ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยอย่าหลงเชื่อการรับสมัครผู้ทดสอบการนอนโรงแรม! จริง ๆ ก่อนหน้าเรามักจะเห็นเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ที่รับรีวิวที่พัก พาไปลองนอนโรงแรมหรูเพื่อทำเป็นคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย ล่าสุดมิจฉาชีพเอาบ้างหลอกประชาชนโดยการเปิดรับสมัครผู้ทดสอบการนอนโรงแรม รายได้ดี จากนั้นหลอกให้ลงทุนเทรดหุ้นต่อ

ตำรวจไซเบอร์ได้รับรายงานว่ามีผู้เสียหายหลายรายได้ถูกมิจฉาชีพหลอกด้วยการชวนไปทำงานออนไลน์เพื่อเป็นรายได้เสริม โดยมิจฉาชีพได้ใช้วิธีโฆษณาเป็นวิดีโอสั้น ๆ ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะ TikTok, Facebook หรือ Instagram โดยทำเหมือนประกาศรับสมัครงานผู้ทดสอบการนอนโรงแรม เนื้อหางาน = นอน รายได้อย่างน้อย 30,000 บาท/เดือน

หรืออ้างว่าได้เงินค่าจ้างนอน 2,000 บาท/ คืน โดยที่ผู้สมัครจะได้สวัสดิการค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ฟรี หมดทุกอย่าง และหากสนใจให้แสดงความคิดเห็นประมาณว่ารีวิวโรงแรมให้ดูก่อนจะนอนโรงแรมจริง ๆ จากนั้นมิจฉาชีพจะประเมินความสามารถเรา ถ้าผ่านก็จะโอนเงินมาให้ 50 บาท พร้อมเชิญเข้าร่วมกลุ่มแชทใน Telegram

เมื่อเหยื่อเข้าไปในกลุ่มแชทนั้นแล้ว มิจฉาชีพก็จะหลอกให้ร่วมลงทุนเทรดหุ้นเป็นภารกิจเสริม โดยอ้างถึงกำไรที่จะได้รับมากกว่านี้ ในครั้งแรก ๆ เหยื่อจะได้รับกำไรกลับมาจริง ๆ แต่พอเหยื่อตายใจลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้

ในวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท.ได้ฝากย้ำเตือนไปถึงประชาชนถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งตอนนี้ทางตำรวจไซเบอร์ได้รับทราบความเสียหายแล้ว พร้อมแนะนำก่อนทำกิจกรรมหรือธุรกรรมใด ๆ บนโลกออนไลน์ต้องมีสติและรู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพเสมอ

สำหรับแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีดังนี้

  • เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
  • หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
  • หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่างานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
  • หากพบว่ามีการให้โอนเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินใดๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่า กำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
  • ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
  • ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา โดยควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น
  • ช่วยกันตรวจสอบ สอดส่องบุตรหลาน บุคคลใกล้ชิดว่ามีพฤติกรรมทางการเงินผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้สามารถให้คำปรึกษา ยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

สมัยนี้มิจฉาชีพได้งัดสกิลการหลอกลวงออกมาได้ไม่ซ้ำรูปแบบเลยจริง ๆ อย่างกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นก็ทำให้ผู้เขียนตระหนักได้ว่า งานที่ดี ไม่ใช่งานที่ทำง่าย ๆ กิน ๆ นอน ๆ แล้วเงินจะไหลเข้าบัญชี และก่อนจะลงทุนอะไรก็ควรมีสติให้มาก ๆ การเป็นเหยื่อไม่ได้เป็นความผิด แต่ถ้าป้องกันได้ก็จะได้ไม่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้นะคะ

 

ที่มา : facebook กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท.