ในตอนนี้ที่ไทยมี Google Chromecast เข้ามาขายอย่างเป็นทางการแล้ว และเราก็ได้ทดลองให้ดูกันไปรอบหนึ่งแล้วว่า Chromecast นั้นมีความสามารถอะไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะยังสงสัยคาใจว่าตอนนี้ในตลาดมีเทคโนโลยีส่งภาพขึ้นจออื่นเต็มไปหมด ไมว่าจะเป็น AirPlay, Miracast, DLNA, Chromecast และอีกสารพัดชื่อที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็ใช้ชื่อไม่เหมือนกันอีก ผมก็เลยไปค้นข้อมูลมาว่าแต่ละตัวนั้นมันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

DLNA

dlna-2-logo

เอาเป็นว่าเริ่มจากเทคโนโลยีตัวที่เก่าที่สุดก่อนเลยก็แล้วกัน นั่นก็คือ DLNA จริงๆ ต้องบอกกันไว้หน่อยว่า DLNA  (ดีแอลเอ็นเอ) มีชื่อเต็มๆ คือ Digital Living Network Alliance เป็นชื่อของกลุ่มความร่วมมือ ไม่ใช่ชื่อเทคโนโลยีโดยตรง โดยกลุ่มนี้ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตอนปี 2003 กลุ่มของ DLNA เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายเจ้า โดยมีหัวหอกคือ Sony (จึงไม่แปลกที่เราเห็นสินค้าโซนี่รองรับมาตรฐานแทบทั้งนั้น) ในตลาดก็ติดปากพูดกันว่าเป็นสินค้า DLNA certified ผมก็ขอเรียกมันว่าเทคโนโลยี DLNA นี่แหละ

ลักษณะการเชื่อมต่อของ DLNA

dlna-diagram

ภาพจาก : https://gl.access-company.com/products/itelectoronics/livingconnect/dlna_use_cases/

ตัว DLNA นั้นเป็นเทคโนโลยีที่เน้นการใช้งานในพื้นที่ส่วนตัว สมชื่อ Digital Living (แรกเริ่มมีชื่อว่า Digital Home Working Group ด้วยซ้ำ) ใช้หลักการของ Universal Plug and Play (uPnP) ที่ใช้อินเตอร์เน็ตวงเดียวกันเพื่อค้นหาอุปกรณ์และสั่งงาน การทำงานของ DLNA นั้นจะเป็นลักษณะของการชี้เป้าให้อุปกรณ์แสดงผลสามารถดึงข้อมูลจากอุปกรณ์อีกตัวผ่านวง LAN เดียวกัน เช่น ให้ทีวีดึงหนังจากฮาร์ดดิสก์ NAS มาเล่น หรือการเอาเพลงจากมือถือไปเล่นบนลำโพงที่รองรับ โดยอุปกรณ์ที่สั่งงานนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดอยู่ตลอดเวลา สำหรับจุดด้อยของ DLNA คือไม่สามารถดึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตภายนอกโดยตรงไม่ได้ จะเป็นการเอาข้อมูลที่เข้าถึงได้ในวง LAN เท่านั้น

Apple TV (AirPlay)

Apple TV นั้นเป็นอุปกรณ์ของทางแอปเปิลที่ผลิตออกมาเพื่อเชื่อมต่อให้ทีวีมีความสามารถมากยิ่งขึ้น ทั้งด้วยระบบปฏิบัติการ tvOS ในตัวและเทคโนโลยี AirPlay แต่ผมจะจับในแง่ของ AirPlay ที่เป็นการเชื่อมต่อไร้สายมาพูดถึง

apple-tv-airplay

พูดถึง AirPlay ก็เล่าประวัติหน่อยแล้วกัน ตั้งแต่แรกก่อน AirPlay จะกำเนิดขึ้นมานั้นแอปเปิลเคยพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบที่ชื่อว่า AirTunes ขึ้นมาในช่วงปี 2004 แต่ความสามารถ ณ ตอนนั้นสามารถทำได้แค่การส่งไฟล์เสียงไปเล่นบนเครื่องเล่นเท่านั้น จนมาถึงปี 2010 ที่แอปเปิลได้เปิดตัว AppleTV และ AirPlay ที่สามารถส่งสัญญาณภาพและเสียงพร้อมกันได้

airplay-device

สำหรับ AirPlay บน Apple TV นั้นจะสามารถใช้งานได้ทั้งหมด 2 รูปแบบ นั่นก็คือ

1. รูปแบบการสตรีม หรือก็คือตัวที่เรียกว่า AirPlay เปล่าๆ นั่นแหละ สามารถสตรีมวิดีโอ,เพลง จากเครื่อง หรือผ่านแอปที่
รองรับไปเข้า Apple TV เพื่อแสดงบนทีวี ระหว่างนั้นอุปกรณ์ที่สั่งก็สามารถใช้งานอย่างอื่นได้ รวมถึงใช้เป็นรีโมทได้

2. รูปแบบ Mirroring หรือ AirPlay Mirroring แสดงภาพจอของอุปกรณ์บนหน้าจอทีวีที่ต่อกับ Apple TV โดยโหมดนี้จะเป็นการถ่ายทอดภาพ เราจิ้ม ขยับอะไรในอุปกรณ์ ก็จะแสดงผลบนจอทีวีเหมือนกัน เพียงแต่จะซ่อนเมนูบางอย่างออกให้ เช่น สถานะเครื่อง (แบต, สัญญาณ Wi-Fi)
แต่ข้อด้อยที่ต้องพูดถึงของ Apple TV ก็คือการที่รองรับการเชื่อมต่อแค่กับอุปกรณ์ Apple เท่านั้น หรือก็คือใช้ได้แค่กับระบบ iOS กับ Macbook อุปกรณ์อื่นๆ จากฝั่ง PC, Android มาใช้ร่วมไม่ได้

Miracast

เทคโนโลยี Miracast นั้นเรียกว่าเป็น AirPlay สำหรับอุปกรณ์ทั่วไปก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีนี้ก็มีส่วนคล้ายกับ AirPlay ของทางแอปเปิล ชื่อ Miracast นั้นถูกประกาศขึ้นในปี 2012 โดยกลุ่ม Wi-Fi Aliance เทคโนโลยีเบื้องหลังของ Miracast ก็คือ Wi-Fi Direct นั่นเอง ทำให้ไม่จำเป็นต้องต่อเข้า Router เรียกได้ว่าเหมอนกับ Wireless HDMI ก็ว่าได้ แล้วก็มีการผลักดันกันในอุตสาหกรรมเกิดขึ้น โดยทาง Google เองก็ทำให้ Android 4.2 ขึ้นไปรองรับการใช้ Miracast ด้วย

miracast-logo

การทำงานของเทคโนโลยี Miracast นั้นจะเป็นลักษณะของ Screen Mirrioring คล้ายกับโหมด AirPlay Mirroring ของบน Apple TV ต่างกันตรงที่อุปกรณ์ที่จับคู่กันไม่จำเป็นต้องต่อ Wi-Fi ในวงเดียวกัน และหน้าจอที่ Miracast ส่งไปขึ้นทีวีนั้นจะเป็นการแสดงผลแบบเหมือนกันเป๊ะๆ แถบแสดงสถานะของเครื่อง แถบควบคุมวิดีโอ/เสียง ก็แสดงขึ้นไปหมด เมื่อนำไปเทียบกับผลที่ได้บน Apple TV จุดนี้จึงกลายเป็นข้อด้อยของ Miracast ไปโดยปริยาย

miracast-sample

ภาพจาก: Sam Churchill, http://www.flickr.com/photos/samchurchill/8135967427

แม้ว่าผู้ผลิตจำนวนมากจะนำเทคโนโลยี Miracast ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ตัวเองอย่างแพร่หลาย แต่ทว่า ด้วยเหตุที่ Miracast นั้นไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ชัดเจนทั้งในเรื่องของ Latency (ช่วงเวลาหน่วง) ที่ไม่ได้กำหนดเพดานสูงสุดไว้, การใช้งานอุปกรณ์เสริมบางอย่างที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างผู้ผลิตมาเจอกันแล้วใช้งานไม่ได้ และการตั้งชื่อของผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็เละเทะจนผู้ใช้ไม่รู้ว่ามันคือเทคโนโลยี Miracast ตัวเดียวกัน ตัวอย่างเช่น LG ใช้ชื้อว่า SmartShare, Samsung ใช้ชื่อว่า AllShare Cast, Panasonic ตั้งชื่อว่า Display Mirroring และ Sony ก็ตั้งว่า Screen Mirroring

miracast-android

เมนู Screen Mirroring ที่เป็นการใช้ Miracast บน Xperia

อย่างไรก็ตาม ถึงเราจะเห็นว่า Miracast ดูมั่วซั่ว แต่อุปกรณ์ในปัจจุบันจำนวนมาก็ยังรองรับเทคโนโลยีนี้อยู่ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะจุดเด่นของมันคือไม่จำเป็นต้องใช้ Router เป็นตัวกลางนั่นเอง

Chromecast (Google Cast)

มาถึงตัวสุดท้ายที่เราจะจับมาเปรียบเทียบนั่นก็คือ Chromecast ที่เพิ่งจะเข้ามาขายในไทยเมื่องาน Thailand Mobile Expo ต้นเดือนที่ผ่านมานี้เอง ทำให้มีหลายๆ คนสงสัยว่ามันแตกต่างกับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างไรบ้าง ทางเราเคยจับเปรียบเทียบกับ Android Box ไปแล้ว คราวนี้จับมาเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่คล้ายๆ กันบ้าง

chromecast-color

มาย้อนประวัติกันไปสักนิดหน่อยก็แล้วกันครับ ตัว Chromecast รุ่นแรกสุดนั้นถูกเปิดตัวในช่วงกลางปี 2013 หลังจากเทคโนโลยี Miracast เปิดตัวไปได้ไม่ถึงปีดี ก็ชวนให้คิดว่าสงสัย Google จะไม่ถูกใจกับ Miracast ล่ะมั้งถึงได้มาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแทน และผลลัพธ์ออกมาก็เรียกว่าเป็นตัวแทนของ Apple TV สำหรับอุปกรณ์ที่ไม่ของแอปเปิลเลยก็ว่าได้ เพราะลักษณะการทำงานก็สามารถทำงานได้ 2 แบบเหมือนกัน คือ

1. Cast Screen / Audio ที่เป็นการแสดงภาพหน้าจอแบบ Mirror หรือก็คือการทำ Screen Mirroring นั่นเอง

2. Cast หรือก็คือการ Stream ที่สั่งการผ่านแอปที่รองรับให้ Chromecast ดึงข้อมูลจากอุปกรณ์ไปแสดงภาพ/เสียงบนเครื่องที่ Chromecast ต่ออยู่ หรือให้ Chromecast ดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต (Cloud) มาแสดงผลเองแบบไม่อิงกับเครื่องเราก็ได้เช่นกัน

chrome-cast-setup

Chromecast ตัวที่มีนำเข้ามาขายในไทยตอนนี้นั้นจะเป็น Chromecast รุ่นที่ 2 ที่เปิดตัวในปี 2015 ที่ผ่านมา มีการปรับหน้าตาและการออกแบบต่างจากตัวแรกไปพอสมควร และนอกจากรุ่นนี้แล้วก็ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันอีกคือ Chromecast Audio ที่ออกแบบมาเพื่อ Cast Audio อย่างเดียวสำหรับส่งให้เครื่องเสียงโดยมีจุดเด่นคือมันมี DAC แยกในตัวด้วย และล่าสุดก็มี Chromcast Ultra ที่ออกแบบมาสำหรับการส่งภาพระดับ 4K ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา

ร่ายมาซะยาว หลายคนอาจจะอ่านเพลินจนลืมไปแล้วว่าตัวเก่าที่เพิ่งอ่านมันเป็นอย่างไรบ้าง (ฮา) ผมก็เลยเตรียมตารางเปรียบเทียบมาให้อ่านง่ายๆ

ชื่อเทคโนโลยีDLNAAirPlayMiracastGoogle Cast
อุปกรณ์อุปกรณ์ที่ได้ DLNA certified มีทั้ง มือถือ, ทีวี, เครื่องเสียงAppleTV, ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ iOS, Macbookอุปกรณ์ที่รองรับ SmartShare, Allshare Cast, Screnn Mirroring, Display Mirroring หรืออื่นๆ เพราะแต่ละผู้ผลิตใช้ชื่อต่างกันไปChromecast, อุปกรณ์อื่นๆ ที่รองรับเทคโนโลยี Google Cast
การเชื่อมต่อWi-Fi หรือผ่านสาย LAN (เช่น ทีวีรุ่นเก่าหน่อยที่ต้องเสียบ LAN เพื่อออนไลน์)Wi-Fi, LAN, ต่อ HDMI เข้าทีวีไม่ต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือ LAN แต่อุปกรณ์รับและส่งต้องรองรับ Miracast ลักษณะการส่งข้อมูลเป็น Wi-Fi DirectWi-Fi, ต่อ HDMI เข้าทีวี หรือ หน้าจอแสดงผล
รูปแบบการทำงานเข้าถึงข้อมูลวิดีโอ, เพลง, ภาพ ที่อยู่ในวง LAN เดียวกัน เพื่อนำมาเล่นหรือแสดงผลในอีกเครื่องหนึ่งแสดงภาพหน้าจอจากอุปกรณ์บนจอที่ต่อกับ AppleTV หรือสตรีมวิดีโอ, ภาพ, เสียง จากแอปที่รองรับแสดงภาพหน้าจอของอุปกรณ์บนทีวีหรืออุปกรณ์อื่นที่รองรับ Miracastแสดงภาพหน้าจอจากอุปกรณ์บนจอที่ต่อกับ Chromecast หรือสตรีมวิดีโอ, ภาพ, เสียง จากแอปที่รองรับ
คุณภาพของภาพDLNA ไม่ได้กำหนดไว้ เข้าใจว่าขึ้นกับไฟล์และการรองรับของอุปกรณ์ที่แสดงผล, DLNA มีหน้าที่แค่ส่งข้อมูลให้ความละเอียดสูงสุด Full-HD (1080p) 60fpsความละเอียดสูงสุด Full-HD (1080p)ความละเอียดสูงสุด Full-HD (1080p) 30fps, HD (720p) สูงสุด 60fps
คุณภาพของเสียงDLNA ไม่ได้กำหนดไว้ เข้าใจว่าขึ้นกับไฟล์และการรองรับของอุปกรณ์ที่แสดงผล, DLNA มีหน้าที่แค่ส่งข้อมูลให้ความละเอียดสูงสุดเท่า ALAC (CD Quality, 16 bit, 48kHz) หากสตรีมคุณภาพสูงกว่า CD Quality จะถูก downsampling เหลือ 44.1kHz, ถ้าเป็น AirPlay ไปยังเครื่องเสียงบางรุ่นอาจะได้ความละเอียดสูงกว่า Apple TVประเภทไฟล์ LPCM 16 bit 48kHz 2 channel, AAC, AC3, ระบบเสียงสูงสุด 5.1 channelขึ้นกับไฟล์และการรองรับของอุปกรณ์ที่แสดงผลและข้อจำกัดของสาย HDMI เพราะ Chromecast เป็นตัวรับไฟล์มาป้อนเข้าผ่าน HDMI อีกทีหนึ่ง

ถ้าดูจากตารางเราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วตัว DLNA นั้นถ้าเป็นไปตามทฤษฎีจะดูค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องของคุณภาพวิดีโอและเสียงมากกว่าตัวอื่นๆ แต่ประสิทธิภาพก็ขึ้นกับ Network ที่เชื่อมต่ออยู่ด้วยว่ามีกำลังส่งมากขนาดไหน ส่วนการใช้ AirPlay บน Apple TV นั้นก็มีความสามารถมากไม่แพ้กับการใช้ Google Cast ของ Chromecast เลย เพียงแต่ AirPlay นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับ ecosystem ของผลิตภัณฑ์แอปเปิลเท่านั้น ทำให้อุปกรณ์อื่นๆ อดใช้ไป จึงทำให้ Chromecast กลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของแอปเปิลนั่นเอง

ส่วน Miracast นั้นดูจะเป็นเทคโนโลยีไร้สายที่แตกต่างจากพวกที่สุดแล้ว เพราะทั้ง 3 อย่างที่กล่าวไว้ย่อหน้าที่แล้วล้วนแต่ต้องพึ่งพา Router ในการเป็นตัวกลางส่งข้อมูลให้อุปกรณ์ต่างๆ แต่ตัว Mircast จะเป็นลักษณะการส่งด้วย Wi-Fi Direct ที่เป็นการเชื่อมต่อเป็นคู่ๆ ไป หรือเรียกว่า peer-to-peer นั่นเอง ในเชิงการใช้งานนั้นถือว่ามีความสะดวกกว่าเล็กน้อยเพราะไม่ต้องเชื่อมต่อกับ Network แต่ก็มีข้อด้อยที่ความสามารถของมันเอง ที่ทำได้แค่เพียงการส่งภาพหน้าจอไปแสดงเท่านั้น

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบทความเปรียบเทียบเทคโนโลยีการส่งข้อมูลไร้สายนี้ หวังว่าเพื่อนจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมไป รวมถึงใครที่สนใจหามาใช้อยู่ก็น่าจะได้เปรียบเทียบไปเลยว่าข้อดีข้อด้อยของแต่ละเทคโนโลยีนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีคำถาม ข้อสงสัย หรือข้อมูลตรงไหนที่ผมผิดพลาดไปก็สามารถมาคอมเมนท์บอกกันได้เลยครับ 🙂


อ้างอิง