น่าจะมีหลายคนแน่ๆ ที่เบื่อกับเงื่อนไขการประกันสินค้าจำพวกอุปกรณ์ IT ทั้งหลาย ที่มักจะมีสติ๊กเกอร์แปะเอาไว้ตรงรูน็อต หรือช่องที่ต้องแงะฝาเครื่องออกมา ซึ่งสติ๊กเกอร์นั้นก็จะมีข้อความ “Warranty void if removed” ติดอยู่ หมายความว่าเราไม่สามารถแงะเครื่องได้เอง หรือเอาไปให้ช่างที่ไม่ใช่ศูนย์ซ่อมของบริษัทนั้นๆ ซ่อมแซมเครื่องโดยไม่หมดประกัน แต่ตอนนี้หน่วยงาน FTC ของอเมริกา ได้ออกโรงส่งหมายเตือนบริษัท IT ยักษ์ใหญ่จำนวน 6 แห่ง ว่าเงื่อนไขการประกันสินค้าแบบนี้ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายของรัฐ

โดยบริษัททั้ง 6 ที่ได้รับหมายเตือนจาก FTC (US Federal Trade Commission) หรือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของอเมริกา ได้แก่ Microsoft, Nintendo, Sony, HTC, Asus และ Hyundai เนื่องจากทั้ง 6 บริษัทดังกล่าว (จริงๆ น่าจะมีเยอะกว่านี้ด้วย) มีเงื่อนไขในการประกันสินค้าที่อาจจะละเมิดกฎหมายของรัฐ ตามที่บอกไปแล้วว่าสินค้าต่างๆ มักจะมีสติ๊กเกอร์ติดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้แงะเครื่องเพื่อซ่อมแซมเอง หรือเอาไปให้ร้านซ่อมที่ไม่ใช่ศูนย์บริการของแบรนด์ เพราะเมื่อสติ๊กเกอร์ที่ติดไว้เสียหายขึ้นมา ก็จะทำให้สินค้าชิ้นนั้นหมดประกันไปเลยนั่นเอง ซึ่ง FTC บอกเอาไว้ว่าบริษัทต่างๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างเงื่อนไขแบบนี้

เพราะเงื่อนไขการรับประกันดังกล่าวถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากศูนย์บริการของบริษัทเหล่านั้นสามารถชาร์จค่าซ่อมหรือค่าบริการเพิ่มเติมได้ โดยที่เหล่าลูกค้าก็ไม่มีสิทธิที่จะเลือกร้านซ่อมหรือใช้อะไหล่ที่มีราคาถูกกว่าได้เลย (แต่สำหรับการรับประกันสินค้าที่ฟรีค่าแรงและอะไหล่ จะถือเป็นข้อยกเว้นจาก FTC)

สติ๊กเกอร์ประกันที่ติดบน Xbox One (ภาพจาก iFixit)

การที่ FTC ได้ส่งหมายเตือนออกไปในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้บริษัททั้ง 6 แห่ง พิจารณาและเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับประกันสินค้าใหม่ภายใน 30 วัน (ในตอนนี้ยังไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ เพราะเป็นแค่หมายเตือนเท่านั้น)

ก็ต้องรอดูกันไปว่าทั้ง 6 บริษัท IT ชื่อดัง ที่ได้รับหมายเตือน จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับประกันสินค้ายังไงบ้าง และบริษัทอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขแบบเดียวกันนี้จะโดนหมายเตือนเพิ่มเติมอีกรึเปล่า (เพราะแน่ใจว่ายังไงมันก็ต้องมีมากกว่า 6 บริษัทแน่ๆ) และถ้ากฎหมายดังกล่าวเริ่มครอบคลุมไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก็คงจะเป็นผลดีกับเหล่าผู้บริโภคอย่างเราๆ แน่นอน

 

ที่มา : PCgamer, Theverge, Motherboard