หลังจากที่ DJI ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยความมั่นคงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทำให้ถูกเพ่งเล็งเรื่องการถูกแบนออกจากการขายโดรนภายในสหรัฐและเกิดการฟ้องร้องกัน ล่าสุด วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการอนุญาตการป้องกันประเทศ หรือ National Defense Authorization Act (NDAA) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศประจำปี ที่แม้จะยังไม่ทำให้โดนแบนจากสหรัฐฯในทันที แต่ก็อาจถูกแบนได้ ถ้าไม่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ภายใน 1 ปี

โดยร่าง พ.ร.บ. นี้ กำหนดว่า หาก DJI ไม่สามารถโน้มน้าวหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวข้องด้วยการประกาศต่อสาธารณะว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่วางขายนั้น ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ทันเวลาภายใน 1 ปีนี้ กฎหมายดังกล่าวจะทำให้ FCC เพิ่มอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ DJI ลงไปอยู่ภายใต้กฎหมายเครือข่ายการสื่อสารที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ (Secure and Trusted Communication Networks Act) ซึ่งจะทำให้นอกจากจะเป็นการไม่อนุญาตให้ใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นในเครือข่ายของสหรัฐฯ และยังห้าม FCC ไม่ให้อนุญาตให้ใช้วิทยุด้านในเพื่อใช้งานในสหรัฐฯอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นไม่ให้นำเข้าทุกอย่างของ DJI เข้าไปขายในสหรัฐฯ ทั้งหมดเลย

ซึ่งคำว่าทั้งหมดนี้ อาจจะหมายรวมถึงอุปกรณ์ที่มีคลื่นวิทยุ หรือกล้อง เช่น DJI Osmo Pocket 3 ก็จะถูกห้ามนำเข้าไปวางจำหน่ายด้วยเช่นกันในทางเทคนิค เพราะพ.ร.บ. NDAA นั้นหมายรวมถึงทั้งโดรน, อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์เฝ้าระวังผ่านวิดีโออีกด้วย โดยข้อความในร่างกฎหมายนั้น ตามทฤษฎีแล้ว จะป้องกันไม่ให้ DJI แอบใช้ช่องโหว่ด้วยการเอาโดรนมาตั้งชื่อแบรนด์เป็นชื่ออื่น และแอบมาวางจำหน่ายในสหรัฐฯ หรือออกใบอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีของตัวเองเช่นกัน แบบที่สหรัฐฯได้แบน Anzu Robotics Raptor และ Cogito Specta เพราะร่างกฎหมายได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการแบนแบบรวม ‘บริษัทในเครือ, บริษัทที่เกี่ยวข้อง หรือพันธมิตร’ (any subsidiary, affiliate, or partner) และ ‘หน่วยงานใดๆ ที่ระบุว่ามีข้อตกลงแบ่งปันหรือออกใบอนุญาตเทคโนโลยีให้’ เข้าไปอยู่ในรายการที่ครอบคลุมด้วยแล้ว

ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และกำลังส่งไปที่ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘ต้องลงนาม’ เนื่องจากหากไม่ลงนาม ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลถูกกำหนดให้เป็นการ ‘ปิดทำการหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วน’ (partial government shutdown) ได้ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังผ่านสภาทั้งสองแห่งแล้วด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากทั้งสองพรรคหลักด้วย

ดังนั้น เรื่องนี้จึงกำลังจะกลายเป็นอำนาจในมือของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในเร็ว ๆ นี้ และจะทำให้ทรัมป์มีอำนาจตัดสินใจเช่นกันว่าอยากจะแบน DJI ออกจากประเทศต่อหรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการอยู่เฉย ๆ ทำให้ DJI เองก็คงอยากหาโอกาสในการพูดคุยกับทรัมป์เพื่อยุติเรื่องนี้อย่างแน่นอน เหมือนกับที่ TikTok เองก็กำลังเผชิญปัยหาด้านการโดนแบนออกจากสหรัฐฯเช่นเดียวกัน

และแม้กฎหมาย NDAA จะยังไม่ถูกบังคับใช้ในสหรัฐฯ แต่สินค้าของ DJI ในตอนนี้ก็ถูกเพ่งเล็ง และถูกตรวจสอบได้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเยอะมากแล้ว ตั้งแต่ที่สินค้าของ DJI เริ่มมีข้อจำกัดในการนำเข้าอย่างกระทันหัน โดยอ้างว่าเป็นเพราะกฎหมายป้องกันแรงงานบังคับชาวอุยกูร์ และตัดสินใจส่งออกสินค้าเข้าสหรัฐฯลดลง และมีเรื่องการฟ้องร้องกับสหรัฐฯ เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘บริษัททหารของจีน’ อีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลขึ้นมา DJI ก็ได้โพสต์ลงบนบล็อกของตัวเอง ว่านี่เป็น ‘ข่าวดี’ ที่ NDAA ไม่ได้ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ของ DJI แบบชัดเจนในตอนนี้ แต่ก็ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเจาะจงเลือกโดรนของจีนโดยเฉพาะเพื่อมาตรวจสอบ และกังวลเรื่องช่องโหว่ที่ว่า กฎหมายไม่ได้มีการระบุหน่วยงานของรัฐบาลว่าหน่วยงานไหน ที่จะทำหน้าที่ในการพิจารณาว่าโดรนของ DJI มีความเสี่ยงหรือไม่

DJI ได้กล่าวในบล็อกโพสต์ของตัวเองเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ DJI ก็ถูกห้ามไม่ให้เปิดตัวอะไรใหม่ในสหรัฐฯเลย โดยไม่ได้เป็นความผิดของ DJI ด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะไม่มีหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯไหนเลย เลือกที่จะรับหน้าที่เข้ามาตรวจสอบโดรนของตัวเอง และขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ เลือก ‘หน่วยงานที่เน้นด้านเทคนิคเพื่อให้แน่ใจว่าการประเมินนั้นอิงตามหลักฐาน’ และให้บริษัทมีโอกาสได้โต้ตอบกลับไปบ้าง

ที่มา : The Verge, รัฐสภาสหรัฐฯ, DJI