หลังจากที่ Apple เคยออกปากสนับสนุนกฎ Right to Repair ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่อเมริกา แต่ล่าสุดดูเหมือนว่า Apple จะออกมาล็อบบี้ต้านกฎดังกล่าวในรัฐออริกอน เพราะกฎใหม่ในรัฐดังกล่าวพยายามที่จะแบนระบบ Parts Pairing หรือการเข้ารหัสชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ให้ตรงกับอุปกรณ์ เพื่อกีดกันไม่ให้ใช้อะไหล่เทียบในการซ่อม
Tarah Wheeler ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้ออกมาโพสต์วิดีโอในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ SB 1596 ในรัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในร่างกฎหมายที่ว่านี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็น Right to Repair ให้สิทธิในการซ่อมเครื่องของผู้ใช้งาน
ซึ่งร่างกฎหมายที่รัฐออริกอนนั้นจากค่อนข้างต่างจากในกฎรัฐแคลิฟอร์เนียที่ Apple ให้การสนับสนุน เพราะได้สั่งห้ามไม่ให้ผู้ผลิต ทำระบบ Parts Pairing หรือระบบการเข้ารหัสซีเรียลอะไหล่ให้ตรงกับตัวเครื่อง ซึ่งหากมีการใช้อะไหล่เทียบหรือใช้อะไหล่ที่ไม่ตรงเลขซีเรียลในการซ่อม ตัวเครื่องจะปิดฟีเจอร์บางอย่าง และแสดงกล่องแจ้งเตือนแบบปิดไม่ได้ เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ใช้งาน หรือร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือทำการซ่อมตัวเครื่องด้วยตนเอง
โดยวิดีโอในห้องพิจารณาได้เผยให้เห็นว่า John Perry ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายดีไซน์จาก Apple ได้แสดงท่าทีคัดค้านกฎดังกล่าว และไม่ต้องการให้สิทธิในการซ่อมกับผู้ใช้งานและร้านซ่อมมือถือได้แบบเต็มรูปแบบ โดยให้เหตุผลว่า Apple ใช้ระบบ Parts Pairing เพื่อทำให้การซ่อมเป็นไปอย่างง่ายดาย และปลอดภัยต่อข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน
อย่างที่ทราบกันดีว่า Apple ถือเป็นแบรนด์ขึ้นชื่อในชุมชนนักซ่อมในเรื่องของความซับซ้อน เพราะ Apple มีการบังคับให้ใช้เครื่องมือเฉพาะอย่าง Apple System Configuration Tool เพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือหน้าจอแสดงผล และหากอะไหล่ที่ทำการเปลี่ยนไม่ผ่านการรับรองจากระบบของ Apple ก็จะทำการปิดใช้งานฟีเจอร์สแกนหน้า Face ID พร้อมขึ้นแจ้งเตือนว่าใช้อะไหล่ปลอมทันที
iFixit ยังเคยออกมาตีแผ่ประเด็นดังกล่าวว่า Apple ได้พยายามเพิ่มชิ้นส่วนเข้าระบบ Parts Pairing บน iPhone ให้มากขึ้นในทุกรุ่น โดยในปี 2015 มีเพียงแค่ 2 ชิ้นส่วน เท่านั้น ที่ถูกเข้ารหัสซีเรียล แต่ในปี 2020 Apple ได้เพิ่มการเข้ารหัสเป็น 9 ชิ้นส่วน ซึ่ง 9 ชิ้นที่ว่านี้ แทบไม่สามารถเปลี่ยนอะไหล่แล้วไม่โดนปิดฟีเจอร์ได้เลย นอกจากเหนือจากส่งซ่อมกับศูนย์ของ Apple โดยตรง
แต่กระนั้น John Perry ก็ยังคงยืนยันว่า ร่างกฎหมายใหม่จะทำลายความปลอดภัยของข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน หากปล่อยให้มีการใช้อะไหล่ที่ไม่รู้ที่มาในการซ่อมตัวเครื่อง นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า Apple ได้อัปเดตลดความซับซ้อนของระบบ Parts Pairing ลงแล้ว โดยไม่ได้บังคับให้ผู้ใช้งาน หรือร้านซ่อมต้องโทรไปหา Apple Support หากมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ใหม่
ทั้งนี้ Parts Pairing ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงในวงการมือถือเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ตลับหมึกปรินเตอร์, แคปซูลของเครื่องชงกาแฟ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ภายในบ้านที่ขึ้นสถานะ Error ที่มีเพียงช่างช่อมจากศูนย์บริการโดยตรงเท่านั้น ที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
อีกมุมนึงมันก็ดีนะ จะได้รู้ว่าได้อะไหล่แท้จริง ๆ ก็หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะหาจุดที่สมดุลที่สุดเจอนะ
คนก็อยากใช้อะไหล่แท้กันทั้งนั้นแหละ แต่ติดปัญหาที่อะไหล่แท้มันแพงเกิน