ถึงแม้ว่างาน Google I/O 2018 จะผ่านไปเกือบเดือนแล้ว ของเล่นใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆก็ได้เปิดตัวกันไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านหลายๆคนอาจจะไม่ได้เห็นกันก็คือบรรยากาศภายในงานครับ ที่ผ่านมาค่อนข้างยุ่งมากพอสมควร ต้องขออภัยด้วยที่เก็บภาพมาเล่าสู่กันฟังช้าไปนิดหน่อย หวังว่ายังมีคนรอดูอยู่นะ 😣

Google I/O คืองานอะไร?

เป็นงานสัมมนาประจำปีของ Google บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ใครหลายๆคนก็คุ้นเคยกัน ซึ่งในงานนี้จะเป็นงานสัมมนาที่เน้นเนื้อหาสำหรับนักพัฒนา (Developer) ที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆของ Google ครับ ซึ่งผมก็เป็นนักพัฒนาแอนดรอยด์ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานนี้เช่นกัน ซึ่งภายในงานก็จะมีการสัมมนาและการแสดงผลงานต่างๆที่ออกไปทาง Geek สำหรับผู้ใช้ทั่วๆไปอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ทว่าก็มี Keynote หลักที่ผู้คนทั่วโลกคอยติดตามดูอยู่ทั้งในงานและผ่านออนไลน์บน YouTube

 

เพราะว่าเทคโนโลยีและ Product ส่วนใหญ่ของ Google นั้นมักจะเกี่ยวข้องกับนักพัฒนาเสมอครับ ดังนั้นเพื่อให้ Product ของตัวเองสามารถเติบโตไปได้แพร่หลาย ก็ต้องเข้าถึงนักพัฒนาทั่วโลกที่เป็นหัวใจหลักให้ได้ (เหมือนกับที่แอนดรอยด์ทำอยู่น่ะแหละ)

สำหรับใครที่พลาดว่างาน Google I/O 2018 มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง สามารถอ่านข่าวจากทีมงาน Droidsans ท่านอื่นๆได้เลยครับ เพราะผมจะพาเที่ยวเท่านั้นนะ

• Smart Compose ฟีเจอร์ใหม่ Gmail เดาประโยคให้เองโดยไม่ต้องพิมพ์

• Suggested Action ฟีเจอร์ใหม่ Google Photos โคตรฉลาดใส่สีให้ภาพขาวดำก็ยังได้

• สอนลูกให้พูดเพราะไปกับ Google Assistant : Pretty Please

• Google Assistant ปรับเสียงพูดคล้ายคนจริง พูดคุยเป็นประโยค สั่งงานได้หลายอย่าง และโทรไปคุยกับคนจริงๆได้

• Google ปรับโฉม Google News ใหม่ ใช้ AI ช่วยจัดข่าวหรือเรื่องราวที่เราสนใจให้อัตโนมัติ

• มารู้จักกับ Android App Bundle ในแบบฉบับผู้ใช้ทั่วไปกันเถอะ

Play video

ซึ่งในปีนี้งาน Google I/O 2018 ก็ถูกจัดขึ้นที่เดิม นั่นก็คือ Shoreline Amphitheatre ที่ Mountain View ใกล้ๆกับ Googleplex หรือสำนักงานใหญ่ของ Google นั่นเอง โดยจัดขึ้นในวันที่ 8-10 พฤษภาคม รวมทั้งหมด 3 วันด้วยกัน

แผนที่ภายในงานที่ดีไซน์ออกมาแบบ Material Design Theme

พร้อมจะชมภายในงานกันแล้วเนอะ? เริ่มล่ะนะ!

ลงทะเบียนในวันก่อนเริ่มงาน

โดยปกติแล้วงานนี้จะให้ลงทะเบียน ณ สถานที่จัดงานก่อนงานจะเริ่ม 1 วันครับ แต่หลังจากนั้นก็ยังสามารถมาลงทะเบียนทีหลังได้นะ โดยจะมีการแจกบัตรเข้างานและของต่างๆที่จำเป็นสำหรับงานนี้

เครื่องที่ใช้ลงทะเบียนปีนี้เปลี่ยนเป็น Pixelbook แล้วนะ

สำหรับของแจกหลักๆก็จะมีเสื้อของงานนี้ (ลืมถ่ายรูปมาให้ดู) บัตรพลาสติกที่มีรายละเอียดของเราทั้งชื่อ ภาพ บริษัท และโซนที่นั่งได้ในช่วง Keynote โดยบัตรใบนี้จะมี NFC Tag ฝังไว้ข้างในเพื่อให้พนักงานแสกนตอนเข้าห้องสัมมนาได้

ถึงแม้ว่าอากาศจะเย็น แต่แดดที่นี่ถือว่าร้อนมากจนผิวไหม้ได้ เพราะงั้นต้องมีการแจกครีมกันแดดและกระติกใส่น้ำให้ด้วย

และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือสายรัดข้อมือที่เป็นการยืนยันว่าเราอายุเกินและสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพราะช่วงเย็นของงานในวันแรกและวันที่ 2 จะมีงานปาร์ตี้น่ะสิ!! ไว้เดี๋ยวเอาภาพให้ดูทีหลังนะ

สายรัดข้อมือที่ต้องทนใส่ไว้ตลอดจนถึงงานปาร์ตี้ในคืนที่ 2 ของวันงาน และแว่นกันแดดที่แถมเหมือนเดิมทุกปี

ในปีนี้จุดลงทะเบียนแอบเปลี่ยนสถานที่นิดหน่อย เพราะปีนี้ใช้พื้นที่เยอะมากขึ้น ทำให้จุดลงทะเบียนในปีก่อนต้องย้ายออกมาอยู่ข้างนอก (แอบเดินเข้าไปพื้นที่งานเพราะความเคยชินจนเจ้าหน้าที่ไล่ออกมา)

Google Home Mini และชุดทดลอง Android Things ก็มารับที่จุดลงทะเบียนเช่นกัน

ถึงเวลาเข้างานแล้ว~

ในตอนเช้าของวันแรก ผู้เข้าร่วมงานจะต้องเข้าห้อง Keynote กันทุกคน ซึ่งจะเริ่มตอน 10 โมงเช้า ซึ่งถ้าเราไปถึงเร็วก็จะได้เลือกที่นั่งก่อน โดยจะมีการแบ่งโซนไว้เพื่อไม่ให้ชุลมุนวุ่นวายและมีพื้นที่สำหรับ Press และที่นั่งพิเศษที่อยู่บริเวณด้านหน้าเวที

สถานที่จัด Keynote คือเวทีหลักของสถานที่นี้ที่เรียกได้ว่าใหญ่มากกกกกกก ใหญ่แค่ไหนให้ดูวีดีโอข้างล่างนี้ได้เลย (ถ่ายแบบ 4K เลยนะ)

Play video

ผู้เข้าร่วมงานราวๆ 7 พันกว่าคนจะรวมกันอยู่ที่นี่ในช่วง Keynote ซึ่งที่นั่งก็จะเต็มไปด้วยผู้คน รวมไปถึงลานหญ้าด้านหลังเช่นกัน

ส่วนผมน่ะหรอ?​ ได้นั่งที่นั่งพิเศษข้างหน้าเวทีจ้าาาาา จะได้เห็น Sundar Pichai ตัวเป็นๆ

ก่อนที่ Keynote จะเริ่มก็จะมีเกมให้ทุกๆคนทั่วโลกเล่นพร้อมกันแล้วแสดงบนหน้าจอที่หน้าเวที ซึ่งบอกเลยว่าช่วงนั้นอินเตอร์เน็ตเริ่มคอขวดละ เพราะผู้คนแห่กันโพสสเตตัส โพสภาพกันลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่สำหรับ Press เค้าจะมีสาย Lan แยกเฉพาะให้ จะได้อัพข่าวสารกันแบบด่วนจี๋ไม่ต้องกลัวเน็ตเน่าแบบผม

หลังจากจบ Google Keynote (Keynote หลัก) ผู้คนก็จะทยอยออกจากเวที เพราะว่าเป็นช่วงเวลามื้อเที่ยงก่อนจะกลับมาต่อกับ Developer Keynote ซึ่ง Keynote ชุดหลังนี่แหละที่จะเน้นเฉพาะนักพัฒนาจริงๆ ส่วน Google Keynote จะเน้นสำหรับบุคคลทั่วๆไปซะมากกว่า

อาหารที่นี่ก็จะเป็นอาหารกล่องน่ะแหละ มีให้เลือกหลายแบบ พอหยิบแล้วก็ไปหาที่นั่งตามใจชอบเลย เพราะงั้นช่วงเวลามื้อเที่ยงก็จะเต็มไปด้วยผู้คนที่นั่งอยู่ไปทั่วงาน โดยเฉพาะสนามหญ้า (ความรู้สึกจะเหมือนมาปิคนิคนิดหน่อย)

หลังจากจบ Developer Keynote ก็จะเป็นช่วงเวลาที่หัวข้อสัมมนา (เรียกกันว่า Session) ในแต่ละห้องจะเริ่มขึ้น ดังนั้นก็จะมีเหล่านักพัฒนามากมายที่เล็งไว้ว่าจะไปฟังหัวข้อไหนในแต่ละช่วงเวลา

ที่เห็นคนเดินเยอะๆ นี่คือกำลังต่อแถวเข้าห้อง Session กันอยู่นะ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยสแกนบัตรอยู่ที่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งเราสามารถโหลดแอพ Google I/O เพื่อจองห้องได้ด้วยล่ะ จะได้เข้าช่อง Fast Lane แทน ไม่ต้องต่อแถวยาวๆ

แต่ละห้องก็จะจุได้ราวๆ 800-900 คนครับ ส่วน Session นึงจะใช้เวลาประมาณ​ 30-60 นาที (แล้วแต่หัวข้อ)

หัวข้อที่เกี่ยวกับแอนดรอยด์ส่วนใหญ่ใช้ภาษา Kotlin ในการอธิบายแล้ว หลังจากที่ประกาศให้ภาษา Kotlin รองรับบนแอนดรอยด์อย่างเป็นทางการ

เวทีหลักก็มี Session เหมือนกัน มักจะเป็นหัวข้อสำคัญที่มีคนสนใจจำนวนมาก

แต่ละห้องจะมีป้ายบอกว่าหัวข้อในตอนนี้คืออะไร และหัวข้อถัดไปคืออะไร

โดยบางห้องแอบมีการเซอร์ไพร์สบางอย่างด้วย อย่างที่ผมรู้มาคือห้องตอนเช้าในวันสุดท้ายของงานที่พูดเรื่องการสร้างแอพแอนดรอยด์บน Chrome OS จะมีการแจกคูปองส่วนลด 75% สำหรับ Pixelbook ให้กับทุกคนที่เข้าไปฟังในห้องนั้น ตอนเดินออกจากห้องด้วย (ไม่ได้เข้าไปไง อดเลย)

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนในงานนี้จะเป็นนักพัฒนากันทุกคนนะครับ ก็จะมีเหล่าคนที่สนใจเทคโนโลยีแต่ไม่ได้เป็นนักพัฒนาที่ได้รับเลือกเข้ามาร่วมงานอยู่มากพอสมควร หรือแม้แต่คนที่เป็น Volunteer ให้กับ Google ในแต่ละประเทศก็ได้มาเช่นกัน ดังนั้นบางคนก็จะเข้าห้อง Session แค่บางห้องเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นก็คือเดินตามโซนต่างๆที่จัดโชว์ Product หรือเทคโนโลยีของ Google กัน

โซน Android JetPack ชุดคำสั่งที่จะช่วยยกระดับชีวิตของนักพัฒนาแอพแอนดรอยด์ให้ดีขึ้น

มี Wear OS ให้ลองเล่นทุกรุ่นทุกยี่ห้อ สงสัยอะไรก็มีทีมงานคอยตอบคำถามให้

ตัวอย่างของ Firebase Testlab บริการทดสอบแอพผ่าน Cloud เพื่อให้นักพัฒนาทดสอบแอพตัวเองได้โดยไม่ต้องไปนั่งซื้อเครื่องหลายๆเครื่องมาเทสเอง ซึ่งปกติจะอยู่บน Cloud แต่ในงานนี้เอามาโชว์ให้เห็นว่าของจริงมันเป็นยังไง (มีทั้งแอนดรอยด์และ iOS)

เกมจำลองการเป็น Data Scientist โดยให้กรองข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออก เพราะพื้นฐานของ AI หรือ Machine Learning ที่ฉลาดคือเราต้องสอนมันด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้มันเรียนรู้ ไม่ใช่การโยนข้อมูลดิบๆที่มีทั้งอันที่ผิดและอันที่ถูกผสมๆกัน

Smart Display ที่เปิดตัวใน Keynote ก็ถูกนำมาโชว์ตัวเหมือนกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักพัฒนาที่สนใจจะพัฒนาแอพให้รองรับกับ Google Assistant

Google Assistant นอกจากจะเป็นผู้ช่วยที่คอยรับฟังเราแล้ว ยังมีชุดพัฒนา (SDK) เพื่อให้นักพัฒนาสามารถทำงานร่วมกับ Google Assistant ได้อีกด้วย โดยมีการโชว์ตัวอย่างการใช้ Hardware เชื่อมต่อกับ Google Assistant เพื่อให้สามารถสั่งได้ว่าจะให้วาดรูปอะไร แล้วเดี๋ยวเครื่องดังกล่าวก็จะวาดให้ทันที

และนอกจากจัดโชว์ผลงานต่างๆแล้ว บูธส่วนใหญ่จะมีทีม Google ที่ดูแลในโปรเจคต่างๆคอยดูแลอยู่ด้วย เพื่อให้ทุกคนภายในงานสามารถเข้ามาถามรายละเอียดได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือนักพัฒนาก็ตาม

มุมเล็กๆที่ให้ปรึกษาเกี่ยวกับการสร้าง Product ที่เป็น Software หรือคำแนะนำในการใช้ Material Design Theme ที่เปิดตัวใหม่ในงานให้เข้ามาอยู่ในแอพและเว็ปของตัวเอง

มีโซนนึงที่จัดเป็นพื้นที่สำหรับให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำโดยเฉพาะเลยนะ ในกรณีที่มีคำถามเกี่ยวกับแอพหรือเว็ปของตัวเอง แล้วต้องการใช้บางอย่างของ Google ก็มาดูตารางเวลาและจองตัวกันได้ที่โซนนี้ (คนเยอะและเสียงดังมากกกกกกกก)

ถึงแม้ว่างานในปีนี้จะไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรใหม่ๆที่ฮือฮาหรือหวือหวา เพราะว่าปีนี้โฟกัสไปที่ซอฟท์แวร์ซะมากกว่า แต่ก็มีโซน Android Things ที่ถือว่าเป็นไฮท์ไลท์น่าสนใจสำหรับงานปีนี้เลยก็ว่าได้ เพราะจัดเต็มกับโปรเจคต่างๆกันเยะมาก

ซุ้มดอกไม้ขนาดใหญ่ที่อยู่กลางห้อง โดยแต่ละฝั่งจะเป็นดอกไม้ที่ต่างกันออกไป โดยใช้ Android Things ทำงานต่างกัน เช่น ดอกไม้ที่สามารถขยับและแสดงสีตามใบหน้าของเราได้ หรือดอกไม้ที่มีการติดกล้องไว้ที่ตัวดอกแล้วเราสามารถควบคุมผ่านจอยคอนโทรลเลอร์และดูผ่านหน้าจอแสดงผลได้

3D Printer ที่สร้างขึ้นมาด้วย Android Things ถึงแม้ว่าอาจจะดูไม่หวือหวากันซักเท่าไรกับ 3D Printer ในสมัยนี้ แต่ว่านี่คือ 3D Printer ที่สร้างจาก Android Things ตัวแรกที่ผมเคยเห็นมา (ปกติใช้พวก Arduino กัน) ซึ่งมีข้อดีตรงที่มีพลังในการประมวลผลมากกว่า 3D Printer ทั่วไปที่ใช้บอร์ดควบคุมที่สเปคไม่ได้แรงมากพอ ซึ่งตัวนี้สามารถแสดงภาพบนหน้าจอได้ในตัวว่าจะสั่งปริ้นวัตถุอะไร และกำลังปริ้นไปถึงไหนแล้ว เหมือนกับการใช้งานแอพตัวนึงเลย

หุ่นยนต์มือสำหรับเล่นเป่ายิ้งฉุบที่ขยับนิ้วได้พริ้วสุดๆ โดยตรงกลางของวงไฟจะมีกล้องอยู่ข้างล่างคอยดูว่าเราออกอะไร (ต้องยื่นมือให้อยู่เหนือรูกล้อง) แล้วจะมีไฟบอกว่าเราชนะหรือแพ้หุ่นยนต์มือ (ดูวีดีโอข้างล่างประกบ) โดยใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ภาพจากกล้องว่าเป็นค้อน กรรไกร หรือกระดาษ โดยใช้เครื่องมือที่มีชือว่า Tensorflow ในการวิเคราะห์

Play video

เหล่าลำโพงอัจฮริยะที่รองรับการสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Google Assistant ก็แห่กันมาโชว์ตัวทั้งตัว Prototype และตัวที่วางขายจริง

เกม Hot Reload เป็นเกมที่สร้างขึ้นด้วยชุดพัฒนาที่ชื่อว่า Flutter โดยเล่นพร้อมกัน 2-4 คน ซึ่งจะจำลองเป็นนักพัฒนาที่ดูแลเว็ปลูกค้าคนละส่วนกัน โดยจะต้องตะโกนบอกเพื่อนๆว่าให้ปรับค่าต่างๆ (แบบง่ายๆ) ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ร้านค้าจำลองเพื่อโปรโมต Google Pay โดยให้เราซื้อสินค้าโดยใช้ Google Pay ได้ (ไม่ได้เสียเงินจริงๆ)

โซน Experiment Project ที่เป็นโครงการของ Google ที่เปิดให้นักพัฒนาอิสระสามารถสร้างบางอย่างที่เกี่ยวกับแอนดรอยด์, เว็ป, AI, VR และ AR แบบเจ๋งๆไอเดียดีๆ มารวมไว้ในเว็ปของ Google ได้ ซึ่งถูกนำมาโชว์ในงานนี้เช่นกัน และบางส่วนก็ทำเป็นนามบัตรไว้ให้ (หาโปรเจคของตัวเองไม่เจอ😢)

นามบัตรของ Experiment Project ใดๆก็ตามเมื่อหยิบมาวางบนกรอบสีขาวที่เตรียมไว้ จะมีกล้องจับภาพเพื่อวิเคราะห์ว่าบัตรนั้นเป็นของโปรเจคไหน แล้วจะแสดงหน้าเว็ปแสดงรายละเอียดของโปรเจคนั้นๆให้ดูบน Pixelbook

Android Auto ก็พามาให้ลองทั้งคันเลย อยากลองนั่งคันไหนก็เลือกเอา

หุ่นยนต์แอนดรอยด์ที่มาพร้อมกับไม้เซลฟี่ที่ให้เราถ่ายรูปคู่กับคุณน้องได้ แล้วปริ้นภาพให้ในตัวทันที (ด้านหลังมีกระเป๋าที่เป็นช่องสำหรับรับภาพถ่าย)

ถ้าใครยังจำใน Keynote ได้ว่ามีนักพัฒนาคนนึงที่พัฒนา Keyboard ที่ใช้รหัสมอร์สในการพิมพ์แล้วสร้างเป็นเสียงขึ้นมาที่ถูกพัฒนาโดย Tania Finlayson ที่มีปัญหาทางร่างกาย ที่ใครหลายๆคนแอบประทับใจและน้ำตาคลอ (ถ้าจำไม่ได้ก็คงกดดูวีดีโอข้างล่างซะ)

Play video

โปรเจคดังกล่าวเป็นหนึ่งใน Experiment Project นั่นเอง ซึ่งถูกนำมาโชว์ภายในงานนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ Tania Finlayson ได้คุยกับนักพัฒนาที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมผลงานครับ

Tania Finlayson, ครอบครัว และผลงานของเธอ

หุ่นยนต์วิ่งตามเส้นอาจจะดูไม่เท่มากนัก แต่สำหรับ Donkey Car ถือว่าเจ๋งใช่เล่น เพราะเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถวิ่งบนพื้นที่ที่จำลองเป็นถนนได้ ถึงแม้ว่าจะมีเส้นตัดของถนนขวางอยู่ก็ตาม (โดยปกติหุ่นยนต์วิ่งตามเส้นจะวิ่งตามเส้นเป็นทางยาวๆเท่านั้น ไม่ใช่เส้นปะเหมือนถนนแบบนี้)

Tensor Processing Unit (TPU) ฮาร์ดแวร์สำหรับการทำ Machine Learning ที่ Google สร้างขึ้นมาเอง เพื่อใช้งานกับ Tensorflow โดยเฉพาะ ก็ถูกนำมาโชว์ตัวทั้งเวอร์ชันแรกยันเวอร์ชัน 3.0 ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงาน Keynote เพื่อให้เห็นตัวจริงๆกันไปเลยว่าเป็นยังไง โดยภาพทั้ง 3 เวอร์ชันนั้นถูกแสดงอยู่บนพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากันนะครับ

TPU 1.0

TPU 2.0

TPU 3.0 เห็นในภาพตอน Keynote นึกว่าจะเล็ก… ท่อระบายความร้อนอันเบ้อเริ่ม แต่ก็เล็กกว่า 2.0 นะ

และมีโซนสำหรับ Community ที่เป็นจุดนัดหมายสำหรับเหล่าผู้เข้าร่วมงานมานัดปะเจอกันและได้ทำความรู้จักกัน

นอกจากนี้ยังมีโซน Codelabs ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถลองเขียนโค้ดในโปรเจคต่างๆ เหมาะกับทุกวัยที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษออกและพิมพ์ตามได้ เพราะมีหน้าเว็ปอธิบายขั้นตอนในการเขียนโค้ดให้ทำงานได้เลย โดยทำครบ 5 โปรเจคก็ได้สิทธิ์ลุ้นตั๋วงานในปีหน้า

มีให้เลือกเยอะมาก อยากจะทำอันไหนก็ได้ ทำเสร็จหนึ่งโปรเจคก็เรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจและปั้มสแตมป์ ทำเรื่อยๆจนครบ 5 อันก็หยอดกล่องชิงโชคได้เลย

และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือร้านค้าขายของสำหรับงาน Google I/O 2018 นั่นเอง ปีนี้ก็ไม่รับเงินสดเหมือนเดิม และของก็ราคาแรงเหมือนเดิม แต่เป็นของ Limited นะ ไม่มีขายนอกงาน

ก็จะมีเสื้อยืด เสื้อฮู้ด หมวก สติ๊กเกอร์น้องลูกบาศก์ (ในวีดีโอเปิดตัวงาน) สมุดจด และฟิกเกอร์แอนดรอยด์เวอร์ชัน Google I/O 2018

ของมันต้องมี!!!

มาดูช่วงเย็นกันบ้าง นั่นก็คือช่วงเวลาปาร์ตี้นั่นเอง โดยภายในงานก็จะถูกเนรมิตด้วยแสงสีเสียง เพื่อจัดเป็นพื้นที่สำหรับงานปาร์ตี้ที่นั่นในทันที ไม่ต้องย้ายไปไหน บางโซนที่เคยเป็นห้อง Session ก็กลายเป็นห้องเล่นเกมแทน หยิบอาหารหยิบเครื่องดื่มแล้วสนุกให้เต็มที่กันไปเลย

วงคอรัสที่ทุกคนเป็นพนักงานของ Google มายืนร้องเพลงด้วยกันที่ป้ายงาน Google I/O ในยามค่ำคืน

โต๊ะปิงปองก็มี

ตู้เกม Mortal Combat ก็มา

มีดีเจมาเล่นเพลงให้ทั้งกลางแจ้งและข้างในที่เป็นโซนปาร์ตี้

และในคืนที่สองก็จะเปลี่ยนปาร์ตี้ไปเป็นงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่เวทีหลักแทน ถือว่าเป็นอีกไคลแม็กซ์หนึ่งของงานก็ว่าได้ เพราะเต็มไปด้วยผู้คน เสียงเพลง และความครื้นเครง ส่วนผมก็นอนบนสนามหญ้า (แอบเตรียมผ้าปูนอนมาด้วย) ซึ่งในปีนี้เป็นวง Phantogram กับ Justice มาเล่น ซึ่งบ้านเราก็ไม่น่าจะรู้จักกันอยู่ดี แต่บรรยากาศโคตรมันส์

งานคอนเสิร์ตดีๆนั่นเอง แต่มีเบียร์แจกฟรีให้นั่นดื่มเล่น ฟังเพลงสบายๆพร้อมกับลมเย็นๆบนสนามหญ้าด้านหลัง ส่วนสายโยกก็ไปอยู่กันหน้าเวที

Play video

สรุป

สำหรับงานปีนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของเทคโนโลยีจาก Google ก็ว่าได้ โดยเฉพาะ Google Assistant และ AI ที่เห็นได้ชัดว่าถึงเวลาที่เริ่มนำเข้ามาใช้งานจริงใน Product ต่างๆของ Google แล้ว ส่วนฝั่งแอนดรอยด์ก็โหดร้ายเช่นกัน ถึงแม้ว่า Android P จะไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นมากนัก แต่ว่าในฝั่งก็นักพัฒนาอย่างผมก็มีอะไรให้ทำอีกเยอะมาก เนื่องจากทีมแอนดรอยด์ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการเขียนโค้ดชุดใหญ่ที่จะช่วยยกระดับการทำงานของแอพให้ดีขึ้น ลื่นขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น กินแบตน้อยลง (คนใช้ก็สบายไปรอใช้ของดี ส่วนนักพัฒนาอย่างผมก็ร้องไห้ไปนั่งแก้โค้ดใหม่ไป)

จริงๆแล้วยังมีอะไรในงานอีกมากมายหลายอย่าง ผมพยายามเลือกเฉพาะอันที่น่าสนใจมากที่สุดมาเล่าให้ฟังเท่านั้น ตอนเลือกก็ทำใจยากว่าจะเอาอันไหนมาบ้าง เพราะมันเยอะไปหมด

และนี่ก็คือบรรยากาศงาน Google I/O 2018 ที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสมาครับ จริงๆแล้วมันมีอะไรมากกว่าการที่เรานั่งรอคอยตอนเที่ยงคืนของวันงานเพื่อฟัง Keynote จบแล้วก็กลับไปนอน เพราะงานนี้มีตั้ง 3 วัน เพราะงั้นก็ไม่อยากให้พลาดสิ่งที่น่าสนใจภายในงานไปครับ

สำหรับปีนี้ก็ขอจบการพาเที่ยวย้อนหลังเพียงเท่านี้ ถ้าปีหน้ามีโอกาสได้ไปอีกก็จะเก็บภาพบรรยากาศภายในงานมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ

 

G Bike หรือจักรยาน Google ที่เดิมทีจะให้เฉพาะพนักงาน Google เท่านั้น แต่ในช่วงเวลางาน Google I/O ผู้เข้าร่วมงานทุกคนสามารถหยิบไปขี่ได้ตามใจชอบ (ปกติถ้าโดนเจ้าหน้าที่เจอคือโดนไล่ให้ลงจากรถจักรยานทันทีเลยนะ)

รถบริการน้ำเจ้าเก่า