นับตั้งแต่บริษัท Alphabet Inc. ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2015 เพื่อดูแลภาพรวมของกิจการในด้านต่าง ๆ ของ Google อย่างเป็นระบบมากขึ้น YouTube ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นอีกแหล่งทำเงินสำคัญในด้านโฆษณาออนไลน์ กลับไม่เคยถูกแจงรายได้ออกมาเฉพาะส่วน แต่จะถูกรวมอยู่กับรายได้จากโฆษณาของ Google Search และ Display Network จนกระทั่งปีล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป Alphabet Inc. ได้ตัดสินใจแจงรายได้ของ YouTube อย่างเป็นทางการ พบว่าทำรายได้ต่อปีเกินกว่า 5 แสนล้านบาทแถมยังคงเติบโตอยู่อย่างแข็งแกร่งมากเสียด้วย

Alphabet Inc. ได้เปิดเผยรายได้รวมตลอดปี 2019 ออกมาแล้วอย่างเป็นทางการโดยจุดสนใจอยู่ที่แพลตฟอร์ม Video Streaming เบอร์ 1 ของโลกอย่าง YouTube ที่ตั้งแต่ให้บริการมาไม่เคยถูกแจกแจงรายได้เฉพาะส่วนสู่สาธารณชน จนกระทั่งปีที่ผ่านมานี้เองมีการเปิดเผยรายได้จากแพลตฟอร์ม YouTube เป็นครั้งแรกโดยทำรายได้ตลอดปีสำหรับ YouTube Advertising (รายได้จากการโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ) 2019 เอาไว้ทั้งสิ้นสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 4.7 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ทางตัวแทนของ Google ยังเผยอีกว่ารายได้สำหรับโฆษณาบน YouTube ของปี 2019 ที่เปิดเผยออกมาในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2018 กว่า 38% และเพิ่มขึ้นจากปี 2017 สูงถึง 86% หรือเกือบเท่าตัวในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ส่วนรายได้หลักของ Google จะยังคงมาจาก Google Search & Others อยู่กว่า 60% ที่ราว ๆ 98,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท คือรายได้จากโฆษณาในช่องทางหลักเดิมทั้งหมดนั่นเอง

เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้มากขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเรา ซึ่งรวมไปถึงโอกาสอีกมากมายในอนาคตจากสาธารณชน พวกเราได้ตัดสินใจที่จะเปิดเผยรายได้ที่แจกแจงตามส่วนของธุรกิจและแพลตฟอร์มให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยครั้งนี้เป็นการแจงรายได้ของธุรกิจ Search, YouTube Ads และ Cloud ออกจากกัน – Ruth Porat | Chief Financial Officer ของ Alphabet Inc.

YouTube is the New TV | เม็ดเงินโฆษณาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจไม่สู้ดี

อันที่จริงในภาพรวมธุรกิจของ Google นั้น ถูกมองว่าอยู่ในช่วงที่อัตราการเติบโตจะเริ่มชะลอตัวลงแล้วเนื่องจากการอิ่มตัวทางขนาดของธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยอัตราการเติบโตทางรายได้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น Google (Alphabet Inc.) จะมีรายได้เติบโตเกินกว่า 20% ในทุก ๆ ไตรมาส แต่สำหรับครึ่งหลังของปี 2019 นั้นอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 17% เท่านั้น สวนทางกันอย่างชัดเจนกับรายได้จาก YouTube ที่ยังคงโตได้ด้วยความเร็วเกือบเท่าตัวในทุก ๆ 2 ปีอยู่เลย จึงเป็นสาเหตุให้ Google ตัดสินใจแยกรายได้ของ YouTube ออกมาเป็นการเฉพาะเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแพลตฟอร์มที่ผู้คนต่างมองว่าเป็น The New TV ของโลกทั้งใบไปเสียแล้ว

โดย YouTube นั้นเป็นบริการสตรีมมิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่คน (เกือบ) ทั้งโลกเข้าถึงได้ทั้งในรูปแบบไม่คิดค่าบริการโดยมีโฆษณาเป็นการแลกเปลี่ยนเสมือนทีวีดี ๆ นี่เอง แถมในช่วงปีหลัง ๆ มาบริการแบบรายเดือนไม่มีโฆษณาบวกเนื้อหาแบบ Exclusive อย่าง YouTube Premium ก็ทยอยเปิดให้บริการในประเทศต่าง ๆ แล้ว รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย จนล่าสุด Google ประกาศตัวเลขผู้ใช้งานของ YouTube Premium อยู่ที่ 20 ล้านบัญชีไปแล้ว ส่วนผู้ใช้งานรวมทั้งแบบฟรีและพรีเมี่ยมนั้นทะลุ 2 พันล้านบัญชีต่อเดือน (Active Users) ชนิดไม่มีแพลตฟอร์มไหนจะเทียบได้ง่าย ๆ

งานนี้การมาของบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix | Disney+ | Apple TV Plus จะไม่ได้ส่งผลต่อกันมากนัก เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นบริการที่ทำรายได้จากระบบ Subscription ซึ่งมี YouTube Premium เป็นคู่แข่ง แต่ YouTube Premium เองก็ไม่ได้วางตัวเป็นคู่แข่งโดยตรงเสียทีเดียวอีกนั่นแหละ เพราะแพลตฟอร์มนี้ได้รวมเอาบริการเพลงที่ขนาดค่อนข้างใหญ่เอาไว้ด้วย แถมบริการหลักยังเน้นพึ่งพารายได้จากโฆษณาบน YouTube แบบฟรีอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง จะเห็นได้ว่า YouTube ไม่เหมือน Netflix หรือใคร ๆ ก็เพราะกลยุทธ์ที่เราเรียกว่า “YouTube is the New TV Station, Globally” คือเป็นเหมือนบริการทีวีแบบดั้งเดิมที่รายได้มาจากโฆษณา เท่ากับผู้บริโภคดูได้ฟรี ๆ เพียงแต่สถานีโทรทัศน์ที่ว่านี้ ให้บริการคน(เกือบ)ทั้งโลกนั่นเอง

 

อ้างอิง: CNN Business | Variety Media