หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องของ “แสงสีฟ้า” จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ว่ามันมีความรุนแรงสูง และถึงขั้นที่จะทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ ผมเองก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน แรกๆ ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เลยลองหาข้อมูลดู ก็พบว่ามีรายงานจากหลายๆ งานวิจัยและหลายๆ สถาบันเกี่ยวกับอันตรายของแสงสีฟ้าและจอประสาทตาอยู่เหมือนกัน
แต่ก่อนที่เราจะไปชี้ว่า แสงสีฟ้า หรือ Blue Light นี่มันอันตรายหรือไม่ดีอย่างไรนั้น เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับแสงสีฟ้าก่อน ว่ามันมาจากไหน และมันมีแต่ข้อเสียหรือเปล่า อันนี้บอกได้เลยว่าไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะแสงสีฟ้าเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเองเช่นกัน
แสงถือเป็นคลื่นแม่เหล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งก็มีไล่เรียงกันไปตามสีสัน ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง หรือสายรุ้งที่เราเห็นนั่นก็คือสเปคตรัมของแสง โดยช่วงของแสงสีฟ้านั้นจะอยู่ที่ 400-500 นาโนเมตร และอย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าแสงสีฟ้านั้นมีทั้งแบบดีและไม่ดี ช่วงแสงสีฟ้าที่ดีเราจะเรียกว่า blue-turquoise light ซึ่งอยู่ในช่วง 465-495 นาโนเมตร ส่วนแสงสีฟ้าที่ไม่ดีนั้นเรียกว่า blue-velvet light อยู่ในช่วง 415-455 นาโนเมตร
Blue-Turquoise Light แสงสีฟ้าฝ่ายธรรมะ หรือแสงสีฟ้าช่วงนี้ มีข้อดีคือมันจะทำงานร่วมกับ bio clock หรือนาฬิกาชีวภาพของเรา เช่นบางทีในตอนเช้าพระอาทิตย์เริ่มขึ้น แสงยังไม่ทันสว่างแต่ทำไมเราตื่นนอน นั่นเพราะแสงสีฟ้าชนิดนี้ที่มาปลุกให้เราตื่นนอน กระตุ้นให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของเราทำงาน
Blue-Velvet Light แสงสีฟ้าฝ่ายอธรรมซึ่งมีพลังแฝง มาพร้อมกับความรุนแรงในการทะลุทะลวงสูง ซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่าที่จอประสาทตามีการเสื่อมนั้นมาจากช่วงแสงระยะนี้นี่เอง เพราะเราก็ใช้สายตาในการมองอยู่ตลอดเวลา
แน่นอนว่าเราไม่สามารถหลบ “แสงสีฟ้า” ได้พ้นอยู่แล้ว เพราะมันมีมากับทุกๆ แหล่งกำเนิดแสง ไม่ว่าจะดวงอาทิตย์ หลอดไฟต่างๆ ก็มีมาทั้งนั้น
ภาพข้างบนนี้แสดงคำตอบได้อย่างดี หลอดไฟ Cool White LED นั้นปล่อยแสงสีฟ้าในปริมาณที่สูง รวมถึงหลอด Fluorescent ชนิดกลมด้วย
ส่วนหน้าจอมือถือกับแท็บเล็ตที่เราใช้งานกันอยู่ ก็มีการปล่อยแสงสีฟ้าออกมาเช่นกันครับ ในภาพจะเห็นการเปรียบเทียบของมือถือทั้ง 3 รุ่น จะเห็นว่าช่วงคลื่นแสง 400-500 นาโนเมตรนั้นถูกปล่อยออกมาสูงที่สุด
เปรียบเทียบหน้าจอแสดงผลโดยใช้สมการเชิงเส้นระหว่างความสว่างและการใช้พลังงานแบตเตอรี่
และนี่คือที่มาที่ไปของการผลิตฟิล์มชนิด Blue Light Cut หรือฟิล์มที่ใช้ตัดแสงสีฟ้านั่นเองครับ โดยแต่ละยี่ห้อแต่ละแบรนด์ก็จะมีความสามารถในการตัดแสงไม่เท่ากัน เห็นได้จากคลิปที่เราได้ทำการทดสอบไปในข้างต้น
สรุปสุดท้ายตรงนี้เชื่อว่าเราน่าจะได้รู้จักและได้ความรู้เกี่ยวกับแสงสีฟ้ามากขึ้น หลายคนอาจจะยังลังเลอยู่ว่าตกลง แสงสีฟ้า มันอันตรายจริงแค่ไหน แล้วแสงจากจอมือถือมันแรงพอที่จะทำลายจอประสาทตาเราเลยหรือเปล่า ใช้เวลาแค่ไหน อันนี้ผมเองก็คงไม่สามารถตอบได้ เพราะจะว่าไปแล้วเราก็เพิ่งจะมีอุปกรณ์พกพาที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ๆ ให้เราถือใช้งานได้ทั้งวันกันเมือไม่กี่ปีนี้เอง แต่ก็อยากจะให้เก็บเอาไปคิดนิดนึงว่า
เราไม่เคยมองตรงๆ ไปที่แหล่งกำเนิดแสง คือเราไม่เคยต้องมองไปที่ดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟในบ้านตรงๆ อย่างมากก็แค่ใช้แสงของมันในการมองไปรอบๆ แต่ในปัจจุบัน เราจ้องไปยังหน้าจอมือถือและแท็บเล็ตซึ่งมันเป้นแหล่งกำเนิดแสง หน้าจอมันปล่อยแสงออกมาตรงๆ ซึ่งมันอยู่ใกล้กับดวงตาของเรามากๆ ห่างจากดวงตาเราประมาณแค่ 30 เซนติเมตรเท่านั้นเอง
แต่ไม่ว่าคุณจะติดฟิล์มป้องกันแสงสีฟ้าหรือไม่ติดก็ตามแต่ วิธีที่จะถนอมสายตาของเราง่ายๆ ก็คือการหยุดพักสายตาบ้าง รู้ว่าจ้องหรือเพ่งอะไรนานๆ ก็ให้หลับตาพักสัก 2-3 นาที หรือผ่อนคลายสายตาด้วยการมองไปไกลๆ สลับกับการมองใกล้ อันนี้ก็ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตาได้ครับ
ในแสงแดดปกติที่เราเจอทุกวันๆมีมากกว่าในโทรศัพท์ เราก็ใช้ชีวิตกันได้ ไม่ต้องกังวลครับถ้าใครไม่ได้ใช้ฟิมล์ชนิดนี้
แต่เราไม่ได้ไปเพ่งมันหนิครับ ในจอคอม ในจอโทรศัพท์คือเราเอาตาสู้แสงเลยนะ
แสงสีฟ้าเวลากลางวันช่วงเพิ่มความคมชัดครับ แล้วเราก็ไม่ได้ไปเพ่งที่แหล่งกำเนิดแสงโดยตรงแสงแดดสะท้อนสิ่งของมาสู่ตาของเรา (ลองมองแสงแดดโดยตรงด้วยตาเปล่าสิครับแสบตาทุกคน)
แต่ในเวลากลางคืนแสงสีฟ้าทำให้สายตาล้าง่าย แล้วยิ่งเล่นมือถือต่างๆนาๆ มันเป็นการจ้องแหล่งกำเนิดแสงโดยตรงครับ
แล้วติดไปสีการแสดงผลจะไม่เพี้ยนหรือครับ ขนาดจอเหลืองจอซีดยังบ่นกัน
แล้ว app นี้ พอช่วยได้ไหมครับ??
https://play.google.com/store/apps/details?id=jp.ne.hardyinfinity.bluelightfilter.free
ลองละ รู้สึกดีเหมือนกันขอบคุณที่แนะนำคับ
แต่กินแบตเยอะเหมือนกันนะนี่
ผมสายตาสั้นเลยใช้วิธีเคลือบสารป้องกันแสงสีฟ้าที่แว่นแทนครับ (Essilor Prevencia) เวลามองเงาสะท้อนหน้าเลนส์จะเป็นสีม่วง (ปกติเคลือบ Multicoat จะเห็นเป็นสีเขียว) แต่พอสวมแว่นเข้าไป กลายเป็นว่ามองอะไรสีจะออกโทนอุ่นขึ้น(เหมือนเติม warm white เข้าไป) ถ้าทำงานที่ต้องใช้ความถูกต้องของสี จะไม่เหมาะสมเลยครับ แต่รู้สึกได้ว่า ทำงานหน้าคอมฯได้นานขึ้น ตาไม่ค่อยรู้สึกล้าเหมือนแว่นเก่าครับ
เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดครับใส่แว่นเลนส์ที่ตัดแสงฟ้าไปเลย เพราะในบรรดาจอหลายชนิด led นี่มีแสงสีฟ้าสูงที่สุด
มีผลน้อยมากครับแสงสีฟ้า ในตาเรามีกลไกป้องกันมากมาย uv น่ากลัวกว่ามาก แต่เราอาจจะรู้สึกรำคาญเพราะแสงสีฟ้า เป็นแสงช่วงคลื่นสั้น จึงมีพลังงานสูง
มีความเห็นดังนี้ครับ ผิดถูกอย่างไรขออภัยด้วย
1. กราฟที่แสดงให้ดูนั้น แกน Y จะใช้คำว่า Relative Energy ตามที่ผมเข้าใจคือ เฉพาะในกราฟนั้นๆ มันคือค่าที่เปรียบเทียบกันเองครับ เช่น ในแสง Day Light ช่วงสีฟ้าเท่ากัน 100 สีอื่นๆ จะเป็นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับค่ามากที่สุด (สีฟ้า) หรืออีกตัวอย่างนึงคือ Halogen สีเหลือง-ส้มคือ 100 สีอื่นๆ จะมีค่าเท่าไหร่เมื่อเทียบกับค่าสูงสุดของตัวมันเอง แต่ละกราฟจึงเทียบกันไม่ได้นั่นเอง
2. กราฟนี้เป็นกราฟที่ให้ความรู้เรื่องสภาพแสงในการถ่ายภาพเป็นหลัก นำมาอ้างอิงเรื่องพลังงานไม่ได้ครับ
3. ถ้าพิจารณาด้วยแหล่งกำเนิดแสงทั้ง 6 ตัวอย่างมีคุณสมบัติหลายอย่างที่แตกต่างกันมากจนเปรียบเทียบกันยากครับ เช่น Intensity, Density , Lux ยกตัวอย่างพื้นๆ เลย แสง Day Light ทุกคนที่อ่านจะเข้าใจว่าเป็นแสงแดดตอนกลางวัน ซึ่งไม่รู้ต้องใช้ LED กี่ล้านดวงมาเปิด ถ้าจะทำให้ค่าต่างๆ ที่ผมบอกด้านบนเท่ากัน ซึ่งต้องเท่ากันก่อนครับ ถึงจะวัดว่ามีแสงสีฟ้าออกมาปริมาณเท่าไหร่
4. แสงแดดให้ UV + แสงสีฟ้าใน 1 วัน น่าจะมีมากกว่าที่มือถือตัวนึงผลิตได้ตลอดอายุไขของมันด้วยซ้ำครับ ตาเราอยู่กับแสงแดดมาไม่รู้กี่ปี ฉะนั้น การโปรโมตเรื่องอันตรายจากแสงสีฟ้านั้น มีข้อเท็จจริงผสมอยู่น้อยมากครับ ที่เหลือกก็การตลาดล้วนๆ
ที่ร่ายซ๊ะยาวเพราะเห็นโฆษณาแล้วผมว่ามันเว่อร์ไปเยอะเลย
ขอบคุณครับ มีกาปรับแก้ไขในบางส่วนแล้วครับ
จอ lcd ที่นั่งทำงานกันทุกวันนั่นหละ ตัว blue light เลย notebook อีก มันเป็นแค่กิมมิกสร้างกระแสรักสุขภาพแค่นั้นแหละ
ผมว่าที่ดีจริงๆคือพวก tempered glass ตางหากแต่ไม่ค่อยอยากเอาเข้ามาขายกัน เอาเข้ามาก็ + แพงๆทั้งๆที่ต่างประเทศอันนึ้งไม่ได้แพงเท่าไรเลย ส่งสัยเพราะมันทนมือทนเท้า ไม่พังง่ายๆมั้งเลยไม่อยากเอาเข้ามาขาย
ส่วนตัวผมไม่ชอบ Tempered Glass แฮะ เพราะลองติดแล้วทัชแย่ลงเยอะ
แต่ของผมกับทุกคนที่ติดก็ปกตินะ ผิวมันจะลื่นขึ้น ทัสก็แม่นปกตินะครับ ผมว่าลากติดนิ้วดีกว่าด้วยนะครับ ที่ว่าแย่ลงนี่เป็นยังไงบ้างหรอครับ
สั่ง temper note3 ของ nillkin ราคาประมาณสามร้อย ก็ทัชดีเขียนลื่นกำลังดีครับ
ผมก็ใช้ของ nillkin เหมือนกันผมว่ามันทัชดีมากเลยนะครับ ผมลองสั่งยี่ห้ออื่นราคาถูกมาก็ไม่ต่างกันเท่าไรนะ
อันนี้คือโฆษณาขายของใช่มั้ยครับ? ไม่ได้กวนนะครับเพราะรู้สึกว่าเนื้อหาออกจะเกินจริงไปนิด
ตามที่พาดหัวไว้ครับ มันคือ Advertorial :bigsmile:
แล้วแต่มุมมองเหมือนอาหารเสริม กินก็ดีกว่า ไม่กินก็ไม่ตาย เป็นจุดขายสำหรับคนดูแลรักษาสุขภาพ เท่านั้นเอง
ข่าวนี้มีจุดผิดหลายที่เลยนะครับ ตามที่คนอื่นแนะนำไปแล้ว ช่วยแก้ไขด้วยครับเพื่อความน่าเชื่อถือของ web
แล้วก็ blue light มันทะลุลงไปในร่างกายไม่ได้ครับ
เอ.. เท่าที่ผมอ่านมาจากหลายรายงาน มันเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเซลได้นะครับ
มือถือจอที่ติดเหลืองมาก็ไม่ต้องบ่นคนผลิตแล้วนะครับ เพราะเค้าห่วงสุขภาพของเรา
ท่าจะจริงครับ 🙂
นี่ถ้าไม่มีคนที่มีความรู้มาช่วยคอมเม้นท์ ผู้คนคงแตกตื่นไปซื้อฟิล์มที่เป็นสปอนเซอร์ให้ขายดิบขายดีไปแล้ว
ด้วยความเชื่อถือเวปฯที่เป็นสมาชิกอยู่ ทำการตลาดได้ครับแต่อย่าทำให้แตกตื่น
ป้องกันไว้แบบไม่ต้องลงทุนก็ได้ อย่างแอปตัวนี้จะลดแสงสีฟ้ากี่เปอร์เซ็นตามใจ แถมยังคอยเตือนว่าเราใช้งานนานไป อันนี้ชอบเพราะผมมักจะเล่นเพลินนานมากๆ ตาล้าเหมือนกัน ลองดู ไม่ชอบก็ลบทิ้ง เขาให้ใช้ฟรี
https://play.google.com/store/apps/details?id=protect.eye
มันไม่ใช่แค่ Blue Light หรอกที่อันตราย
ในช่วง visible light ทั้งหมด ถ้ามีพลังงานมากพอ ก็สามารถทำลายจอประสาทตาได้เลย (retinal burn)
อย่างเช่น พวก laser pointer (ปากกาเลเซอร์) (ประมาณ 500-700 nm) พลังงานซัก 100mW ถ้าเข้าตานานพอ ก็บอดได้เลย
อยากรู้ว่า จอแต่ละยี่ห้อ ปล่องพลังงานแต่ละช่วงคลื่นออกมาเท่าไรมากกว่า
แล้วส่วนของฟิลม์มันลดได้กี่ % (ตามไปดูที่เว็บก็ไม่มีบอก) ฟิล์ม ติดรถยนต์ยังมี % บอกเลย
แบบนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน
กันไว้ดีกว่าแก้….
แสงมีผลต่อ retinal ส่วนการเพ่งจอนาน ๆ มีผลต่อกล้ามเนื้อตา(โฟกัสภาพในตำแหน่งเดิมนาน ๆ)
ขออภัยซ้ำ
ขออภัยซ้ำ
ผมว่าเรื่องพลังงานถ้าเล่นในแสงสว่างเพียงพอไม่น่ามีปัญหา ตราบใดที่ออกแสงแดดไปแล้วจอมือถือแทบจะมองไม่เห็น แสดงว่ามันเทียบไม่ได้เลยกับแสงอาทิตย์ เว้นแต่ว่าปิดไฟเล่นแล้วเปิดสว่างสุดๆ นี่แสงวิ่งผ่านม่านตาเข้าไปเต็มๆ
ถามว่าแสงสีฟ้าตัดออกไปเยอะมั้ยผมว่าคงตัดออกไปได้เยอะพอสมควรนะจากรีวิวนี่สีฟ้าแทบจะมืดไปเลย เพราะมันไม่มีผลกระทบกับการมองอย่างอื่น ถ้าอย่างเป็นเลนส์แว่นก็จะตัดไม่มากเพราะ แสงสีฟ้าที่ดี มีส่วนช่วยในการมองเห็นตอนกลางคืนหรือในที่แสงน้อย
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ปรับแสงให้พอดีกับสภาพแสงแวดล้อม พักสายตาเปลี่ยนระยะโฟกัสให้กล้ามเนื้อยึดเลนส์ได้ผ่อนบ้าง ทานสารอาหารที่บำรุงสายตาและต้านอนุมูลอิสระ ในกลุ่ม Carotenoid เช่น วิตามินA Lutein Zeaxanthin เพราะอาการจอประสาทตาเสื่อมเกิดจากภาวะ Oxidative Stress
เมื่อเราประคองตาไปได้จนอายุมากขึ้น กระจกตา,เลนส์ก็จะเริ่มเหลืองขึ้นเนื่องจากของเสียตามอายุไขของมัน ผลคือมันก็จะกรองแสงสีฟ้าไปด้วยตัวของมันเอง เพราะผมก็ยังไม่เคยคนเป็นจอประสาทตาเสื่อมเพราะแสงสีฟ้านะ เคยเห็นแต่คนทำงานกลางแดดนานๆ เจอ uv ซะกลายเป็นต้อกระจก ต้อหินกันซะก่อน
แต่อย่างไรก็ดี มันก็เหมือนกับเข็มขัดนิรภัย เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอันตรายเมื่อไหร่ ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงกันไว้ก็ไม่เสียหายครับ
ว่าแล้วก็ไปนั่งจ้องจอ Amoled สุดยอดแสงสีฟ้าต่อ =___=;
ผมงงนะ วันๆเราดูทีวีเล่นคอมพิวเตอร์กันกี่ชั่วโมง
โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิซ นี่คือนั่งหน้าคอมทั้งวันจนกว่าจะลาออก
แล้วเล่นมือถือซักกี่นาที จะบอกว่ามือถือเราจ้องใกล้กว่า
แต่จอคอมจอทีวีมันก็ใหญ่กว่าแรงกว่ามากเป็นร้อยเท่า
ไม่เห็นมีใครโฆษนาฟิลม์ติดทีวี ติดจอคอมเพื่อสุขภาพบ้างเลย