หลังจากจบการประมูลคลื่นล่าสุดที่ทาง AIS ได้คลื่น 1800MHz มาเต็ม 40MHz (20×2) จนสามารถทําเปน Superblock ได้เต็มความเร็วสูงสุดของมาตรฐาน 4G ไปแล้ว เอไอเอสก็ไม่หยุด ยังไปต่อเพราะตอนนี้การใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจับมือกับ TOT ที่ใช้โครงข่ายร่วมบนความถี่ 2100 MHz จัดแบ่งความถี่ใหม่ มาให้บริการ 4G เพิ่มเติมและยังมีการเตรียมพร้อมโครงสร้างของ 5G เอาไว้ด้วย

ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ตัวเลขผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือนั้นมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนือง ทั้งจำนวนคน และปริมาณดาต้าที่ใช้ (ล่าสุดนั้นเฉลี่ยคนนึงใช้ดาต้าประมาณ 10GB ต่อเดือน) โดยเหตุผลหลักๆ ก็คือการมาของสมาร์ทโฟน รายการ Live และการดู Streaming รวมถึงเนื้อหาสาระต่างๆ มีให้ชมผ่านมือถือในรูปแบบของวิดีโอมากขึ้น เน็ตเร็วขึ้น และค่าแพ็คเกจถูกลง

 

เพิ่มคลื่น เพิ่มความเร็ว เสถียร และรองรับผู้ใช้งานในอนาคต

จากคลื่นที่ทาง AIS ถือครองอยู่ในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 120MHz ซึ่งรวมแล้วยังมากที่สุดในประเทศไทย แม้จะมีการประมูลคลื่น 900MHz ล่าสุดเพิ่มเข้ามา แต่ตัวเลขลำดับก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งตั้งแต่การได้ Superblock มาทำ LTE 1800 ทาง AIS ก็เปิดบริการได้เต็มช่องสัญญาณทันทีครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย หลังจากได้ใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นที่เรียบร้อย และจากเทรนด์การใช่งานดาต้าที่เพิ่มมากขึ้น AIS ก็ได้ไปจับมือกับ TOT ขอเช่าคลื่น 2100 มาใช้งานเพิ่มเติมอีก 20MHz (10×2)

อธิบายง่ายๆ ว่า ในจํานวนคลื่นความถี่ที่เอไอเอสมีอยู่ทั้งหมด จํานวน 120 MHz นั้น ส่วนหนึ่งมาจากคลื่นความถี่ที่เอไอเอส เป็นพันธมิตรกับ TOT ใช้โครงข่ายร่วมบนความถี่ 2100 MHz จํานวน 30 MHz (15 MHz x 2) ซึ่งในจํานวน 30 MHz (15 MHz x 2) นี้ ได้มีการแบ่งมาให้บริการ 4G เพิ่มเติม จํานวน 20 MHz (10 MHz x 2) จึงส่งผลให้จากเดิมที่เอไอเอสมีคลื่นให้บริการ 4G จํานวน 80 MHz ก็เพิ่มมาเป็นจํานวน 100 MHz จากจํานวนความถี่ที่มีอยู่ทั้งหมด 120 MHz โดยการปรับเปลี่ยนคลื่นดังกล่าวจะทยอยเริ่มในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นก่อน

โดยคลื่น 2100 นั้นหลักๆ จะนำมาใช้งานในย่านของ 4G เพื่อเพิ่มช่องสัญญาณและความเร็วให้มากขึ้น โดยพื้นที่ไหนที่เปิดใช้ครบ ก็จะมีช่องสัญญาณ 4G ของ 900+1800+2100 รวมกันถึง 100 MHz ซึ่งจะทำให้ความเร็วโดยรวมเพิ่มขึ้น 20-30% และรองรับผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้นอีกราว 25%

ซึ่งการรวมทั้ง 3 คลื่นนั้นหลายคนอาจมองว่าจะได้ประโยชน์กับมือถือรุ่นใหม่ๆ ที่รองรับ 2CA หรือ 3CA เท่านั้น แต่ด้วยความที่ทาง AIS มีคลื่น 1800 เต็มสล็อต 40MHz (20MHz x 2) มือถือรุ่นที่ไม่รองรับ CA ก็ยังใช้งาน 4G ได้แรงและเร็ว เพราะมีการจัดช่องสัญญาณให้รองรับมือถือ 4G ทุกรุ่น

การร่วมมือกับ TOT เพื่อขยายการให้บริการ 4G เพิ่มนั้น ทำให้ตอนนี้สัญญาณ AIS-T แต่เดิมที่ใช้งานได้แค่ 3G ตอนนี้สามารถจับ 4G LTE ได้แล้ว ดังนั้น เมื่อไปในพื้นที่มีคลื่น AIS 4G บนโครงข่ายร่วม TOT สัญลักษณ์เครือข่ายบนหน้าจอหัวมุมก็อาจจะเห็นเป็น AIS-T 4G หรือ
AIS-T ขึ้นอยู่กับรุ่นมือถือ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าสัญลักษณ์บนหน้าจอเปลี่ยนจากเดิม แล้วจะมีปัญหาเน็ตไม่แรง เนื่องจากคลื่น AIS 4G TOT ถูกกระจายสัญญาณอยู่บนเสาสัญญาณเดียวกันกับ AIS 4G เดิมที่มีอยู่แล้ว แถมยังรองรับการใช้งาน 2CA หรือ 3CA ด้วย

 

เริ่มวางรากฐาน 5G แล้ว

สิ่งที่กำลังจะมาในอนาคตนั้นรู้กันอยู่แล้วว่ามันคือ 5G ซึ่งทาง AIS ก็ได้เตรียมศึกษา ทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ไว้รอพร้อมการเปลี่ยนผ่านระบบแล้ว ซึ่งรูปแบบการใช้งานคลื่น 5G นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ จะมีทั้ง

  • Speed หรือการเน้นความเร็วในขาอัพโหลดและดาวน์โหลดเป็นระดับ Gigabit
  • Low Latency เน้นความสเถียรและการตอบสนองที่รวดเร็ว หรือ ping ต่ำๆ
  • IoT การเชื่อมต่อกันระหว่างอุปกรณ์

 

ข้อดีคือด้วยระบบของ 5G นั้นผู้ใช้งานจะสามารถเลือกระบบที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้ เช่นถ้าปกติชอบดูหนังผ่านโปรแกรม streaming ทั้งหลาย แน่นอนว่าอาจจะเลือกแพ็คเกจที่ให้เน็ตความเร็วสูงเป็นหลัก ที่ภาพและเสียงต่อจากนี้ไปสามารถสตรีมไฟล์ระดับ 4K ได้สบายๆ รวมถึงเทคโนโลนี VR และ AR อีกด้วย

ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องมีการตอบสนองที่รวดเร็ว ping ต่ำๆ นั้นก็อาจจะเลือกแพ็คเกจแบบ Low Latency ซึ่งตอบโจทย์คนที่เล่นเกมออนไลน์ รวมถึงการนำไปใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่น่าจะนึกภาพออกง่ายๆ คือ Self-Driving Car หรือรถยนตร์ไร้คนขับ

ด้วยการที่รถยนตร์ไร้คนขับนั้นต้องมีการพูดคุยรับส่งข้อมูลจากหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรถคันอื่นๆ เช็คสภาพการจราจร เพื่อให้มันสามารถทำการคิดคำนวนและตัดสินใจได้ทันท่วงที นอกจากนั้นยังมีอีกเทคโนโลยีนึงที่น่าจะได้ประโยชน์คือการผ่าตัดทางไกล ซึ่งรากฐานของระบบ 5G เหล่านี้ รวมถึง NB-IoT นั้นทาง AIS ได้เตรียมเอาไว้พร้อมแล้วตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการประกาศใช้ 4.5G และ Next G

ส่วนของการตอบสนอง หรือ Latency เอไอเอสก็ได้เริ่มต้นปรับโครงสร้างเครือข่ายหลักที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค หรือที่เรียกว่า Core Network ให้สื่อสารตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์บริการต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับมาผ่านศูนย์กลางเครือข่ายในส่วนกลาง ส่งผลให้อัตราการตอบสนองเร็วขึ้น ค่า Latency ต่ำ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนการวางโครงสร้างเครือข่ายหลัก ให้พร้อมรับเทคโนโลยี 5G นั่นเอง
และทาง AIS เองก็มีแผนจะทดสอบการใช้คลื่น 5G mmWave ความถี่สูงระดับ 26GHz-40GHz ภายในเดือน พ.ย.นี้ด้วย เพื่อตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์และระบบ รอรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับมือถือ 5G นั้นคาดว่าในช่วงปี 2019 จะเริ่มมีการประกาศรองรับมากขึ้น เรียกว่าตัวมือถือมาก่อนแน่นอน ส่วนเครือข่ายในแต่ละประเทศนั้นอาจจะต้องรอกันสักหน่อย โดย 4 ประเทศในตอนนี้ที่กำลังแข่งกันอยู่ว่าใครจะเปิดให้บริการก่อนก็มี สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี และญี่ปุ่น