กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) ยื่นข้อเสนอต่อศาลเมื่อวันพุธ (8 ต.ค.) ให้ Alphabet แยกบริษัทหรือขายธุรกิจบางส่วนออกจากกูเกิล หลังศาลตัดสินให้กูเกิลแพ้คดีผูกขาดบริการค้นหาที่ฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2020 ไปเมื่อเดือนสิงหาคม ตัวอย่างธุรกิจที่อยู่ในข่ายคือ ระบบปฏิบัติการ Android เบราว์เซอร์ Chrome และแพลตฟอร์ม Google Play ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวพันกับการสร้างรายได้จาก Google Search ทั้งสิ้น
แนวทางข้างต้น เป็นมาตรการขั้นรุนแรงที่สุด โดย DOJ ยังเสนอแนวทางอื่น ๆ ที่เบากว่าควบคู่ไปด้วย อาทิ
- กูเกิลต้องจัดทำดัชนี ข้อมูล ฟีด และโมเดลระบบค้นหา ให้คู่แข่งเข้าถึงได้ผ่าน API
- กูเกิลห้ามพรีโหลดแอป Google Search ล่วงหน้ามาจากโรงงาน
- กูเกิลห้ามทำข้อตกลงแบ่งปันรายได้กับบริษัทพาร์ตเนอร์ แม้จะมีหรือไม่มีหน้าจอ choice screen ให้ผู้ใช้งานกำหนดเครื่องมือค้นหาหลักบนเครื่องได้เองก็ตาม (แบบเดียวกับที่กูเกิลทำอยู่ในยุโรป) เป็นต้น
กูเกิลจวก DOJ ข้อเสนอเลยเถิดไปไกล
ฟากกูเกิล ออกแถลงการณ์ตอบโต้ในวันนี้ (9 ต.ค.) โดยตำหนิข้อเสนอของ DOJ ว่าเป็นอะไรที่เกินเลยประเด็นทางกฎหมายในคดีไปแล้ว พร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อเสียที่จะตามมาอีกหลายอย่าง
เช่น รูปแบบธุรกิจของ Chrome อาจเปลี่ยนไป หากกูเกิลถูกบังคับให้ขาย จากที่เคยเปิดให้ใช้ฟรีและเป็นโอเพนซอร์ส ก็อาจจะไม่ฟรีและไม่เป็นโอเพนซอร์สอีกต่อไป ส่งผลกระทบต่อเว็บเบราว์เซอร์อื่น (ที่ใช้โค้ดของ Chrome เป็นฐาน) ในวงกว้าง ไม่ต่างอะไรกับการทำลายทั้ง Android และ Google Play ทางอ้อม และจะทำให้กูเกิลต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับ iOS และ App Store ของแอปเปิลไปด้วย ทุกอย่างจะล้มต่อกันเหมือนโดมิโน
ส่วนข้อเสนอที่กำหนดให้กูเกิลต้องแบ่งปันข้อมูลกับคู่แข่ง กูเกิลก็มองว่าสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เพราะกูเกิลไม่มีทางรู้ว่าบริษัทที่นำข้อมูลไปใช้ต่อ มีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดแค่ไหน การนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ดังนั้นกูเกิลจะยื่นข้อโต้แย้งคัดค้านข้อเสนอของ DOJ ในศาล เพื่อให้ผู้พิพากษาพิจารณาข้อปฏิบัติใหม่อีกครั้งในลำดับถัดไป
Comment