัวผลิตโทรศัพท์ที่สามารถรองรับโครงข่ายดังกล่าวนี้ออกมาบ้างแล้วอย่าง Samsung Galaxy S10 5G และ Huawei Mate 20 X 5G เป็นต้น ล่าสุดเองก็มีผลการทดสอบจาก IHS Markit ออกมา ชี้ให้เห็นว่า Balong 5000 ชิป 5G ของทาง Huawei ยังคงมีอีกหลายจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่พอสมควร

ในผลการทดสอบดังกล่าว IHS Markit ได้งัดแงะสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ออกมาเป็นชิ้นๆ อย่าง Samsung, LG, Xiaomi, OPPO, OnePlus และ Huawei โดยจะมีเพียง Samsung และ Huawei เท่านั้นที่ใช้ชิปเซ็ต 5G เป็นของตัวเอง ที่เหลือต่างพึ่งพาบริการของโมเดม X50 5G ของ Qualcomm กันทั้งสิ้น

โมเดม Balong 5000 ของ Huawei ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดและฟีเจอร์ เพราะ Balong 5000 นั้นเป็นโมเดม 5G ตัวแรกและตัวเดียวในตลาดที่ตอนนี้รองรับ Multimode สามารถสลับเปลี่ยนโครงข่ายจาก 5G ไปใช้งาน 2G/3G/4G ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาโมเดม 4G แยก แต่พอเอามาใช้กับ Mate 20 X 5G มันก็จะซ้ำซ้อนกับ Kirin 980 ที่มีโมเดม 4G ใส่มาให้อยู่แล้ว

นอกจากนั้นขนาดแผ่นซิลิกอนของ Balong 5000 มีขนาดใหญ่และหนากว่าใครเพื่อนเลย แม้ว่าจะผลิตบนการผลิตระดับ 7 นาโนเมตร ส่วนนึงก็เพราะว่าการที่โมเดมดังกล่าวนั้นใส่ SDRAM LPDDR4 ขนาด 3GB ไว้ภายใน แต่ X50 ของ Qualcomm นั้นผลิตที่ 10 นาโนเมตรกลับมีขนาดเล็กกว่า และใช้ SDRAM แค่ไม่กี่ร้อย MB เท่านั้น

ถึงแม้ว่าการทดสอบครั้งนี้จะเน้นไปที่เรื่องที่ต้องควรปรับปรุงและแก้ไขของ Balong 5000 ซะส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวรับสัญญาณ 5G จะด้อยไปกว่าของคู่แข่งแต่อย่างใด ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ Huawei อาจจะรีบปล่อยสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ให้ได้ก่อนเสียมากกว่า ทำให้อาจจะละเลยในส่วนของดีไซน์ไปบ้าง อีกหนึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากการที่โมเดมนั้นถูกสร้างและพัฒนาโดย HiSilicon ซึ่งถือเป็นบริษัทลูกของ Huawei เอง ทำให้ไม่มีแรงกดดันจาก OEMs ต่างๆ ในเรื่องของการผลิตโมเดมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ถึงอย่างนั้นเอง ก็ต้องเข้าใจว่า Balong 5000 ถือเป็นโมเดม 5G รุ่นแรกๆ เลย ทำให้การเกิดข้อผิดพลาดต่างๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในอนาคต เราอาจจะได้เห็น “สมาร์ทโฟน 5G ที่เร็วกว่า ดีกว่า และถูกกว่า อยู่ใกล้แค่เอื้อม” ตามที่ IHS Markit ได้สรุปทิ้งท้ายของการทดสอบ

 

ที่มา: gizmochina