คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ (FTC) ออกคำเตือนไปยังผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่าง ๆ ให้ระบุกรอบเวลาการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนก่อนการวางจำหน่าย มิเช่นนั้นอาจขัดต่อกฎ Magnuson–Moss Warranty Act ของสหรัฐฯ หรือหากมีการระบุไว้แล้ว แต่จงใจใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ก็เสี่ยงที่จะผิดกฎของ FTC ด้วยอีกกระทง
รายงานฉบับนี้ เกิดขึ้นหลัง Consumer Reports ร่วมกับ U.S. PIRG และกลุ่มต่าง ๆ รวม 17 กลุ่ม ส่งจดหมายถึง FTC เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯ ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ต้องพึ่งพาซอฟต์แวร์หรือการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ในการทำงาน
Consumer Reports ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในข่ายนี้จะยังใช้งานต่อไปได้อีกนานเท่าใด หากไม่มีการระบุระยะอัปเดตที่ชัดเจน (หรือต่อให้ใช้งานได้ แต่ก็อาจไม่ครบทุกฟังก์ชันตามที่นำเสนอตอนเปิดตัว)
ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ อุปกรณ์ Car Thing ของ Spotify ที่โดนลอยแพ ใช้งานต่อไม่ได้ กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันไปหมาด ๆ ไม่กี่เดือนก่อน
ทาง FTC ตอบรับคำขอข้างต้น และได้ทำการตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า 184 รายการ จาก 64 หมวดหมู่ พบว่ามีอุปกรณ์มากถึง 89% ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ในขณะที่อีก 11% ที่เหลือ มีข้อความกำกับไว้ก็จริง แต่ FTC ก็ขยายความต่อว่า ‘ไม่ง่ายต่อการตรวจสอบ’ อยู่ดี เพราะข้อความมักอยู่คนละหน้ากับสินค้า หรือบางครั้งใส่ไว้ตรงเชิงอรรถ เป็นตัวหนังสือเล็ก ๆ สังเกตยาก และอีกกรณีที่เจอคือ ‘ไม่ระบุวันที่เปิดตัว’ จึงไม่ทราบจุดสิ้นสุดของระยะอัปเดต เช่น บอกว่าอัปเดตให้ 3 ปี แต่ไม่รู้ว่า 3 ปีเริ่มนับจากตรงไหน ไปจบตรงไหน
ทั้งนี้ ในบรรดาหมวดหมู่อุปกรณ์ที่ FTC ตรวจสอบ มีสมาร์ทโฟนรวมอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ผลิตไม่กี่รายเท่านั้น ที่เปิดเผยระยะอัปเดตอย่างตรงไปตรงมา (ตัวอย่างคือ กูเกิลและซัมซุง) แม้แต่แอปเปิลเอง ก็บอกเพียงกรอบเวลาการอัปเดตแพตช์ความปลอดภัยอย่างเดียว ส่วนการอัปเดตระบบปฏิบัติการ ไม่ได้แจ้งไว้
ที่มา : FTC (pdf)
Comment