ในปัจจุบัน บริการสื่อบันเทิงจากต่างประเทศ เช่น เกมออนไลน์ บริการสตรีมเพลง สตรีมหนัง เริ่มจะได้รับความนิยมในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากประเทศเรา แต่บริษัทเหล่านี้หาได้เสียภาษีเข้าประเทศเราไม่ กรมสรรพสามิตที่รับผิดชอบด้านนี้อยู่จึงเตรียมมองหาแนวทางสำหรับการออกกฏหมายเพื่อจัดเก็บภาษีสื่อเหล่านี้สร้างรายได้เข้าประเทศและความเท่าเทียมให้แก่บริษัทที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง

ดังที่ทราบกันว่าบริษัทผู้ให้บริการสื่อดิจิทัลหลายเจ้า ไม่ว่าจะ Google Facebook YouTube Netflix หรือ Spotify ที่มีผู้ใช้คนไทยจำนวนมากจ่ายเงินรายเดือน หรือซื้อโฆษณา ต่างไม่มีการจ่ายภาษีให้รัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไหร่นัก ด้วยความที่บริษัทเหล่านี้ส่วนมากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอยู่ที่ต่างประเทศ จะตามเก็บรายได้ทั้งหมดก็เป็นไปได้ลำบาก  และจำนวนรายได้ก็เพิ่มมากขึ้นทุกวันตามจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น  โดยกรมสรรพสามิตซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีด้านนี้ก็ทราบดีถึงปัญหา และกำลังศึกษาแนวทางสำหรับการจัดเก็บภาษีบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเกมออนไลน์ ผู้ให้บริการเพลงและหนังจากต่างประเทศ ที่มีการเปิดรับสมาชิกจ่ายเงินเป็นรายเดือนหรือจ่ายซื้อไอเท็ม สิ่งของต่างๆเป็นครั้งก็ตาม ซึ่งบริการที่ว่ามาทั้งหมดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย บริษัทต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ให้แก่รัฐ เช่นเดียวกับภาษีที่ถูกจัดเก็บจากโรงหนังต่างๆ (ซึ่งภาษีส่วนนี้จะเรียกว่า “ภาษีมหรสพ”) นั่นเอง

ภาษีไม่เก็บจากผู้ใช้ แต่ก็ส่งผลค่าบริการแน่นอน

ภาษีมหรสพที่บริษัทต่างประเทศต้องจ่ายนี้ ตามกฎหมายคือกรมสรรพสามิตไม่สามารถจัดเก็บจากประชาชนได้ ต้องเป็นการเรียกเก็บจากบริษัทผู้ให้บริการเท่านั้น อย่างไรก็ดีเป็นอันรู้กันว่าภาษีเหล่านี้เมื่อถูกจัดเก็บ สุดท้ายก็จะถูกบริษัทเหล่านี้คิดเป็นต้นทุนค่าให้บริการไปด้วย จึงมีความกังวลกันว่าหากมีการจัดเก็บที่ 15% ตามที่มีข่าวออกมาจริง จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆพุ่งสูงขึ้นไปอีกหรือไม่ จากที่ค่าบริการรายเดือนต่างๆอยู่ที่เฉลี่ยราว 300-400 บาท ก็อาจจะพุ่งขึ้นไปเป็น 350 – 500 บาท ได้เลย

เกมส์ออนไลน์อาจไม่ได้รับผลกระทบ หากถูกจัดให้เป็นกีฬาอีสปอร์ต

ส่วนในด้านการเก็บภาษีจากเกมหรือกีฬาอีสปอร์ต (E-Sport) มีการให้ข้อมูลว่าอาจจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เนื่องจากอีสปอร์ตถูกจัดให้อยู่ในรูปแบบของกีฬาตาม พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีภาษีที่ต่างออกไป อย่างไรก็ดีการเก็บภาษีเกมออนไลน์ต่างๆ Server ของผู้ให้บริการ ส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรไม่มีอำนาจไปจัดเก็บภาษีตรงนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยมีผลการวิจัยของสภาพัฒน์ฯพบว่าผู้เล่น E-Sports ในประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวนมาก ราว 18.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรเข้าไปแล้ว (มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ด้วย) โดยในจำนวนนี้มีผู้ชมการแข่งขันอีสปอร์ตอยู่ราว 2.6 ล้านคน และน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า ปัจจุบันมีการใช้จ่ายในตลาดเกมสูงถึง 22,000 ล้านบาท คิดเป็นอันดับ 19 ของโลกเลยทีเดียว

การีน่าหนึ่งในผู้บุกเบิกการแข่งขันอีสปอร์ต ที่มีเงินรางวัลเดิมพันรวมหลายสิบล้านบาท

จากข่าวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมุมไหน เพราะผู้ให้บริการสื่อออนไลน์จากต่างประเทศเหล่านี้ก็เข้ามาหารายได้ในบ้านเรา โดยที่ไม่ได้เสียภาษีให้กับไทยอย่างจริงจัง แต่ถ้ามองอีกมุม หากสามารถเก็บภาษีจากผู้ให้บริการเหล่านี้ได้ ผลกระทบก็อาจจะตกมาอยู่กับผู้บริโภคอย่างเราๆ แทนอะนะ

 

เรื่องนี้เราได้เคยเขียนอธิบายเอาไว้แล้วครั้งหนึ่ง ถ้าใครสนใจสามารถติดตามอ่านต่อได้

Facebook, Google และบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ไม่เสียภาษี? ทำไมทำได้? ประเทศต่างๆยอม?

 

 

 

ที่มา: มติชน