ข่าวการควบรวมกิจการ True – Dtac เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยเอไอเอสไม่มีการแสดงท่าทีนัก แต่ล่าสุดหลังผู้ถือหุ้นของสองบริษัทโหวตเห็นชอบการควบรวมแล้ว วันนี้ก็มีข่าวว่าเอไอเอสได้ทำการยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมถึงประธานบอร์ดกสทช.เรียบร้อย และมีการเปิดเผยสาเหตุที่ กสทช.อ้างว่าไม่มีอำนาจ เพราะดีแทคเป็นบริษัทถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ส่วนทรู (ไม่ใช่ทรูมูฟ) ไม่ได้ถือใบอนุญาต เป็นการควบรวมธุรกิจคนละประเภทกัน
เอไอเอสงัดกฎหมายสู้ – กสทช. เตรียมประชุมพรุ่งนี้
จากเอกสารที่เผยแพร่ จะเห็นว่าทางเอไอเอสได้ทำหนังสือยื่นต่อ กสทช. ตั้งแต่เมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมา และเตรียมเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 7 เม.ย. ต่อไป โดยเนื้อหาจะมีการระบุว่า ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง รวมถึงขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย โดยได้มีการยกตัวบทกฎหมายขึ้นมาให้เห็นว่า กสทช. มีอำนาจเต็มที่ในหลายมาตรา เช่น
- มาตรา 274 ที่กสทช. มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลคลื่นความพี่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยไม่เป็นธรรม
- มาตรา 27( 11 ) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
และการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และต่อให้รวมธุรกิจกันได้แล้ว แต่ยังไม่ถือว่าได้รับการอนุญาต หากพิจารณาแล้วอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด ลด หรือ จำกัดการแข่งขัน กสทช. อาจะสั่งห้ามการถือครองกิจการได้ด้วย
อ่านต่อ ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ
เปิดข้ออ้าง กสทช. ไม่มีอำนาจ เพราะเห็นว่าทรู-ดีแทคทำธุรกิจคนละประเภท
ก่อนหน้านี้กสทช.ชี้แจงถึงสาเหตุที่หน่วยงานไม่ได้มีอำนาจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการรวมธุรกิจในปี 2561 ให้มีสิทธิ์ทำได้เพียงรายงาน แต่ไม่สามารถอนุญาต ทำได้เพียงออกเงื่อนไขหรือมาตรการเท่านั้น
อย่างไรก็ดีตามที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล, ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ได้มีการโพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ว่าเหตุที่ กสทช. ชี้แจงเช่นนั้น เพราะมีการตีความว่า ดีแทค (บ.โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น) และทรู (บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ทำธุรกิจกันคนละประเภท โดยบริษัททรูมีผลิตภัณฑ์ทั้งทรูโมบาย, ทรูออนไลน์, และทรูวิชั่นส์ ไม่ได้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยตรง แต่เป็นบริษัทในเครืออย่างทรูมูฟ เอช ดังนั้นจะเป็นการรวมธุรกิจคนละประเภทกัน และมีสิทธิ์เพียงรายงาน ไม่ใช่ขออนุญาต
ซึ่งการตีความเช่นนี้ก็ถูกมองได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ยึดและรักษาประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะกรณีเช่นนี้ยังไงก็น่าจะมองให้เป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน และยังต้องขออนุญาตจากทางกสทช. แต่การปฏิเสธเช่นนี้ จึงดูเหมือนเป็นการเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้กับเอกชนหรือไม่
อ่านโพสต์เต็มของคุณ ศิริกัญญา ตันสกุล
ลงท้ายคงจบที่ศาลตัดสิน ซึ่งผมว่าก็ดีนะ จะได้เคลียร์
ครอบงำธุรกิแบบนี้จะไม่อันตรายไปหน่อยหรือครับ คิดว่าคงเตรียมกับ กสทช มาเเล้ว คงจะกันยาก
เชียร์เอไอเอสครับ อย่างน้อยก็เป็น 1 เสียงใหญ่ให้ประชาชน ประชาชนต้องมีสิทธิ์เลือก ดีแทคถ้าไม่ไหวควรหาผู้ลงทุนเจ้าใหม่ที่ไม่ใช่ทรู
จริงครับ ถึงแม้จะไม่ถูกใจแต่สำหรับเคสนี้ ให้เป็นเครือเสี่ยเจริญก็ยังดีกว่า CP
ถ้าขออ้าง กสทช คือ "โดยบริษัททรูมีผลิตภัณฑ์ทั้งทรูโมบาย, ทรูออนไลน์, และทรูวิชั่นส์ ไม่ได้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยตรง แต่เป็นบริษัทในเครืออย่างทรูมูฟ เอช ดังนั้นจะเป็นการรวมธุรกิจคนละประเภทกัน"
แบบนี้เหมือนจงใจเปิดช่องรึเปล่า ทำไม่ไม่คิดว่า บ. ลูกถือใบอนุญาติของ กสชท ทำให้ กสทช ต้องมีสิทธิในการพิจารณาสิถึงจะถูก
ถ้าไม่อยากให้ กสทช มาเกี่ยว ก็ต้องแยก ทรูมูฟ เอช ออกมาจากเครือก่อน เข้าควบที่เหลือไป ซึ่งนั่นไง ก็จะไม่ได้อีก เพราะกลายเป็น ถือซ้ำซ้อน และทรูมูฟ เอช ถ้าออกจากเครือไปก็ไม่รอดอีก เพราะขาดท่อน้ำเลี้ยง
จริง ๆ แล้ว ผู้บริโภค ได้ประโยชน์อะไรจากการควบรวมกิจการแบบนี้บ้าง เท่าที่ดู แรก ๆ ก็อาจดูเหมือนจะมีผลประโยชน์อยู่บ้าง (แต่นึกไม่ออก) ในระยะยาวหลังจากควบรวมกิจการเรียบร้อย จริงหรือ ที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมจริง ๆ แต่เชื่อว่า ทุกสิ่งอย่างคงถูกจัดเตรียมไว้หมดแล้ว