Google Maps น่าจะเรียกได้ว่าเป็นแอปที่เปลี่ยนโลกอีกตัว ที่ทำให้การเดินทางของผู้คนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากที่ต้องมีความยากลำบากกางแผนที่กันให้วุ่นวายย่อลงมาให้อยู่ในมือถือของเรา วันนี้มีอายุครบ 15 ปี แล้วเรียบร้อย พร้อมเปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้มีความสดใสมากขึ้น และปล่อยฟีเจอร์ใหม่ให้ได้ใช้งานกันทั้งการนำทางแบบ AR และตัวเลือกการเดินทางที่มากขึ้น

Google Maps ได้เริ่มให้บริการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา แก้ปัญหาการนำทางของผู้คนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความต้องการของคนก็เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันก็มีฟีเจอร์เพิ่มเติมขึ้นมาจากแค่การนำทางจากจุด A → B ค่อนข้างมาก โดยฟีเจอร์หลักในปัจจุบันของ Google Maps สามารถแบ่งออกไปได้เป็น 5 หมวดหมู่ดังนี้

  • Explore: ค้นหาสถานที่ที่เราต้องการ พร้อมรายละเอียดต่างๆ ทั้งคะแนนของสถานที่ รีวิวว่าดีไม่ดี เหมาะกับเราแค่ไหน มากกว่า 200 ล้านแห่งทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงร้านอาหารบ้านๆในพื้นที่นั้นๆ และสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจที่ควรต้องไปของเมือง
  • Commute: ตัวเลือกการเดินทางที่ครอบคลุมให้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว หรือขนส่งมวลชน ที่บอกได้ว่าทางไหนจะใช้เวลาน้อยที่สุด และสามารถตั้งค่าการเดินทางประจำวันพร้อมอัพเดทการจราจรแบบเรียลไทม์ ถ้าวันไหนมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะแนะนำทางเลือกอื่นให้ได้ทันที
  • Saved: มีผู้ใช้ทำการบันทึกสถานที่ส่วนตัวต่างๆ บน Google Maps เอาไว้มากกว่า 6.5 พันล้านแห่งทั่วโลก ถ้าใครได้เคยบันทึกสถานที่เอาไว้จะรู้ดีว่าทำให้เกิดความสะดวกอย่างมาก ช่วยในการวางแผนการเดินทางเวลาเที่ยว หรือเปิดดูลิสต์ร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่อยากลองเอาไว้ได้ในที่เดียว จะค้นหาหรือจัดระเบียบก็ทำได้ง่าย แถมยังเขียนรีวิวและข้อแนะนำสำหรับคนอื่นที่อยากจะไปจากสถานที่ที่เราเคยไปมาก็ทำได้
  • Contribute: ไม่ใช่แค่รับข้อมูลมา แต่เรายังสามารถแบ่งปันข้อมูลให้คนอื่นได้อีก ผู้ใช้ Google Maps หลายร้อยล้านคนต่างช่วยกันแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่พวกเค้าไปมาในแอป ทั้งภาพและรีวิว รวมถึงข้อมูลอื่นๆของสถานที่นั้นๆ ทำให้ข้อมูลภายในแอปอัพเดทอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสามารถแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับถนนและที่อยู่ที่ยังขาดหายไปได้ด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้อื่นได้ค้นพบสถานที่ใหม่ๆ และตัดสินใจเกี่ยวกับการเดินทางได้ดีขึ้นอีกต่างหาก
  • Updates: อัพเดทในที่นี้เป็นเหมือนฟีดของสถานที่ต่างๆที่กำลังอินเทรนด์ หรือสถานที่ที่ต้องไป จากเหล่าคนในพื้นที่และเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากการค้นพบสถานที่ใหม่ๆแล้ว ถ้าเราเซฟและแชร์สถานที่ใหม่ๆ ก็สามารถส่งเข้าไปให้เพื่อนๆของเราได้ด้วย หรือจะแชทถามจากเหล่าร้านค้า ธุรกิจต่างๆผ่านทางนี้ก็ยังได้ด้วย

ใครที่เข้าแอปไปแล้วกดค้นหาสถานที่ที่ต้องการ และนำทางเพียงอย่างเดียว ก็ไปลองฟีเจอร์ใหม่ๆเหล่านี้ได้ รวมถึงที่กำลังจะทยอยอัพเดทให้ออกมาได้ใช้กันเร็วๆ นี้

AR in Maps : Live View ไม่หลงทิศอีกต่อไป

ใครเคยต้องหลงทางเพราะโทรศัพท์ไม่สามารถจับทิศหรือตำแหน่งที่เราอยู่ได้ ฟีเจอร์นี้คือคำตอบ เพียงแค่กดนำทางหาสถานที่ที่ต้องการจะไป แล้วยกโทรศัพท์ขึ้นมาให้มันมองเห็นตึกรอบข้าง มันจะสามารถรู้ตำแหน่งของเราได้เลย พร้อมชี้ลูกศรบอกซอยที่ต้องเลี้ยวต่อไปให้เลยทันทีอีกด้วย โดยฟีเจอร์นี้จะทำมาให้สำหรับคนที่เดินเท้าเท่านั้นนะ

ฟีเจอร์นี้ไม่ใช่ฟีเจอร์ใหม่แต่อย่างใด เราได้เห็นการประกาศมาเป็นปีรวมถึงคนไทยบางส่วนก็ได้ใช้ฟีเจอร์นี้กันไปแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงแค่ช่วง Beta ที่จำกัดคนที่จะได้ใช้ในวงแคบเท่านั้น แต่ตอนนี้ Google Maps เตรียมจะเปิดให้ได้ใช้กันเป็นวงกว้างมากขึ้นแล้ว

Transit Attributes : ตัวเลือกรถโดยสารสาธารณะที่ละเอียดขึ้น

ปีที่แล้วเราได้เห็นฟีเจอร์บอกความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้าโดยใช้ข้อมูลจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนไปแล้ว ซึ่งนั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะ Google Maps จะเพิ่มตัวเลือกอื่นมาให้อีกเพียบทั้ง

  • อุณหภูมิ : รถจะร้อนหรือหนาวแค่ไหน
  • อุปกรณ์อำนวยความสะดวก : สำหรับคนที่ต้องการการดูแลพิเศษ เช่น คนพิการ
  • เฉพาะผู้หญิง : ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรืออินเดีย จะมีรถโดยสารสำหรับผู้หญิงเท่านั้นอยู่
  • จำนวนตู้โดยสาร : (เฉพาะในญี่ปุ่น) หากขบวนไหนมีเยอะ ก็จะเพิ่มโอกาสให้เรามีที่นั่งได้มากขึ้นด้วย

ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะสะดวกสบายและดีขึ้นมาก และเราสามารถช่วยเหลือคนอื่นที่จะขึ้นตามเรามาในอนาคตได้โดยการตอบ survey ใน Google Maps อีกด้วย

โดยทั้ง AR Maps และ Transit Attributes นี้จะเริ่มเปิดให้ใช้งานกันทั่วโลกในเดือนมีนาคมนี้ แต่ความสามารถอาจจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศและพื้นที่  และจะทยอยอัพเดทให้เรื่อยๆแบบสุ่ม เพื่อความเท่าเทียมกันนะ ซึ่งตัวแอปกำลังจะเปลี่ยนไอคอนใหม่ อีกด้วย ถ้าใครเห็นไอคอนและโลโก้นี้แล้วก็อย่าตกใจหรือสงสัยไปนะ ยังไงก็อย่าลืมไปอัพเดทกันด้วยเด้อ