อย่างที่เราทราบกันดีว่า บ้านเรามีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่รู้หรือไม่ว่ารายได้ส่วนใหญ่จากการท่องเที่ยวมักกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองดัง อีกทั้งยังเจอวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวในบ้านเรานั้นขาดสมดุลมากว่า 2 ปี แต่ตอนนี้ที่สถานการณ์โรคร้านเริ่มดีขึ้น ความต้องการท่องเที่ยวจากทั้งคนในประเทศ และต่างประเทศต่างพุ่งสูง จึงกลายเป็นโอกาสดีที่จะสร้างสมดุลเพื่อกระจายนักท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังเมืองรอง แต่คำถามคือ “เราจะดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองยังไงดี ?”

ดีแทค จึงได้ถือโอกาสนี้ร่วมจับมือกับ สถาปัตย์จุฬาฯ และบุญมีแล็บ เพื่อวิจัยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเมืองรองโดยใช้ชุดข้อมูล และสถิติขนาดใหญ่ Mobility Data เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการเดินทาง และการกระจุกตัวของผู้คนในแต่ละพื้นที่มาใช้ เพื่อวางแผน และพัฒนานโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของไทย ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ได้ใช้ชุดข้อมูลในระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 ซึ่งเผยให้เห็นว่า

  • ภาพรวมนักเดินทางเป็นเพศชายกว่า 40% และเพศหญิงประมาณ 35% และไม่ได้ระบุเพศอีก 25% 
  • 54% ของนักเดินทางเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 
  • นักเดินทางส่วนใหญ่ 47% อยู่ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอายุ 21 – 40 ปี ตามมาด้วยกลุ่มวัยกลางคนอายุ 41 – 60 ปี กว่า 35%, วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 14% และ 4% เป็นวัยเด็ก และเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
  • นักท่องเที่ยวในช่วง COVID-19 เดินทางแบบพักค้างถึง 67% และเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับประมาณ 33%

ส่องดาต้าสู่ดีไซน์แผนท่องเที่ยวกระตุ้น “เมืองรอง”

หลังจากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูล Mobility data แล้วก็ได้ผลสรุปออกมาเป็น 3 แนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง นั่นก็คือ

  1. ดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้ (Micro-tourism)
    Micro tourism เป็นการท่องเที่ยวระยะใกล้ ๆ 150 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง แบบไปเช้า-เย็นกลับ เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ เช่นการปลูกข้าว สอนทำอาหารท้องถิ่น รวมถึงเข้ามาชิม ช้อป ใช้สินค้า และบริการท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองรองนั้น ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ดี ๆ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวซ้ำ
  2. พัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism)
    Experience-based overnight tourism เป็นแนวทางการท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์ค้างคืนแบบแปลกใหม่สู่เมืองรอง เช่น การแคมป์ปิ้ง เพื่อเพิ่มอัตราการใช้จ่าย เพิ่มเวลาค้างคืน เพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้จับจ่ายซื้อสินค้า และบริการเพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ และชุมชน รวมถึงสร้างฐานแฟนคลับเมืองรอง ให้เหล่านักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวอีกครั้ง
  3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster)
    Tourism Cluster เป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเพิ่มจุดหมายเที่ยวเมืองรองใกล้เคียงหลาย ๆ จังหวัดใน 1 ทริป เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในจังหวัดเมืองรอง และเมืองรองอื่น ๆ ใกล้เคียง

ผ่าโมเดล Micro-tourism ญี่ปุ่น

Micro-tourism ถือเป็นการท่องเที่ยวโมเดลหนึ่งที่หลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะใน ประเทศญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศคิดเป็น 60% และได้ส่งเสริมให้ประชาชนท่องเที่ยวไปในจังหวัดที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อชมธรรมชาติ เมืองเก่า และสวนเกษตรกรรม โดยใช้เวลาเดินทางแค่ 1 – 2 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อเป็นการกระจายรายเข้าสู่ท้องถิ่น และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างสร้างสรรค์

ลดความเปราะบางภาคท่องเที่ยว 

ในปีช่วงปี 2000 เมื่อการท่องเที่ยวในประเทศเติบโตขึ้น และไม่อยากให้ผู้ประกอบมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตสินค้าและบริการ ญี่ปุ่นจึงคิดพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว Micro-tourism ที่จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการผลิตภายในระยเวลาสั้น ๆ โดยที่ฝั่งผู้ประกอบการเตรียมแค่วัตถุดิบ และอุปกรณ์ และสอนให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำจนกลายมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้แบบเช้าไปเย็นกลับ เช่น การจัดกิจกรรมเรียนรู้ทำเส้นอุด้ง ที่นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมลงมือทำจริง ๆ และได้เรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมทางอาหาร เป็นความประทับใจทำให้อยากกลับมาเที่ยวอีก

นอกจากนี้แล้ว เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากจังหวัดข้างเคียงเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำในพื้นที่บ่อย ๆ จึงต้องมีการปรับปรุงพื้นที่เมืองให้มีทัศนียภาพสวยงาม และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเมืองให้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น ทางเดินและทางจักรยาน ระบบขนส่งมวลชน ห้องน้ำสาธารณะ และพัฒนาคุณภาพการบริการในร้านค้าต่าง ๆ รวมไปถึงการคิดค้นของฝากที่มีแค่ในเมืองนั้น ๆ ที่เดียว ซึ่งสิ่งเหล่านอกจากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดโดยรอบแล้ว ยังสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนในเมืองอีกด้วย

เพราะเหตุนี้การท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism อาจเป็นแนวทางที่น่าจะนำมาปรับใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองในประเทศไทยได้ หลังจากนี้ภาคส่วนต่าง ๆ อาจต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศให้เร็วที่สุดในช่วงที่กำลังฟื้นตัวจาก COVID-19 หากประเทศไทยสามารถส่งเสริม และกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองต่าง ๆ จะช่วยให้เรามีโอกาสต่อยอดเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างมั่นคงในอนาคต

ทั้งนี้หากใครยังมีข้อสงสัยว่า Mobility Data คืออะไร สามารถศึกษาข้อมูลแบบละเอียดในบทความเก่า ๆ ที่เราเคยเขียนไว้ได้เลยครับ

ตัวอย่างนำใช้ Big Data มาใช้จริงในไทย! รวมข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรจากเครือข่ายมือถือ เพื่อวางแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยว