ดูเหมือนว่าดีลการเทคโอเวอร์ ARM มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.357 ล้านล้านบาทของ NVIDIA จะเจอเข้ากับอุปสรรคอย่างจังซะแล้ว เมื่อ Federal Trade Commission (FTC) หรือคณะกรรมการด้านการค้าของสหรัฐฯ ได้ออกมายื่นฟ้อง ขอบล็อคการฮุบกิจการครั้งนี้ของ NVIDIA เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการกีดกันทางการค้า ทำให้ไม่เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้น

FTC เปิดเผยว่า ปัจจุบัน NVIDIA ได้ใช้สิทธิบัตรของ ARM กับผลิตภัณฑ์ตัวเองหลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นระบบไดร์เวอร์ของยานพาหนะต่าง ๆ รวมไปถึง Cloud Computing พวกเขาก็ใช้ CPU จาก ARM เหมือนกัน ทำให้ FTC เกิดความกังวลขึ้นมาว่าการเทคโอเวอร์ ARM ในครั้งนี้ อาจทำให้ NVIDIA ได้รับผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม กีดกันบริษัทฯ อื่น ๆ ไม่ให้เข้าถึงใบอนุญาตบางอย่าง หรืออุบเทคโนโลยีบางอย่างเอาไว้ใช้แค่กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง 

ในทางการค้าแล้ว NVIDIA ถือว่าเป็นคู่แข่งกับ ARM โดยตรง ซึ่งหาก NVIDIA สามารถฮุบกิจการ ARM ได้จริง ๆ พวกเขาอาจใช้อำนาจที่สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรและเทคโนโลยีของ ARM มากีดกันไม่ให้ ARM พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาแข่งกับพวกเขาได้

ก่อนหน้านี้บรรดา Tech Giants อย่าง Google, Microsoft และ Qualcomm ก็ต่างออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับดีล NVIDIA x ARM ดังกล่าวนี้ ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันที่ว่าหาก NVIDIA ได้ ARM ไปจริง ๆ จะทำให้บริษัทชิปอื่น ๆ อย่าง Qualcomm, MediaTek หรือ Samsung ไม่สามารถเข้าถึงหรือซื้อใบอนุญาตและทรัพย์สินทางปัญญาของ ARM ได้

อย่างไรก็ตาม NVIDIA ก็ได้ออกมาแถลงว่า พวกเขาจะรักษาโมเดลธุรกิจใบอนุญาตแบบเปิดของ ARM ต่อไป ซึ่งแม้ว่า NVIDIA จะเป็นเจ้าของ ARM อย่างเต็มตัว แต่พวกเขาก็จะอนุญาตให้สิทธิบัตรและเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์กับ Tech Giants ในวงการอย่าง Apple, Qualcomm, Samsung, Amazon ฯลฯ ต่อไปเหมือนเดิม ไม่มีการกีดกันตัดขาใด ๆ ทั้งสิ้น 

โดย FTC ไม่ถือเป็นหน่วยงานเดียวที่ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับดีล NVIDIA x ARM ในครั้งนี้ เพราะทาง European Union และ Competition and Markets Authority ของสหราชอาณาจักร ก็ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบดีลนี้อย่างใกล้ชิดเหมือนกัน

ทำให้ตอนนี้ความตั้งใจแรกของ NVIDIA ที่บอกว่าจะปิดดีล ARM ให้สำเร็จภายในสิ้นปี 2022 ที่จะถึงนี้ เหมือนจะล่มต้องใช้เวลานานกว่านี้ซะแล้ว หรือบางทีดีลนี้อาจจะถูกขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้นเลยก็ได้ ต้องรอติดตามข่าวสารกันต่อไปครับ

 

ที่มา: The Verge