ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในตอนนี้ ทำให้มีการผลิตอุปกรณ์หรือฟีเจอร์สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Project Gameface , 4 ฟีเจอร์ใหม่ที่เตรียมเปิดตัว iOS 17, Google Lookout ฯลฯ และก็มีอีกหลายแอปและฟีเจอร์ที่ทาง Google ได้พัฒนาออกมาเพื่อการเข้าถึงของผู้พิการที่หลากหลาย ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นดังนี้ค่ะ

Action Blocks

แอปที่จะช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้ใช้มือถือและแท็บเล็ตได้ง่ายขึ้น ซึ่งทางแอปได้ปรับแต่งจอหลักของอุปกรณ์ Android ให้เป็นเพียงปุ่มคำสั่งเดียว หากต้องการใช้งานกิจกรรมอะไรซักอย่างก็กดปุ่มคำสั่งนั้นได้เลย เช่น ต้องการจะโทรหาเพื่อน ก็กดไปที่ปุ่มบนหน้าจอครั้งเดียวก็โทรออกได้เลย ไม่ต้องค้นหาเข้าแอปโทรออกให้วุ่นวาย สามารถเข้าไปดูวิธีการใช้งานแบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่เลย

ตัวแอปจะสร้างเป็น Widget ตัวใหญ่ๆ สังเกตง่ายๆ และปรับแต่งรูปลักษณ์ได้ว่าคำสั่งนี้จะใช้รูปไหน จะได้ช่วยในด้านการจดจำได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งผู้ดูแลสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ว่าจะใช้งานกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น ตั้งค่าการนำทางกลับบ้าน, ปุ่มโทรออกฉุกเฉิน, เข้าดูรายการโปรด,วิดีโอคอลกับคนสำคัญ, ดูพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

แอปนี้ไม่ได้เหมาะแค่การใช้งานในผู้พิการเพียงเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับการใช้งานของผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดใช้งานมือถือด้วย อย่างกรณีมีผู้สูงอายุหลงทาง และใช้ Google Maps ไม่เป็น แต่ถ้าติดตั้ง Action Blocks และตั้งค่าไว้ว่าให้โทรหาลูกหรือคนดูแล ก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้

Action Blocks
Action Blocks
Developer: Google LLC
Price: Free

 

Reading mode

แอปสำหรับผู้ประสบปัญหาทางการมองเห็น เช่น ผู้พิการทางสายตา ผู้ที่สายตาเลือนราง ผู้มีภาวะผิดปกติทางด้านการอ่าน หรือผู้ที่มีภาวะตาบอดสี แต่ก็ยังสามารถติดตามคอนเทนต์ที่ชื่นชอบได้

ในการรับฟังคอนเทนต์ต่าง ๆ ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งกำหนดความเร็วในการอ่านออกเสียงของข้อความได้ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสายตาหรือมีความผิดปกติทางด้านการอ่านก็สามารถเข้าไปปรับแต่งตัวอักษร, สีตัวอักษร, ระยะห่างตัวอักษรได้

โหมดการอ่าน
โหมดการอ่าน

Live Transcribe

แอปสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกสำหรับการสนทนาในชีวิตประจำวันของผู้ที่มีปัญหาในการได้ยินได้ ตัวแอปสามารถแปลงเสียงของผู้สนทนารอบข้างให้กลายเป็นข้อความได้ รองรับมากกว่า 80 ภาษา และสลับระหว่าง 2 ภาษาได้อย่างรวดเร็ว

 

และฟีเจอร์ที่น่าสนใจเลยก็คือ การแจ้งเตือนแบบสั่นเมื่อมีการเรียกชื่อผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ และในการตอบกลับบทสนทนาระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ที่กำลังคุยอยู่ ก็แค่พิมพ์ข้อความลงไปในแอป ซึ่งข้อความสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 วัน รวมทั้งมีตัวเลือกในการเพิ่มคำศัพท์ สถานที่ และสิ่งต่างๆ ลงใน Live Transcribe ของผู้ใช้ได้ รวมไปถึงคำที่ไม่มีในพจนานุกรมด้วย

นอกจากนี้แอปยังถอดเสียงที่ผู้ใช้บันทึกไว้ เพื่อใช้แจ้งเตือนเสียงบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและสถานการณ์ส่วนบุคคลโดยพิจารณาจากเสียงที่ดังขึ้นที่บ้าน เช่น เสียงสัญญาณเตือนควัน เสียงไซเรน เสียงเด็กทารก เป็นต้น อีกทั้งตัวแอปยังบันทึกไทม์ไลน์ของเสียงว่าช่วงเวลาไหนเกิดเสียงอะไรขึ้นบ้างได้ด้วย

 

Sound Amplifier

อีกหนึ่งแอปที่ทำออกมาสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่ง Sound Amplifier เป็นแอปขยายเสียงที่ผู้ใช้งานต้องการฟังได้ชัดเจนขึ้น โดยจะตัดเสียงรอบรบกวนรอบข้างออกไป อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งเสียงให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ ทั้งความดัง – เบา หรือความถี่ ในการใช้งานแอปจะต้องใช้ร่วมกับหูฟังซึ่งจะสามารถตั้งค่าเสียงซ้ายขวาแยกกันอย่างอิสระ

Sound Amplifier สามารถใช้งานได้ในอุปกรณ์ Android 8.1 ขึ้นไป และที่น่าสนใจคือแอปยังใช้เป็นเครื่องมือขยายเสียงให้แอปอื่น ๆ อย่าง YouTube และ Spotify ได้ด้วย แต่จะสามารถใช้งานได้แค่อุปกรณ์ Pixel เท่านั้นค่ะ

 

Google Maps

ใน Google Maps เนี่ยนอกจากจะบอกเส้นทางและรายละเอียดของสถานที่ที่จะไปแล้วนั้น ยังสามารถบอกว่าสถานที่นั้นๆ รองรับรถเข็นหรือไม่ (Accessible Places)  ซึ่งตัวแอปจะแสดงให้เห็นว่าในสถานที่นั้น ๆ มีอะไรรองรับบ้าง เช่น ทางเข้า ห้องน้ำ ที่นั่ง ที่จอดรถ และลิฟต์ได้หรือไม่ ซึ่งฟีเจอร์นี้ใน Google Maps จะสามารถใช้งานได้ทั้ง Android และ iOS เลยค่ะ

วิธีค้นหาสถานที่ที่ที่รองรับเก้าอี้รถเข็น

  • เปิดแอป
  • แตะรูปโปรไฟล์

  • เข้าไปที่ตั้งค่า และกดการตั้งค่าการช่วยเหลือพิเศษ (Accessible Places)

  • เปิดสถานที่ที่มีการช่วยเหลือพิเศษ

หลังจากนั้นเวลาเราค้นหาสถานที่ทั่วไป หากสถานที่นั้นรองรับก็จะมีไอคอนรูปรถเข็นขึ้นมาให้เลย ส่วนข้อมูลที่แสดงว่าสถานที่นั้น ๆ มีอะไรรองรับบ้างจะปรากฏอยู่ด้านล่างแอปค่ะ นอกจากนี้ หากสถานที่ที่รองรับเก้าอี้รถเข็นไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปแก้ไขในแอปได้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างผลลัพธ์จากการค้นหาสถานที่ 

YouTube

ในการเพิ่มคำบรรยาย Youtube นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน คอนเทนต์ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้มี YouTuber ผู้พิการหลายคนที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์ออกมาให้เราได้ชมกันมากมาย อย่างเช่น

คุณกอล์ฟ ภราดร รุ่งเรื่อง อายุ 19 ปี เป็นสตรีมเมอร์เกมผู้สูญเสียทั้งแขนและขาจากอุบัติเหตุ ซึ่งเค้ามีใจรักในการเล่นเกมเป็นอย่างมาก จึงสร้างช่อง YouTube โชว์สกิลการเล่นเกมด้วยปากแบบเทพ ๆ ซึ่งปัจจุบันช่องของคุณกอล์ฟมีผู้ติดตามมากกว่า 3 หมื่นคนแล้วค่ะ

คุณฟ้า คุณแม่ลูกหนึ่งผู้ซึ่งพิการตั้งแต่กำเนิด แต่ก็ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ยังสามารถเลี้ยงดูลูกสาวและครอบครัวของเธอได้ ซึ่งปัจจุบันเธอก็ได้มีช่อง Youtube เป็นของตัวเองชื่อว่า Hello Harley ซึ่งก็ได้สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจมากมายออกมาให้ผู้ชมได้รับชมกันตลอด โดยมีผู้ติดตามมากกว่า 1.3 แสนคนแล้วค่ะ

ปัจจุบันโลกของเรามีผู้พิการมากถึง 1.3 พันล้านคน นับเป็น 16% ของจำนวนประชากรทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าพวกเค้าก็ต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้ชีวิตที่เท่าเทียมกับคนทั่วไปเหมือนกัน ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยที่ตอนนี้มีหลาย ๆ ค่าย ไม่ใช่แค่ Google ได้ออกมาพัฒนาแอป, ฟีเจอร์ หรืออุปกรณ์ที่เข้าถึงผู้พิการมากขึ้นค่ะ

 

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์