ปัจจุบันหลายประเทศรวมถึงไทยเรา มีการเพ่งเล็งเหล่าผู้ให้บริการเนื้อหาแบบแบบไม่มีเครือข่ายของตัวเองหรือที่เรียกกันว่า Over-the-Top (OTT) ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Facebook – YouTube – LINE – Netflix หรือ Spotify เพราะบริษัทเหล่านี้ถูกมองว่าเลี่ยงภาษีที่ควรจะจ่ายหลายแสนล้านบาท วันนี้เราจะมาสรุปเรื่องราวเพิ่มเติมให้เพื่อนๆเห็นภาพกัน

Tech Firms ชั้นนำ กับภาษีที่ไม่ถึงกับเลี่ยง แค่หลบๆ

อันที่จริงประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดกับบรรดารัฐบาลของหลากหลายประเทศทั่วโลก ที่สื่อออนไลน์ หรือ บริษัทเทคฯชั้นนำของโลกเข้าไปเปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น Apple – Google – Facebook – หรือ Amazon ก็ผ่านข่าวลือ ข่าวฉาวเรื่องกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีกันมาแล้วทั้งนั้น หนักหน่อยก็ Google ที่ช่วงปีหลังๆเห็นว่าทำเอารัฐบาลชาติพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเจ้าของสัญชาติอย่างอเมริกาเอง สูญเสียเงินได้จากภาษีไปหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว 😆 เพราะฉะนั้น แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่กสทช.บ้านเราที่รู้สึกว่าสูญเสียเงินได้ไปจากการให้บริการของธุรกิจกลุ่มนี้จนต้องพยายามวางแนวคิด หรือ กฏหมายออกมาเพื่อปรับใช้ให้ทันกับรายได้อันมหาศาลของบริการเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอังกฤษในปี 2015 พบว่า Google เสียภาษีราวๆ 625 ล้านบาท Apple เสียภาษีราวๆ 600 ล้านบาท Amazon เสียภาษีราวๆ 500 ล้านบาท และ Facebook แสบสันเสียภาษีที่ราวๆ 2 แสนบาทเท่านั้น ทั้งๆที่ 4 ยักษ์นี้รวมกันทำรายได้เอาไว้ในประเทศอังกฤษกว่า 1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว  😯  นั่นเป็นที่มาของกฏหมายที่ชาวอังกฤษเรียกกันว่า Google Tax กับความพยายามบังคับเก็บภาษีรายได้ให้อยู่ในประเทศสำหรับ บริการกลุ่มนี้ที่ราวๆ 25% นั่นเอง

ตัวอย่างใบเสร็จจาก Google, Facebook, Adobe ที่ต่างมีออฟฟิศในไทย  แต่ถ้าใครใช้บริการจะเห็นว่ากลับออกมาให้เป็นบริษัทในต่างประเทศซะงั้น

รายได้รัฐที่หายไป กลายเป็น “รายได้เขย่ง” ไปโผล่อีกรัฐหนึ่งซะอย่างงั้น

สำหรับวิธีการของบริษัทข้ามชาติพวกนี้ ค่อนข้างก้ำกึ่งว่าจะเป็นการเลี่ยงภาษีหรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับนิยามของกฏหมายเทคนิคของแต่ละชาติว่าจะละเอียดมากพอที่จะครอบคลุมไปทำให้ การโยกย้ายรายได้ หรือ ตัวเลขทางบัญชี จากการให้บริการในประเทศไปเป็นรายได้ของบริษัทในเครือของอีกชาติหนึ่งได้หรือไม่ เพราะอย่างที่เป็นปัญหากันอยู่ก็คือ รายได้ของบริษัทข้ามชาติชั้นนำที่มีลักษณะการให้บริการแบบ cloud หรือบนสื่ออนไลน์ทั้งหลายนั้น ถูกโยกย้ายโดยออกบิลหรือค่าบริการให้เงินได้ไปอยู่ที่ประเทศปลายทางซึ่งมีอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต่ำมาก อย่างเช่น ไอร์แลนด์ หรือ สิงคโปร์ ที่มีการจัดเก็บภาษีที่ต่ำเพียง 12.5% และ 17% ตามลำดับ (ประเทศไทยอยู่ที่ 20%)

  • ประเทศกลุ่มที่มีปัญหา มีการจัดเก็บภาษีที่อัตรา 20 – 30%
  • ประเทศปลายทาง มีการจัดเก็บภาษีที่อัตรา 12.5 – 17%

เหล่า Tech Giants ข้ามชาติพวกนี้มีวิธีการยอดฮิตคือ ใช้ชื่อบริษัท/นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศปลายทาง แล้วออกบิลเพื่อเป็นการให้บริการจากประเทศปลายทางนั้นๆ ซึ่งทำให้รายได้เกิดขึ้นนอกประเทศที่เกิดทราฟฟิกหรือการใช้บริการกันจริงๆ เช่น เรานั่งดูสตรีมมิ่ง กันอยู่ที่ประเทศไทย ดูคอนเท้นต์ก็ของไทย จ่ายด้วยบัตรเครดิตไทย แต่บางที ดันเป็นการให้บริการจากประเทศสิงคโปร์ซะอย่างนั้น กรณีแบบนี้ทำให้ประเทศที่เกิดการบริโภคบริการประเภทนี้เสียประโยชน์จากรายได้ทางภาษีเป็นอย่างมากนั่นเอง

อย่างไรก็ดีเรื่องของภาษี แม้ว่าจะหลบเลี่ยงสักเท่าไหร่ แต่มันก็เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันแตก เพราะในหลายประเทศก็เริ่มไหวตัวพร้อมออกมาตรการในการจัดเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงการเก็บย้อนหลังซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งถ้าใครติดตามเรื่องนี้ก็จะทราบว่าเหล่า Tech Giant ต่างอ่วมกันไม่น้อยเหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมจ่าย เพราะรายได้จากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีจำนวนที่สูงเกินกว่าที่จะเสียไปได้นั่นเอง ซึ่งในภูมิภาคเราก็เพิ่งมีอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จในการตกลงเรื่องภาษีกับ Google ซึ่งกวาดเงินเข้ารัฐไปได้กว่าหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

สาเหตุไทยปิ๊งไอเดีย เมื่อเก็บภาษีไม่สำเร็จ ก็เก็บค่าใช้ data ซะเลยสิ

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย หากเราพยายามทำความเข้าใจกับไอเดียสุดบรรเจิดของภาครัฐ 😀 อย่างที่ กสทช. เล็งจะเก็บค่าธรรมเนียมจากปริมาณเดต้าของผู้ให้บริการ OTT ทั้งหลายนั้น จึงอาจพอเข้าใจที่มาที่ไปได้ว่า เป็นเพราะรูปแบบการให้บริการโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจนกฏหมายที่ใช้กันมานั้นครอบคลุมไม่มากพอ ไม่สามารถไปบังคับใช้ได้เลย เช่น หากเรามองเฉพาะแค่มูลค่าสัดส่วนการซื้อโฆษณาของคนไทยผ่าน Google – Facebook – LINE – YouTube ช่วงปีที่ผ่านมาก็กินมูลค่าไปกว่า 9,000 ล้านบาทแล้ว โดยที่บริษัทพวกนี้มีเพียงสำนักงานสาขาที่ดูแลและจัดการเรื่องบริการไม่ใช่เป็นแหล่งเรียกรับรายได้เพื่อการเสียภาษีแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นการส่งผลในระยะยาวที่รัฐจะสูญเสียโอกาสไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ธุรกรรมจริงของการให้บริการอยู่ในประเทศไทย แต่เม็ดเงินกลับไหลออกไปที่อื่น

กดอ่านต่อ กสทช. เล็งเก็บเงิน Facebook – YouTube – LINE – Netflix ใครไม่จ่ายจะถูกจำกัดสปีด สตรีมได้ไม่เต็มคุณภาพ

ปัจจุบันในไทยจึงมี 2 หน่วยงานหลัก ที่พยายามศึกษาถึงความเป็นไปได้ รวมถึงข้อดี – ข้อเสียของการออกมาตรการทางกฏหมายออกมาดูแลเรื่องนี้ นั่นคือ กรมสรรพากรที่กำลังจัดทำร่างกฏหมายจัดเก็บภาษีธุรกิจกลุ่มนี้ โดยอิงหลักการเดียวกันกับ Google Tax – Netflix Tax ของทางยุโรปที่ยึดเอาหลักการเก็บภาษีจาก สินค้าและบริการถูกบริโภคในที่ใด ไม่ใช่การให้บริการถูกส่งมาจากที่ใดอย่างที่เคยเป็น ส่วนอีกรายนึงก็คือ กสทช. ที่เพิ่งจะมีการเผยแนวคิดสุดล้ำให้พวกเราได้ทราบกันไปไม่นาน กับไอเดียเล็งเก็บเงินผู้ให้บริการ OTT โดยเก็บเป็นค่าธรรมเนียมตามปริมาณเดต้าที่ถูกใช้งาน เนื่องจากมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชาติที่ผู้ให้บริการกลุ่มนี้เข้ามาใช้ประโยชน์โดยแทบจะไม่มีรายได้เข้ารัฐอย่างจริงจังเลยนั่นเอง ส่วนว่าจะสามารถเก็บได้หรือไม่ หรือเก็บได้แบบไหน ต้องรอติดตามกันต่อไป เพราะถ้าเกิดว่าทำแบบไม่ระวังก็อาจจะเสียโอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะเข้ามาเจรจาลงทุน พัฒนาบริการสำหรับประเทศเราได้ แต่ถ้าทุกอย่างลงตัว รายได้ที่บริการเหล่านี้ได้รับจากประเทศเรามากพอ กฎต่างๆสมเหตุสมผล เราก็อาจจะสามารถจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับนานาประเทศแล้วนั่นเอง

อ้างอิง: Bangkok Biz | The Verge | PrachachatThairath | Reuters