ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริการวิดีโออย่าง Facebook Netflix  LINE หรือ Youtube ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นบริการที่ใช้ดาต้าสูง กินทราฟิกของอินเทอร์เน็ตภายในประเทศเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กสทช. จึงปิ๊งไอเดียเสนอให้รัฐเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการประเภทนี้ในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าบริการเหล่านี้มีการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศต้องมีการพัฒนาและบำรุงรักษาตลอดเวลา

OTT ต่างๆมีคนใช้บริการและกินดาต้าเยอะแค่ไหน

สำหรับผู้ให้บริการแบบเดียวกับ Facebook Netflix LINE หรือ YouTube นี้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายของตนเอง หรือ Over-the-Top (OTT) ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยทางกสทช. ได้เปิดเผยตัวเลขปริมาณการใช้งานเอาไว้ดังนี้

  • Facebook | 61 ล้านบัญชี | ใช้งาน 655 ล้านครั้ง ต่อเดือน
  • LINE | 55 ล้านบัญชี | ใช้งาน 125 ล้านครั้ง ต่อเดือน
  • YouTube | 60 ล้านบัญชี | 409 ล้านครั้ง ต่อเดือน

รวมปริมาณการใช้งานดาต้าของทั้งประเทศเมื่อปี 2561 ที่ 5.8 ล้านเทราไบต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียง 494,194 เทราไบต์ เท่านั้น และคาดว่าเมื่อเริ่มมีการเปิดใช้งาน 5G ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 2564 จะทำให้ปริมาณการใช้งานสูงขึ้นไปอีกราว 40 เท่า หรือ 200 ล้านเทราไบต์ กันเลยทีเดียว

กสทช. มอง OTT ใช้โครงสร้างพื้นฐานประเทศฟรี ควรต้องจ่ายให้ประเทศบ้าง

โดยต้นเหตุที่ทำให้ทาง กสทช. คิดอยากจะเก็บค่าใช้บริการจาก OTT เหล่านี้ก็มาจากปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนมากจะเกิดจากบริการ OTT เหล่านี้ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศไม่ว่าจะมือถือหรือไฟเบอร์ต่างต้องพยายามพัฒนาปรับปรุง และขยายเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับการใช้งานที่มากขึ้น ซึ่ง OTT ไม่ต้องมีภาระเหล่านี้ โดยหลักการคือ รัฐจะเรียกเก็บเงินตามปริมาณทราฟฟิกที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้งานผ่านโครงข่ายของไทย มีการแบ่งประเภทว่าใช้งานเพื่อธุรกิจหรือไม่ ถ้าเป็นมีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ใช้ปริมาณอินเทอร์เนตมากน้อยระดับไหน โดยถ้าใช้งานไม่มากก็อาจจะไม่เสียเงิน และเมื่อใช้งานไปถึงระดับนึงก็จะคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามปริมาณการใช้งาน ถ้าเจ้าไหนไม่ยอมจ่ายค่าบริการก็จะมีการลดความเร็วการใช้งานลงจนกว่าจะจ่ายค่าบริการค่าโครงข่ายให้กับประเทศ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เหล่านี้ขึ้นมาก็เพื่อหามาตรการในการหารายได้จากบริษัทต่างชาติเหล่านี้ด้วยนั่นเอง

ยังเป็นเพียงแนวคิด ไม่บังคับใช้จริง

ปัจจุบันทั้งหมดนี้เป็นเพียงไอเดียของ กสทช. ที่จะเสนอให้รัฐเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการ OTT เท่านั้น ยังไม่เกิดเป็นร่างกฎหมายขึ้นจริงแต่อย่างใด กสทช. ได้มีการย้ำว่าหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายขึ้นจริง จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการหรือพวกเราทั้งหมด พร้อมทั้งจัดเก็บรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มเติมขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่ากสทช. จะย้ำออกมาเช่นนี้ หลายคนก็เชื่อสุดท้ายคนที่ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆอยู่ดี

สำหรับเรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลายต่างกันออกไป ขึ้นกับมองจากมุมไหน ถ้าคิดว่า กสทช. หาทางทำรายได้เข้าประเทศ จากบริษั่ทเหล่านี้ที่ไม่ได้เสียภาษีให้ไทยแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีการเลี่ยงภาษีที่ค่อนข้างหนัก ทำแบบนี้เพื่อช่วยอุ้มเหล่าธุรกิจในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ หรือบีบให้เข้ามาประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ก็อาจจะมองได้ว่ากสทช. ไม่ได้ทำผิดอะไรนัก แต่ถ้ามองในมุมว่าการเก็บค่าบริการนี้อาจทำให้เหล่า OTT ไม่อยากจะมาลงทุนอะไรเพิ่มเติมก็ถือเป็นความเสี่ยง และการจะบอกว่าพวกเขามาใช้งานโครงสร้างพื้นฐานฟรีๆ ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเหล่า OTT ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้ามีการเรียกเก็บจริง ก็จะกลายเป็นต้นทุนค่าบริการไปเพิ่มเติมและคนที่ต้องแบกรับไปก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆอยู่ดี

 

ที่มา มติชน และ บางกอกทูเดย์ ผ่าน @NBTCrights