ในตอนนี้ โรคระบาดที่อันตรายที่สุดในโลกคงหนีไม่พ้น โรคอีโบล่า(Ebola) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายในประเทศแถบแอฟริกา แต่การจดบันทึกข้อมูลด้วยปากกาและกระดาษของผู้ป่วยนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องอยู่ในศูนย์รักษาผู้ป่วยที่เป็นระบบปิด และไม่สามารถที่จะนำออกมาได้ 

ทางทีมแพทย์จึงจับมือกับ Google ผลิตแท็บเล็ตที่สามารถนำเข้าไปใช้ในศูนย์รักษาผู้ป่วยแบบระบบปิด โดยใช้วัสดุห้อหุ้มด้วย โพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ซึ่งสามารถนำออกมาทำการฆ่าเชื้อได้

นับตั้งแต่ปีที่แล้ว(2014) จนถึงปัจจุบัน(มีนาคม 2015) มีผู้ติดเชื้ออีโบล่าอยู่ประมาณ 24,701คน และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อนี้อยู่ที่ราวๆ 10,194คน1 และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเข้าไปรักษาตัวอยู่ในศูนย์รักษาผู้ป่วยแบบปิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อนั้นแพร่กระจายออกไปสู่โลกภายนอก ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นจำเป็นที่จะต้องใส่ชุดคลุมทั้งตัว สำหรับป้องกันการติดเชื้อ

ทีมงานแพทย์ชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยอีโบล่านั้นบอกว่า การที่จะนำข้อมูลของผู้ป่วยติดเชื้ออีโบล่าเข้าและออกจากศนย์รักษาผู้ป่วยแบบปิดนี้ เป็นไปได้ยากลำบากมาก เพราะปากกาและกระดาษนั้นไม่สามารถที่จะทำการฆ่าเชื้อได้ จึงได้ขอร้องให้ทาง Google ทำแท็บเล็ตที่สามารถส่งข้อมูลออกมาข้างนอกได้ แต่ที่สำคัญคือยังต้องสามารถนำแท็บเล็ตออกมาข้างนอกได้อีกด้วย

ทาง Google จึงได้ผลิตแท็บเล็ตที่ห่อหุ้มด้วยโพลีคาร์บอเนต ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยการหย่อนทั้งเครื่องลงไปในคลอรีน (chlorine) เนื่องจากการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์มือถือทั้ง 2G หรือ 3G นั้นยังไม่ครอบคลุมในประเทศแถบแอฟริกา ข้อมูลในแท็บเล็ตไม่สามารถส่งขึ้นอินเตอร์เน็ตหรือ cloud ได้ในทันที จึงต้องมี Server ที่ใช้เก็บข้อมูลจากแท็บเลตซึ่งทำงานด้วยแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน (lithium ion) แบบเดียวกับที่เราใช้ในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทั่วไปนั้นเอง

การร่วมมือกันครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญ ก้าวหนึ่งในการต่อสู้กับโรคร้ายที่กำลังระบาด ทำให้เรามองเห็นว่าเทคโนโลยีที่เราเอาไว้เล่นเกมหรือเล่น social media กันอยู่ทุกวันนั้น สามารถที่จะช่วยชีวิตคนได้ครับ ยังไงก็ขอให้โรคร้ายนี้หายไปจากโลกไวๆ 

 

ที่มา:Wired, Economist1