ผลกระทบของวิกฤตชิปเซ็ตขาดตลาดในตอนนี้ได้กระจายออกมาเป็นวงกว้างมาก ๆ จากตอนแรกกระทบเพียงแค่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเฉย ๆ แต่ทำไปทำมา แรงกระแทกดังกล่าวกลับส่งผลมาถึงวงการสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกมคอนโซล ไปจนถึงอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ต่าง ๆ วันนี้ DroidSans เลยขอมาเล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดว่า มีที่มาที่ไปยังไง ทำไมชิปถึงขาดแคลน แล้ววิกฤตนี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเมื่อไหร่
วิกฤตการขาดแคลนของชิปเซ็ตในครั้งนี้ ถ้าจะเท้าความก็คงต้องบอกว่ามันเริ่มต้นตั้งแต่ปัญหาสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสองขั้วอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ในปี 2019 ลากยาวมาถึงวิกฤตการณ์ COVID-19 ปี 2020 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และดูจะยังไม่จบง่าย ๆ ประกอบกับอุปสงค์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาระหว่างทางในหลายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติมาซ้ำเติมกำลังการผลิตให้น้อยลงไปอีก จนสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายย่ำแย่ลงอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
ถ้าจะสรุปว่าเกิดจากการอะไร การจะอ้างอิงว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งคงจะไม่ถูกต้องนัก ด้วยความที่เรื่องราวมีการเกิดและกระทบกันต่อเนื่องตามกันมายาวนาน หากปัญหามีเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง บริษัทแต่ละแห่งก็จะยังพอบริหารจัดการให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายเหมือนในปัจจุบันได้
โดยในบทความนี้ ผู้เขียนขอจำแนกปัญหาชิปเซ็ตขาดแคลนนี้ออกเป็นสองปัจจัยใหญ่ ๆ ได้แก่ ปัญหาที่เกิดจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาที่เกิดจากการผลิตติดขัดเพราะภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
ความต้องการของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
นับตั้งแต่ที่ HUAWEI ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งแบนห้ามดีลธุรกิจกับบริษัทสัญชาติอเมริกัน รวมถึงบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกที่ยังต้องพึ่งพาใช้งานสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ อยู่ในขั้นตอนกระบวนการผลิตต่าง ๆ แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเจ้าอื่น ๆ ก็เกิดอาการคึกคักขึ้นมามากพอสมควร โดยหลายเจ้าตัดสินใจสั่งชิปจาก TSMC และ Samsung เพิ่มในปริมาณที่มากกว่าเดิม เพื่อหวังจะมาช้อนส่วนแบ่งการตลาดของ HUAWEI ให้ได้ ซึ่งในส่วนนี้นักวิเคราะห์จาก Counterpoint Research ได้ให้ความเห็นว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเฉกเช่นทุกวันนี้ได้1
นอกจากนี้การระบาดของ COVID-19 ยังถือว่าเป็นปัจจัยหลักของการขาดแคลนของตลาดชิปเซ็ตทั่วโลกในครั้งนี้เลยก็ว่าได้ เนื่องจากหลากหลายบริษัทต่างใช้มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home: WFH) กันมากขึ้น เพื่อหวังจะลดความเสี่ยง ไม่ให้มียอดติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่าเดิม รวมถึงการเรียนหนังสือ ก็หันมาเรียนทางออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น
ซึ่งพอหลายคนอยู่บ้าน WFH หรือเรียนออนไลน์กันมากขึ้น ความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือหูฟัง ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านั้น จำเป็นกับการใช้ทำงานแบบ New Normal เช้าเปิด Zoom ประชุมทำงาน เย็นเข้า Discord สังสรรค์เม้ามอยกับเพื่อน ๆ ทางออนไลน์
อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลของ IDC พบว่า ตลาดแท็บเล็ตในปี 2020 ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ยอดส่งออกทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 164.1 ล้านยูนิต มากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงปี 2019 อยู่ 13.6% ซึ่งหากสังเกตดี ๆ ยอดของ Samsung และ Lenovo ที่มีแท็บเล็ตในย่านราคาต่ำหมื่นหลายรุ่น มีตัวเลขส่งออกสูงขึ้นคิดเป็นเกือบ ๆ สองเท่าตัวเลย2
ภาพรวมยอดส่งออกแท็บเล็ตในปี 2020
ขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กับแท็บเล็ตในช่วง WFH และเรียนออนไลน์ ก็มียอดส่งออกกระเตื้องขึ้นมา 13.1% เช่นเดียวกัน3
ภาพรวมยอดส่งออกคอมพิวเตอร์ปี 2020
แถมการระบาดของ COVID-19 ยังทำให้โรงงานผลิตชิปเซ็ตบางแห่งต้องปฏิบัติตามคำสั่ง Lockdown ของประเทศนั้น ๆ รวมถึงมีพนักงานในสายการผลิตติดเชื้อขึ้นมา จึงเลยต้องหยุดการผลิตชั่วคราวอีกด้วย เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถผลิตชิปได้ทันตามที่ตกลงกับลูกค้าเอาไว้ในตอนแรก
และยังมีความเป็นไปได้ที่กระแสลงทุนใน Cryptocurrency ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำไมเกิดวิกฤตขาดแคลนชิปเซ็ตในครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากมีผู้คนแห่ไปซื้อการ์ดจอคอมพิวเตอร์แรง ๆ เพื่อที่จะมาขุดเหรียญ Bitcoin ไปขาย จนทำให้ดีมานด์มีเกินซัพพลาย ส่งผลให้แบรนด์ผู้ผลิตการ์ดจอแต่ละเจ้าจำเป็นต้องสั่งผลิตสินค้าเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าชิปเซ็ตหน่วยประมวลผลก็ถือว่าเป็นชิ้นส่วนที่จำเป็นมาก ๆ ต่อการผลิตการ์ดจอ
โรงงานผลิตชิป TSMC และ Samsung ประสบปัญหาภัยพิบัติ กระทบกำลังผลิต
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชิปเซ็ตขาดแคลนไปทั่วโลกก็คือ การติดขัดของการผลิตที่เกิดขึ้นจากปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติพายุหิมะ หรือปัญหาภัยแล้งที่บางประเทศกำลังเผชิญหน้าอยู่นั่นเอง
TSMC ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบกับภัยแล้งเข้าอย่างจัง เนื่องจากโรงงานผลิตชิปของพวกเขาต้องใช้น้ำสะอาดในกระบวนการผลิตชิปเป็นจำนวนกว่า 1.56 แสนล้านตันต่อวัน ซึ่งพอมีปัญหาภัยแล้งนี้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ TSMC จะได้น้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอมาใช้ผลิตชิปเหมือนช่วงเวลาปกติ ส่งผลให้ TSMC จำเป็นต้องลดไลน์การผลิตลง เพื่อให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี TSMC ได้เตรียมแก้ไขปัญหาภัยแล้งนี้ด้วยการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียของตัวเองขึ้นมา โดยพวกเขาเคลมว่าโรงงานนี้จะมีกำลังผลิตน้ำสะอาดได้มากถึง 6.7 หมื่นตันต่อวัน แต่กว่าโรงงานนี้จะแล้วเสร็จก็คาดว่าน่าจะต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2024 หรืออีกราว ๆ 3 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว
นอกจากนี้ Samsung ก็เป็นอีกหนึ่งเจ้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน โดยพวกเขาจำเป็นต้องลดจำนวนการผลิตชิปของโรงงานในเมืองออสติน รัฐเท็กซัสแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังต้องเจอกับพายุหิมะอย่างหนัก จนถึงขนาดไฟฟ้าดับทั้งเมือง ในส่วนนี้มีการคาดการณ์กันว่า ทุกอย่างน่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ผลิตชิปเซ็ตได้เต็มกำลังเหมือนเดิมในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
โดยภัยธรรมชาติที่เข้าโจมตีโรงงานของทั้ง TSMC และ Samsung ต่างส่งผลกระทบด้านลบกับวงการเซมิคอนดักเตอร์เป็นอย่างมาก เพราะสองบริษัทนี้ต่างรับผิดชอบส่งออกชิปเซ็ตไปยังอุตสาหกรรมทั่วโลกเป็นจำนวนกว่า 80% รวมกัน แบ่งเป็น 70% มาจาก TSMC และอีก 10% ที่เหลือเป็นของ Samsung
ชิปไม่พอ…ทำไมไม่ผลิตเพิ่ม?
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไม TSMC และ Samsung ไม่เร่งผลิตชิปเซ็ตให้มากกว่าเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในครั้งนี้ล่ะ เพราะสถานการณ์ COVID-19 ในสหรัฐฯ และไต้หวัน ถือว่ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่ทุกคนสามารถกลับเข้าไปทำงานได้โรงงานได้เหมือนเช่นเคยแล้ว แต่บอกตามตรงเลยว่า การผลิตชิปเซ็ตขึ้นมาแต่ละที มันไม่ได้ง่ายแบบที่เราคิดกันแม้แต่น้อย โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่ชิปเซ็ตส่วนมากถูกย่อขนาดให้เล็กลง อัดทรานซิสเตอร์มากว่าหลายพันล้านหน่วย ขั้นตอนการผลิตก็ย่อมมีมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และที่สำคัญใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม HUAWEI ถึงตกอยู่สถานการณ์ที่ยากลำบาก ยอดขายหายไปเกือบครึ่ง นับตั้งแต่โดนรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแบน เนื่องจากปัจจุบัน HUAWEI ยังติดข้อจำกัดเรื่องสิทธิบัตรบางอย่างที่สหรัฐฯ เป็นผู้ถือ ทำให้พวกเขาไม่สามารถสร้างโรงงานผลิตชิปที่ศักยภาพทัดเทียมกับเจ้าตลาดตอนนี้อย่าง TSMC, Samsung หรือ Intel ได้ อีกทั้ง SMIC บริษัทผลิตชิปที่ใหญ่และมีเทคโนโลยีก้าวล้ำที่สุดในจีนตอนนี้ยังมีผลิตชิปเต็มที่ได้ถึงแค่ระดับสถาปัตยกรรม 14 นาโนเมตรเท่านั้น
กลับมาที่ขั้นตอนการผลิตชิปเซ็ตในแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องใช้เทคโนโลยีที่มีมูลค่าร่วมกันกว่าหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ห้องสะอาด (Clean Room) ที่แม้แต่ฝุ่นก็เข้าไปไม่ได้ เนื่องจากตัวทรานซิสเตอร์แต่ละชิ้นนั้นมีขนาดเล็กมาก ๆ (เล็กกว่าพวกเชื้อไวรัสอยู่หลายเท่าตัว) หากโดนฝุ่นหรืออากาศอาจทำให้ตัวทรานซิสเตอร์พังได้
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ในห้องผลิตชิปเซ็ต มีฝุ่นในอากาศเพียงแค่ 10 อนุภาคต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น น้อยกว่าสภาพแวดล้อมในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลทั่วไปอยู่ถึง 1,000 เท่า (Source: Bloomberg)
รายชื่ออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตชิปเซ็ตขาดแคลน
อุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นธุรกิจภาคส่วนแรก ๆ ที่ได้รับแรงกระแทกจากวิกฤตชิปเซ็ตขาดตลาดในครั้งนี้ โดยจนถึงขนาดที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบางเจ้าเตรียมพิจารณาที่จะตัดฟีเจอร์อัจฉริยะบางส่วนออก เพื่อเก็บชิปหรือหน่วยประมวลเล็ก ๆ เอาไว้ใช้ในขั้นตอนการผลิตที่จำเป็นกว่า หรือขนาดที่บางเจ้าตัดสินใจติดต่อโรงงานผลิตชิป ขอซื้อชิปที่ไม่ผ่านมาตรฐานมาใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองเลยก็มี
ทั้งนี้ทั้งนั้น ชิปเซ็ตที่ไม่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาใช้งานกับชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบรักษาความปลอดภัยของตัวรถยนต์นะครับ แต่จะถูกนำมาใช้กับระบบ Entertainment บันเทิงต่าง ๆ ในตัวห้องเครื่องแทน ซึ่งในส่วนนี้จะไม่ส่งผลใด ๆ กับตัวระบบ Security แต่อาจจะทำให้ระบบ Entertainment ทำงานขัดข้องได้ หากขับเข้าไปในพื้นที่สภาพอากาศที่เลวร้ายหรือแปรปรวน
โดย NXP Semiconductor บริษัทผลิตชิปเซ็ตสัญชาติฮอลแลนด์แดนกังหัน (ที่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า Samsung เตรียมฮุบกิจการ) ได้ออกมาเปิดเผยว่า สาเหตุที่ชิปเซ็ตขาดแคลน อาจจะมาจากการที่วงการยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนถ่ายสายเลือดระหว่างรถยนต์แบบปกติมาเป็นแบบระบบไฟฟ้าในอัตราที่เร็วเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในตอนแรก
อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน
จุดนี้เพื่อน ๆ น่าจะทราบกันดีว่าวงการสมาร์ทโฟนของเราก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตชิปเซ็ตขาดแคลนครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งทั้ง Qualcomm, Xiaomi และแบรนด์ยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ก็ออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า ตลาดมือถือกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบสุด ๆ หลายฝ่ายไม่สามารถผลิตสมาร์ทโฟนออกมาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากไม่มีชิปเซ็ตอยู่ในคลัง โดยหากเพื่อน ๆ สังเกตช่วงหลัง ๆ มือถือที่เข้าไทยจะเข้ามาในจำนวนที่น้อยมาก ๆ ตัวอย่างล่าสุดก็คือ Mi 11 Ultra ที่เข้าไทยมาแค่ 100 เครื่องเท่านั้น และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลออกมาว่าทาง Xiaomi Thailand จะนำมือถือเรือธงสุดเทพนี้เข้ามาวางจำหน่ายเพิ่มอีกหรือไม่
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
อีกหนึ่งแวดวงที่ได้รับผลกระทบจัง ๆ ก็คืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงการขาดตลาดของการ์ดจอที่เหล่านักลงทุน Cryptocurrency แห่ซื้อไปขุด Bitcoin กันด้วย โดยวิกฤตนี้ส่งผลกระทบกับวงการนี้อย่างหนัก จนถึงขนาดที่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทาง ASUS Thailand ได้ประกาศขึ้นราคา PC ของตัวเองหลายรุ่น เพิ่มเครื่องละ 1,000 – 3,000 บาท เหตุต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาชิปขาดแคลนนั่นเอง
อุตสาหกรรมเกมคอนโซล
นอกจากนี้ วงการเกมคอนโซลก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าวงการอื่น ๆ ซักเท่าไหร่ เพราะเครื่องเล่นเกมอย่าง Nintendo Switch หรือ PlayStation 5 ต่างต้องพึ่งพาความสามารถของเหล่าชิปหน่วยประมวลผลในการขับเคลื่อนใช้งานเหมือน ๆ กับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ Gadget อื่น ๆ ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนนี้ ผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองบริษัท ก็ออกมายอมรับว่าในปลายปีนี้ ตัวสินค้าอย่าง Switch หรือ PS5 อาจเกิดอาการของขาดตลาด หาซื้อยาก
วิกฤตชิปเซ็ตคาดแคลนครั้งนี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเมื่อไหร่
ตรงนี้ทั้ง Qualcomm, Xiaomi, Gartner และผู้เกี่ยวข้องในวงการเทคโนโลยีต่างมองในมุมเดียวกันว่า ปัญหาชิปเซ็ตขาดตลาดอาจจะอยู่กับเราไปอย่างน้อย ๆ จนถึงต้นปี 2022 ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบันบริษัทผลิตชิปเซ็ตรายยักษ์อย่าง Intel และ TSMC ก็อัดเม็ดเงินจำนวนมหาศาล กับความหวังว่าการลงทุนนั้นจะเข้ามาแก้ไขวิกฤตชิปเซ็ตขาดแคลนในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ปัญหาชิปขาดตลาดในครั้งนี้ก็พอโล่งใจอยู่บ้างว่า ทั้งหมดไม่ได้มาจากการขาดแคลนของทรัพยากรที่จำเป็นต้องการผลิต หากแต่เป็นการสูญเสียดุลยภาพที่เกิดขี้นจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติเท่านั้น
ที่มา:
- 1Why is there a global chip shortage—and how will it end? | Fortune
- 2Worldwide Tablet Shipments Return to Growth in 2020, Fueled by Unprecedented Demand, According to IDC
- 3PC Sales Remain on Fire as Fourth Quarter Shipments Grow 26.1% Over the Previous Year, According to IDC
- The chip shortage: Why it’s happening and when car and PlayStation 5 supply chains will bounce back. (slate.com)
- Chip Shortage 2021: Semiconductors Are Hard to Make and That’s Part of the Problem (bloomberg.com)
- Tablets sales are through the roof due to COVID – Good e-Reader (goodereader.com)
- PC shipments surge as the world gets serious about working from home – The Verge
น่าจะเพราะมีการออกสินค้าใหม่ ๆ กันเร็วเกินไป ทุกวันนี้มาตรฐานการออกสินค้าใหม่คือทุกปี บางยี่ห้อปีละสองครั้งก็มือ สาเหตุเกิดจากความอยากล้วน ๆ
เท่าที่ติดตามข่าวมาตลอดสาเหตุหลักๆ คือ โรคระบาดกับภัยพิบัติ
ที่ทำให้การผลิตชิปช้าลงเรื่อยๆ
โรงงาน TSMC กับ SAMSUNG ดันมีการติดเชื้อของพนักงานทำให้ต้องปิดไลน์บางส่วนไป 2-3 เดือน แล้วกว่าจะกลับมาเดินสายผลิตได้ต่อก็ต้องใช้เวลาเตรียมการอีก 2-3 เดือน เท่ากับแค่ 2 เจ้านี้ล่าช้าในการผลิตแล้ว 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ
พอแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดได้ ก็ดันมาเจอภัยพิบัติธรรมชาติอีก TSMC ยังเจอปัญหาภายในประเทศ ส่วน SAMSUNG ก็ใกล้กลับมาเปิดไลน์การผลิตได้อีกครั้ง
เท่ากับต้องมาเสียเวลาเพิ่มจากภัยพิบัติอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
supply ลดลงแต่ demand กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหานี้น่าจะต้องใช้เวลา 1-2 ปีในการแก้ไขหรือทำให้มันกลับมาปกติได้