เพจ Drama-addict เผยมิจฉาชีพนำภาพจากผู้ใช้ Facebook ท่านหนึ่งไปใช้หลอกลงทุนขายของออนไลน์ ซึ่งทำให้เหยื่อหลายคนหลงเชื่อและร่วมลงทุนในบริษัทที่ชื่อว่า TESCO ที่น่ากลัวคือ คนที่ถูกนำรูปไปแอบอ้างไม่รู้ตัวเลยจนทำให้เพจ Drama-addict ต้องประกาศหาและพึ่งพลังโซเชียลช่วยเป็นกระบอกเสียงอีกที จากนั้นได้มีอัปเดตล่าสุดว่าในขณะที่เจ้าของภาพตัวจริงคุยกับผู้เสียหาย มิจฉาชีพก็ได้วิดีโอคอลเข้ามาพร้อมใช้หน้าของเจ้าของและใช้ AI Deepfake ทำให้ภาพขยับปากได้

ก่อนหน้านี้เพจ Drama-addict ได้โพสต์เป็นกระบอกเสียงเพื่อเตือนภัยแก่สังคมโดยเล่าว่า มีลูกสาวของผู้เสียหายท่านหนึ่งซึ่งแม่ของเค้าโดนหลอกลงทุนขายของออนไลน์ อ้างว่าเป็นธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซ เปิดร้านค้าในอินเตอร์เน็ตโดยใช้ชื่อบริษัท Tesco มาแอบอ้างให้ดูน่าเชื่อถือ

ที่น่ากลัวกว่าคือ คุณแม่ท่านนี้หลงเชื่อแบบจริงจัง เพราะคุณแม่ยังไม่เคยเจอข่าวว่ามีคนโดนหลอกจากบริษัทนี้ จึงคิดว่าไม่โดนหลอกหรอก จากนั้นลูก ๆ ก็ได้พาไปสอบถามที่บริษัท Tesco โดยตรง แต่คุณแม่ไม่เชื่อ กลับเชื่อคำของมิจฉาชีพมากกว่า ถึงขั้นทำเรื่องกู้ยืมเงินที่ทำงาน จะเอาไปลงทุนเพิ่ม อีกทั้งมิจฉาชีพยังได้ขู่ให้รีบเอาเงินไปลงทุนเพิ่ม ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา

ล่าสุดเจ้าของภาพที่ถูกนำไปแอบอ้างได้ทราบเรื่องราวดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งกำลังประสานกับผู้เสียหายให้เข้าไปคุยกับคุณแม่ท่านนี้ และเหตุการณ์ที่พีคกว่านั้นคือ ขณะที่เจ้าของภาพตัวจริงกำลังวิดีโอคอลคุยกับผู้เสียหายอยู่ มิจฉาชีพก็ได้ติดต่อเข้ามา ทำให้ทั้งคู่ได้เผชิญหน้ากันอย่างจัง จากภาพด้านล่างนี้ วงสีน้ำคือเจ้าของภาพตัวจริงที่กำลังคุยกับทางผู้เสียหาย และในวงสีแดงคือมิจฉาชีพที่ใช้ภาพของเขามาแอบอ้างแล้ววิดีโอคอลมาคุยกับผู้เสียหาย

ลักษณะที่มิจฉาชีพทำเลยคือนำภาพนิ่งของคนอื่นมาแล้วใส่ AI ทำให้ปากขยับได้ตามเสียง จากนั้นส่งมาหลอกเหยื่อ ทั้งนี้ทางเจ้าของภาพจะนำหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดีกับแก๊งมิจฉาชีพนี้ให้หมด โดยในเคสนี้มีผู้เสียหายถูกหลอกด้วยภาพดังกล่าวราว 20 กว่าเคสแล้ว

เห็นแบบนี้แล้วทำเอาคิดเลยว่าเทคโนโลยีมีที่ก้าวหน้าสมัยนี้ถ้าใช้โดยไม่ระวังตัวดี ๆ ก็น่ากลัวแบบนี้เลยแหละ วอนทุกคนช่วยกันดูและช่วยกันเตือนผู้สูงอายุที่ในเรื่องการใช้มือถือสักนิด เพราะสมัยนี้โจรมีลูกเล่นที่น่ากลัวมากจริง ๆ ดังนั้นเรามาดูวิธีสังเกต Deepfakes

วิธีสังเกต ตรวจจับ มิจฉาชีพใช้ Deepfakes

  • สังเกตหน้าและร่างกาย – ปกติเวลาที่คนเราพูดคุยในหน้าและท่าทางจะมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ Deepfake ภาพจะดูแข็งแปลก ๆ
  • สังเกตรายละเอียดบนใบหน้า – ในการพูดคุยถ้าเราขยับปาก ใบหน้าก็จะต้องขยับให้เห็นรอยตีนกา ริ้วรอยใต้ หรือเงาใต้ตาอยู่แล้ว ถ้าไม่มีหรือมีแต่แทบไม่ขยับเลยถือว่าปลอม
  • ความยาวของวิดีโอ – ปกติ Deepfake วิดีโอจะมาแบบสั้น ๆ เพราะว่าการปลอมแปลงมักต้องมช้เวลาในการฝึกอัลกอลิทึม
  • เสียงของวิดีโอ – ลองสังเกตดี ๆ ว่าเสียงพูดที่ออกมาจากวิดีโอตรงกับภาพที่เราเห็นหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีบางทีก็มีข้อจำกัดในเรื่องนี้เหมือนกัน
  • ดูที่ข้างในปากของคนพูด – ถึงแม้ Deepfake จะทำให้หน้าขยับตามเสียงพูดได้ แต่สิ่งที่ปลอมได้ยากคืออวัยวะที่อยู่ในช่องปากเรานี่แหละ ซึ่งถ้ามีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ปากจะถูกเบลอ เป็นช่องหายไปเลย หรือบางทีมีฟันที่ดูแปลก ๆ

ที่มา : Drama-addict , Telefonica