การขาดหายไปของ “ชิป” แค่ตัวเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สินค้าใด ๆ ไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอย่างมากต่อบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดเล็กที่มีทางเลือกไม่มากนักท่ามกลางวิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนแบบนี้ ผู้ผลิตบางรายจำใจต้องมองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการจัดซื้อชิปและอาจละเลยขั้นตอนการตรวจสอบอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มีมิจฉาชีพสบโอกาส ปล่อยชิปไม่ได้มาตรฐานเข้ามาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักวิจัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปลอมจาก Center for Advanced Life Cycle Engineering (CALCE) เคยออกมาเตือนเกี่ยวกับแนวโน้มที่จะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหนหนึ่ง และสุดท้ายก็เกิดขึ้นจริง ๆ โดยระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม บริษัท OKI Engineering ได้รับการว่าจ้างให้ตรวจสอบชิปเป็นจำนวน 150 เคส พบชิปไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมากถึง 30% หลังผ่านไปเพียง 70 เคสเท่านั้น

ชิปไม่ได้มาตรฐานในที่นี้ หมายรวมถึง “ชิปปลอม” ที่ปลอมได้แนบเนียนยันแพ็กเกจ “ชิปที่ถูกนำมาใช้ใหม่” โดยงัดแงะมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่า ๆ และอาจถูกนำมาปลอมแปลงอีกทีโดยการเปลี่ยนหมายเลขเพื่อปิดบังวันที่ผลิต หรือ “ชิปตกเกรดที่ถูกคัดทิ้ง” ซึ่งตามปกติควรถูกส่งไปทำลาย เป็นต้น

ตามรายงานของ Nikkei บริษัทล่าสุดที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ คือ Jenesis บริษัทอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้สั่งซื้อไมโครคอนโทรลเลอร์ผ่านทาง Alibaba แต่สุดท้ายชิ้นส่วนดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ ตรวจสอบจึงพบเป็นไมโครคอนโทรลเลอร์ปลอมที่เหมือนแค่หน้าตาภายนอก แต่ไส้ในไม่ตรงตามสเปก และทางฝ่ายผู้ขายได้หายตัวอย่างไร้วี่แวว ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอเงินคืนได้

เรื่องนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้จัดจำหน่ายชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ แม้จะเป็นช่องทางที่สามารถหาซื้อชิปได้โดยง่าย แต่ไม่มีอะไรรับประกันถึงความปลอดภัย ควรตรวจสอบให้ดีทั้งก่อนซื้อและหลังซื้อ เพราะถ้าประกอบชิ้นส่วนเข้ากับสินค้าไปแล้วอาจถึงขั้นไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย

ทั้งนี้ TSMC และ Intel ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกคาดการณ์ว่า วิกฤติชิปขาดแคลนจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนานจนถึงปี 2566 นู่นเลยครับ

 

ที่มา : Nikkei | Japan Times