Bloatware คือแอปพลิเคชั่นที่ติดมากับระบบเครื่องโดยตรง (ยกตัวอย่างแอปพลิเคชั่นจำพวก Mi Browser) ซึ่งแอปพลิเคชั่นเหล่านี้นอกจากจะเปลืองพื้นที่เครื่องแล้ว ยังมีบางแอปที่คอยกินทรัพยากรเครื่องของเราอยู่เบื้องหลัง แถมยังไม่สามารถถอนการติดตั้งออกได้ โดยล่าสุด Max Weinbach จาก XDA Developers และผู้ใช้งานมือถือ OnePlus อีกหลายรายออกมาบ่นว่า พบ Bloatware หลายตัวติดตั้งมาในมือถือ OnePlus รุ่นใหม่ๆ ที่วางขายในปี 2020 โดย Bloatware เหล่านั้นมาจากแบรนด์ดังอย่าง Facebook และ Netflix ซะด้วย

ระบบปฎิบัติการ OxygenOS ของมือถือ OnePlus นั้น ต่างก็ได้รับการชมเชยมากมายว่าเป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการที่รวดเร็ว และคลีนที่สุดในตลาด แต่ล่าสุดกลับพบว่ามีแอปพลิเคชั่นประเภท Bloatware ที่มาจาก Facebook ติดตั้งมากับเครื่องซีรี่ส์ OnePlus 8 ไปจนถึง OnePlus Nord ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาได้ไม่นานนี้ อีกทั้งบางแอปพลิชั่นนั้นก็ไม่สามารถถอนการติดตั้งได้อีกด้วย

Blogger สาย IT ชื่อดัง Max Weinbach ได้โพสต์ข้อความ และภาพลงทวิตเตอร์แสดงให้เห็นถึงแอปพลิเคชั่นชื่อว่า Facebook App Manager ที่กำลังอัปเดตแอป Instagram อยู่ แทนที่จะอัปเดตผ่าน Google Play Store ตามปกติ

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้งานเว็บไซต์ Reddit หลาย ๆ ท่าน ออกมายืนยันว่ามี Bloatware เหล่านี้โผล่เข้ามาในเครื่อง OnePlus ซักพักแล้ว ซึ่งมือถือ 3 รุ่นล่าสุดของ OnePlus อย่าง OnePlus 8, OnePlus 8 Pro และ OnePlus Nord ต่างก็เจอ System App และ Services จาก Facebook ที่ถูกติดตั้งโดยตรงลงใน OxygenOS เช่นเดียวกัน

เว็บไซต์ Android Police ได้ทำการติดต่อ OnePlus โดยตรงเพื่อสอบถามเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นปริศนาเหล่านี้ แล้วก็ได้รับการยืนยันว่ามือถือ OnePlus 8, 8 Pro และ Nord ต่างมี Facebook App Installer, Facebook App Manager, แอประบบ และ Service ต่าง ๆ จาก Facebook จริง อีกทั้งยังมีแอปโซเชี่ยลมีเดียหลัก ๆ มากมายอย่าง Facebook, Messenger, Instagram และ Netflix ติดมากับตัวเครื่องตั้งแต่โรงงานอีกด้วย

โดยทางทีมงาน OnePlus Official ได้ให้รายละเอียดว่าการติดตั้งแอปพลิเคชั่นเหล่านี้มาตั้งแต่โรงงานนั้นก็เพื่อ “พัฒนาประสบการณ์ในการใช้มือถือของ OnePlus ให้เสถียร และลื่นไหลที่สุดตั้งแต่แกะกล่อง โดยแอป Facebook ที่ติดตั้งมาโดยตรงนั้นจะมีประสิทธิภาพการใช้งานแบตเตอรี่ดีกว่าแอปที่ติดตั้งผ่าน Google Play Store ส่วนแอป Netflix จะทำให้การถอดรหัสวิดิโอแบบ HDR นั้นรวดเร็ว, ลื่นไหล และเสถียรมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม Max Weinbach ก็ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Facebook อาจดึงเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน OnePlus ไปใช้ได้ เนื่องจากมันไม่ได้ดาวน์โหลดผ่าน Google Play Store อีกทั้งยังมีการคนพบว่าบางครั้งแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ยังแอบใช้งานดาต้าโดยที่เราไม่รู้ตัวอีกด้วย (ถึงจะไม่เยอะก็ตาม😐)

แม้ว่าผู้ใช้งานจะไม่สามารถถอนการติดตั้งแอปพลิเคชั่นเหล่านี้โดยตรง แต่หากใครที่ไม่ต้องการใช้งานก็ยังมีวิธีแก้โดยการเข้าไปในเมนูการจัดการแอปพลิเคชั่นเพื่อปิดการใช้งาน (Disable) แอปเหล่านี้ได้ โดยจะไม่ส่งผลต่อการใช้งานปกติของมือถืออีกด้วยครับ

 

Source: Max Weinbach via Androidpolice