ในการประมูล 5G ครั้งที่ผ่านมา AIS เป็นค่ายที่กวาดคลื่นเข้าพอร์ตไปมากที่สุด ซึ่งก็ได้คลื่น 2600 MHz ไปเยอะถึง 100 MHz ทำให้เกิดความสนใจกันว่า คลื่นนี้ทาง AIS จะนำเอาไปทำ 5G ทั้งหมดเลยหรือไม่ มันจะคุ้มค่ากับการลงทุนขนาดไหน ตลาด 5G ก็ยังไม่ใหญ่ขนาดที่ต้องใช้ทั้งหมดหรือไม่ และปริศนาทั้งหมดก็ไขกระจ่างเมื่อมีการเปิดเผยว่าคลื่นความถี่ในย่าน 2600 MHz นี้ ทาง AIS จะแบ่งไปทำ 4G ด้วยนั่นเอง
โดยในปัจจุบันทาง AIS มีจำนวนลูกค้าที่เยอะที่สุด กว่า 40 ล้านราย ทำให้หลายพื้นที่ก็ประสบปัญหาติดขัดจากการใช้งานที่หนาแน่น และสัญญาณไม่เพียงพอต่อการใช้บริการ เช่น ในคอนโด หรือตึกสำนักงานที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนหน้าการประมูลสามารถเรียกได้ว่าเอไอเอสเป็นค่ายที่มีจำนวนคลื่นต่อจำนวนลูกค้าน้อยที่สุดแล้วก็ว่าได้ แต่ด้วยคลื่น 2600 MHz ที่ประมูลเติมเข้าพอร์ตมาอย่างเต็มที่นี้ สามารถปรับใช้งานได้ทั้ง 4G และ 5G ระหว่างที่ 5G กำลังพัฒนาอยู่นี้ ก็จะมีการแบ่งคลื่นไปใช้งาน 4G ด้วยเช่นกัน ทำให้ปริมาณคลื่นสำหรับให้บริการของ AIS จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ คาดหลังลงเสาแล้วสัญญาณจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทันที
ไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ ใช้ได้ทันที
ใครที่กังวลว่าคลื่น 2600 MHz ของ AIS ที่จะเอามาใช้พัฒนาเครือข่าย 4G เพิ่มเติมนี้ เครื่องที่ตัวเองใช้จะรองรับหรือไม่ ทาง AIS ได้เปิดเผยว่าผู้ใช้งาน 4G ในเครือข่ายเอไอเอส อุปกรณ์รองรับคลื่นนี้กว่า 16 ล้านราย และมีอุปกรณ์กว่า 680 รุ่น ในประเทศไทยที่รองรับความถี่ 4G ย่านนี้ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต และอื่นๆ
ตรงนี้เข้าใจว่าแบรนด์ที่นำเข้าสินค้ามา ถ้ามีการเผื่อเรื่องคลื่นเอาไว้ ก็น่าจะใช้งานคลื่น 2600MHz ได้ทั้งหมด เพราะคลื่นนี้เป็นคลื่นที่ถูกคาดการณ์กันเอาไว้นานแล้วว่าอาจจะถูกนำมาใช้งาน 4G ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คลื่นนี้มีการติดตั้งและเปิดให้ใช้งานเมื่อไหร่ เครื่องส่วนมากก็ควรที่จะเกาะสัญญาณและใช้งานได้เลยทันที ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่แต่อย่างใด หรือต่อให้เครื่องเราไม่รองรับจริงๆ ก็น่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นในระดับนึงเช่นกัน เพราะเครื่องอื่นที่อยู่ในบริเวณเดียวกันและรองรับคลื่น 2600 MHz นี้ก็อาจจะย้ายไปใช้งานลดปัญหาความหนาแน่นในคลื่นที่เราใช้อยู่ปัจจุบันได้นั่นเอง
ปรับใช้งานคลื่น 4G/5G ได้เรียลไทม์ด้วย DSS – Dynamic Spectrum Sharing
อันนี้จะเป็นข้อมูลเชิงลึกอีกนิดหน่อยสำหรับคนที่สนใจว่าคลื่น 2600 MHz นี้เมื่อนำเอามาทำ 4G แล้ว ต้องมีการล็อคคลื่นสำหรับ 4G เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้หรือไม่ แบบนี้ 5G จะเหลือให้ใช้งานเท่าไหร่ ตรงนี้มีการเปิดเผยว่าทางเครือข่ายไม่จำเป็นต้องกำหนดแบนด์วิธของคลื่นสำหรับ 4G และ 5G แบบตายตัว เพราะมีเทคนิคที่ชื่อว่า Dynamic Spectrum Sharing หรือ DSS, มีคลื่น 2600MHz อยู่ 100MHz ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเป็น 4G @ 40MHz ที่เหลือ 5G @ 60MHz แต่อย่างใด ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองในช่วงแรกที่มีการใช้งาน 5G น้อยอยู่ แต่ด้วย DSS ที่มันจะมีการปรับใช้งานให้เองอัตโนมัติตามความต้องการ ก็จะนำเอาคลื่นมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ดีคาดว่าคลื่น 2600 MHz นี้จะติดตั้งในเขตเมือง หรือพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่เยอะเป็นหลัก จากคุณลักษณะของคลื่นที่มีระยะการกระจายสัญญาณที่ค่อนข้างแคบ จึงไม่ถูกนำไปใช้ทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ทางเอไอเอสเริ่มติดตั้งเสาปล่อยสัญญาณ 2600 MHz ออกมาเมื่อไหร่ จะมาอัพเดทให้ทราบต่อไปครับ
ดีครับ ตามรอดูการอัพเดต 🙂 🙂