กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยว่า Google ยอมเสียเงินเป็นพันล้านดอลลาร์ให้บริษัท IT ยักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Samsung และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายใช้ Google เป็น Default Search Engine บนทุกแพลตฟอร์ม เพราะรู้ดีว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบเปลี่ยนการตั้งค่าใด ๆ ทำให้ Google กลายเป็นตัวค้นหายอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกตลอดมา

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เผยหลักฐานสำคัญเป็นเอกสารเซ็นสัญญาเพื่อให้ Google เป็นตัวค้นหาแรกเริ่มของเบราว์เซอร์ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการผูกขาด เพราะทำให้บริษัทSearch Engine อื่น ๆ เสียโอกาสในการได้รับข้อมูลการค้นหาจำนวนมาก

ซึ่งบริษัทที่ Google ได้ทำสัญญาเพื่อขอเป็น Default Search Engine ด้วยก็มีแบรนด์สมาร์ทโฟนอย่าง Apple, Samsung, motorola และมี Browser รายใหญ่ต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณมือถือในสหรัฐฯ อีกหลายเจ้าด้วย ยกตัวอย่างเช่น Firefox ที่มีการตั้งค่าการค้นหาเป็น Google ตั้งแต่เริ่มต้นเพราะได้รับเงินสนับสนุนมาจาก Google นั่นเอง

ทาง Google ก็ออกมาปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่ากูเกิลเองก็มีคู่แข่งที่สูสีกันอยู่หลายเจ้า ไม่ได้มีแค่ Bing และ DuckDuckGo เท่านั้น แต่ยังมี TikTok, Facebook, Instagram, Amazon และเว็บอื่น ๆ อีกมากมายที่คนใช้เพื่อค้นหาข้อมูลต่าง ๆ แปลว่า Google เองก็ไม่ได้ครองอันดับ 1 ในการค้นหาทุกอย่าง และก็ต้องเผชิญกันการแข่งขันไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย

Google อ้างว่าการทำสัญญาพวกนี้ยังมีประโยชน์ซะด้วยซ้ำ เพราะการช่วยให้ผู้ใช้งานมีบริการฟรี ๆ ไว้ใช้กัน

นอกจากนี้ Google ยังตั้งข้อสงสัยอีก โดยบอกว่าดีลพวกนี้เคยมีมาตั้งแต่ยุคปี 2000 ต้น ๆ นู่นแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแปลกที่อยู่ดี ๆ จะมาถูกตัดสินว่าเป็นการผูกขาดขึ้นมาในตอนนี้ครับ

คดีฟ้องร้องการผูกขาดตัวค้นหาของ Google นี่เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค ปธน. ทรัมป์แล้ว ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลเมกาที่จะควบคุมอำนาจของบริษัท IT ใหญ่เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ดำเนินการมาจนถึงยุคไบเดนในปัจจุบัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นขึ้นศาลจริงจังกันภายในปีหน้า

 

ที่มา : bloomberg