เก็บตกประเด็นน่าสนใจจากงาน Far Out เมื่อคืนนี้ ช่วงหนึ่งของการนำเสนอหน้าจอเจาะรูแบบใหม่บน iPhone 14 Pro ที่เรียกว่า Dynamic Island นั้น Apple ได้แสดงให้เห็นถึงหนึ่งในวิธีการทำงานที่ผู้ใช้สามารถแตะลงไปเพื่อเรียกดูข้อมูลในลักษณะคล้ายวิดเจ็ตได้ จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมเราถึงแตะมันได้ ? รวมถึงการกดค้างและปัด ทั้งที่ภาพจากสไลด์ทำให้รูดูเหมือนเป็นช่องว่างสำหรับวางกล้องหน้าและเซนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งไม่น่าจะตอบสนองต่อการสัมผัสใด ๆ

Dynamic Island เป็นหน้าจอหรือเป็นรู ทำไมจึงแตะได้


ถ้าดูจากภาพสไลด์ที่นำเสนอในงาน คงไม่แปลกที่จะเข้าใจผิดว่าเป็นรูยาวต่อกัน

สำหรับคำตอบของคำถามนี้ หากใครที่ติดตามข่าวลือของ iPhone 14 มาโดยตลอด คงพอจะเดากันได้ จากภาพที่เคยหลุดออกมาว่า Dynamic Island ของ iPhone 14 Pro ประกอบไปด้วยการเจาะรูแบบ 2 รู ด้านซ้ายเป็นรูยาวรูปร่างแคปซูล ในขณะที่ด้านขวาเป็นรูกล้องกลม ๆ ธรรมดา ดังนั้นบริเวณช่องว่างตรงกลาง แท้จริงแล้วคือหน้าจอที่ถูกปิดการแสดงผลเอาไว้ หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือแสดงผลเป็นสีดำ


แท้จริงเป็นส่วนหนึ่งของหน้าจอที่ถูกปิดการแสดงผล

สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันได้อีกทางหนึ่งคือภาพบนเว็บไซต์ของ Apple ซึ่งถ้ากดไปดูภาพเบื้องหลังในส่วนของฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าจอ เช่น Dynamic Island ในประเด็นนี้ก็ดี หรือจะ Always-On Display ที่เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่ก็ดี จะเห็นเลยว่าหน้าจอ iPhone 14 Pro ถูกแยกเป็น 2 รู ตรงกับภาพที่หลุดออกมา

การประยุกต์ใช้พาเนล OLED อย่างชาญฉลาด

สาเหตุที่ Apple สามารถซ่อนช่องว่างของ Dynamic Island ได้อย่างแนบเนียนราวกับไร้รอยต่อ เป็นเพราะพาเนลที่ใช้คือชนิด OLED ซึ่งมีคุณสมบัติปิดการทำงานของเม็ดพิกเซลได้สมบูรณ์แบบ 100% สีดำจึงดำสนิท ไม่มีแสงเล็ดลอด ยากที่จะสังเกตหากมองจากภาพถ่าย ยิ่งเป็นภาพกราฟิกยิ่งแล้วใหญ่

แต่ทั้งนี้ กรณีที่เป็นตัวเครื่องจริงยังพอมองเห็นได้อยู่ว่าช่องว่างตรงกลางนั้นเป็นหน้าจอ จากความต่างระดับของเลเยอร์และการสะท้อนแสงที่ไม่เท่ากัน ซึ่งบริเวณขอบรอบเซนเซอร์และกล้องเซลฟีจะดูนูนติดกับกระจกและดำสนิทกว่าจอภาพที่อยู่ต่ำลงไปเล็กน้อย

เปลี่ยนสิ่งที่ดูเกะกะให้ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของหน้าจอ


ไหน ๆ ก็ดูเกะกะอยู่แล้ว ก็เอาความเกะกะมาใช้ประโยชน์เสียเลย

ลำพังการเปลี่ยนจากรอยบากมาเป็นรูที่มีขนาดเล็กลง อาจช่วยลดความรู้สึกเกะกะลงไปได้แค่ประมาณหนึ่ง เพราะถ้าว่ากันตามตรง Dynamic Island ก็ยังดูใหญ่มากอยู่ดีเมื่อเทียบกับกล้องเซลฟีของสมาร์ทโฟนคู่แข่ง แต่ Apple ก็แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ ที่ดึงเอาคุณสมบัติของพาเนล OLED มาประยุกต์ได้อย่างชาญฉลาด ทำ Dynamic Island ออกมาให้กลมกลืน ราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าจอ ยืดก็ได้ หดก็ได้ หรือจะขยายเป็นวิดเจ็ตก็ได้อีก สมกับที่ตั้งชื่อว่า “ไดนามิก” จริง ๆ

Dynamic Island ทำอะไรได้บ้าง


ยืดก็ได้ หดก็ได้ หรือจะขยายเป็นวิดเจ็ตแสดงข้อมูลก็ได้

ยกตัวอย่างฟีเจอร์ที่ Dynamic Island รองรับเช่น

  • แสดงการชำระเงินเมื่อยืนยันตัวตนด้วย Face ID
  • แสดงการรับส่งไฟล์ผ่าน AirDrop
  • แสดงทิศทางการนำงานของ Apple Maps
  • แสดงภาพหน้าปกเพลงเมื่อเล่นเพลงผ่าน Apple Music
  • แสดงสถานะการเชื่อมต่อกับ AirPods รวมถึงเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่
  • แสดงสถานะการชาร์จ iPhone รวมถึงเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่
  • แสดงระยะเวลาที่ใช้ในการโทรและการบันทึกเสียง
  • แสดงระยะเวลาที่เหลือของนาฬิกาจับเวลา
  • แสดงจุดบ่งชี้การทำงานของกล้องหน้าและไมโครโฟน
  • แสดงไอคอนขณะเปลี่ยนโปรไฟล์เสียง

 

แค่การตั้งชื่อฟีเจอร์เก๋ ๆ ก็ทำให้กลายเป็นไวรัล

และการตั้งชื่อว่า Dynamic Island ยังต่อยอดไปสู่การพูดคุย ถกเถียง หยอกล้อกันบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นานา เหมือนเป็นการโฆษณาไปในตัวโดยที่ Apple ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่เซนต์เดียว ดังเช่น Kyle Van Essen นักออกแบบอินเทอร์เฟซ iOS ได้โพสต์ว่า “เราสามารถส่งสัญญาณฉุกเฉินผ่านดาวเทียมเพื่อรับการช่วยเหลือจาก Dynamic Island ได้” ซึ่งเป็นมุกแซวฟีเจอร์ Emergency SoS via Satellite ที่มากับ iPhone 14 กลายเป็นที่ขบขันในกลุ่มแฟน Apple ด้วยกัน เป็นต้น

สำหรับ iPhone 14 ทั้ง 4 รุ่น มีราคาเริ่มต้นที่ 32,900 บาท โดยในปีนี้ประเทศไทยได้ถูก Apple จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 1 เตรียมเปิดให้พรีออร์เดอร์เป็นกลุ่มแรกในโลกพร้อมกับสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 เป็นต้นไป