หลาย ๆ ครั้งเรายอมซื้อของมาแล้วจาก Google Play Store ไม่ว่าจะเป็นแอปหรือเกม เราก็อยากให้ของที่ซื้อมามันใช้ได้โดยหลาย ๆ คน โดยไม่ต้องคอยสลับล็อกอินแอคเคาท์ หรือยืมเครื่องกันไปมา ทีนี้ Google Play เค้าก็มีระบบที่ทำให้เราสามารถใช้ของที่ซื้อมาร่วมกันได้สูงสุดถึง 6 คน เรียกว่า Google Play Family Library ครับ ไม่ว่าแอปราคาซื้อมาเท่าไหร่ ถ้ากดเข้าในคลังครอบครัว ทุกคนก็โหลดไปใช้ได้กันฟรี ๆ เลย
Google Play Family Library คืออะไร
Google Play Family Library คือคลังของครอบครัวที่สามารถแชร์ แอปและเกมที่ซื้อจากใน Google Play Store ให้กับสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นช่องทางช่วยประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อกันหลายรอบถ้าอยากให้ของที่ซื้อมาใช้กันได้หลาย ๆ คน พร้อมเป็นการช่วยตั้งค่าแอปมือถือแต่ละคนได้ง่าย ๆ ว่าจำเป็นต้องมีแอปอะไรบ้าง ก็ใส่ Library เอาไว้ได้เลย โดย Family นึงสามารถมีสมาชิกทั้งหมด รวมคนสร้างแล้ว 6 คนครับ โดยบทความนี้เราจะมาบอก
- วิธีสร้าง Google Play Family Library
- การตั้งค่าอนุมัติการซื้อของสมาชิก
- การกดซื้อของเข้า Family Library
- ข้อควรระวังในการใช้งาน
1.วิธีสร้าง Google Play Family Library
วิธีสร้างตี้ครอบครัวเริ่มได้โดยการเข้าไปที่แอป Google Play Store แล้วกดรูปโปรไฟล์เราที่ด้านขวาบน > กด Setting > กด Sign up for Family Library ในแถบ Family
จากนั้นก็กด Sign up > กด Continue จนถึงหน้าให้เราเตรียมใส่ช่องทางจ่ายเงิน > กรอกข้อมูลบัตรชำระเงินและประเทศที่อยู่แล้วกด Accept (สร้างตี้สมาชิกต้องมาจากประเทศเดียวกันนะครับ)
แล้วเราก็จะมาถึงหน้าให้เพิ่มของเข้า Family Library กด continue > กดเลือกได้ว่าจะใส่ของที่เคยซื้อมาอัตโนมัติเลย หรือจะกดเพิ่มเข้าเอาทีหลัง
พอกดเสร็จแล้วก็จะพามาหน้าเพิ่มสมาชิก กด continue > กดเลือกว่าจะชวนใคร จาก contact หรือจะพิมพ์อีเมล์ใส่ก็ได้ > กด Send เพื่อส่งคำเชิญ
เพียงเท่านี้ก็ถือว่าสร้าง Family library เสร็จแล้ว คนได้รับคำเชิญก็ต้องไปกดยอมรับคำเชิญที่อีเมลเท่านั้นเองครับ หากจะเพิ่มหรือลบสมาชิกก็แค่เข้าไปกดในแถบ Family Library เหมือนเดิม
2.วิธีตั้งค่าอนุญาตการซื้อของสมาชิกในบ้าน
โดยเบื้องต้นแล้วสมาชิกทุกคนในบ้านมีสิทธิกดซื้อของได้ทุกอย่าง ยกเว้นการซื้อไอเท็มในแอป ที่จะมีการแจ้งเตือนมาหาเจ้าบ้านให้เลือกกดอนุมัติก่อนครับ ถ้าอยากควบคุมได้ทุกอย่างที่ลูกบ้านซื้อ ก็ต้องไปตั้งค่าบัญชีแบบครอบครัวว่าใครเป็นผู้ปกครอง ใครเป็นเด็กด้วย Family Link ซะก่อนนะ ดังนั้นถ้าใครมีสมาชิกบ้านที่อาจจะเป็นเด็ก ๆ ที่ชอบซุกซน อาจกดไปซื้อของรัว ๆ จนล้มละลายกันได้ ก็จำเป็นอย่างมากที่เราต้องมาตั้งค่าให้ต้องรับอนุมัติคำสั่งซื้อจากเราก่อน เวลาจะกดซื้อของ
ซึ่งมีวิธีโดยการกดไปที่ Setting เหมือนเดิม แล้วเลือก Manage family members > เลือกสมาชิกที่เราจะตั้งค่า
จากนั้นกด Purchase Approvals > เลือกระดับอนุมัติการซื้อของ โดยมีระดับดังนี้ (1) ต้องรออนุมัติทุกการซื้อ (2) ต้องรออนุมัติเฉพาะการซื้อในแอป (3) กดซื้อได้ทุกอย่างไม่ต้องรออนุมัติซึ่งถ้าไม่ใช่สมาชิกที่ตั้งค่าว่าเป็นลูกใน Family Link จะปรับได้แค่ 2 ระดับล่างครับ
เพียงเท่านี้เราก็สามารถตั้งค่าแล้วว่าสมาชิกคนไหนจะสามารถซื้อของยังไงได้บ้าง ไม่ต้องกลัวมีบิลแจ้งเตือนอะไรที่เราไม่ทันตั้งตัวครับ แต่ก็สังเกตได้ว่าถ้าไม่ตั้งค่าเป็นแบบครอบครัวแล้ว ทุกคนก็กดซื้อแอปกันได้หมดเลย ดังนั้นระบบนี้เหมาะกับการเพิ่มสมาชิกที่เป็นคนสนิท หรือเป็นครอบครัวกันจริง ๆ ไม่งั้นคนแอบซื้อของโดยใช้เงินเราได้ง่าย ๆ เลยนะ
3.วิธีซื้อของใส่ใน Google Play Family Library
ถ้าเกิดเราอยากซื้อของใหม่เข้ามาใน Library เวลาซื้อให้มองหาโลโก้รูปบ้าน ถ้ามีแปลว่าใส่เข้ามาใน Library ได้ครับ แต่เวลาซื้อต้องอย่าลืมกดเปลี่ยนวิธีชำระเงินให้เป็นอันที่เราตั้งไว้เป็น Family Payment ก่อนกดซื้อด้วยนะ หลังกดซื้อถ้าเราเคยตั้งให้เพิ่มเข้าแบบอัตโนมัติแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรอีกครับ ตัวแอปจะเข้ามาใน Family library เอง
แต่ถ้าใครไม่ได้กดให้เพิ่มเข้าแบบอัตโนมัติ หลังซื้อก็จะเห็นปุ่มอยู่ในหน้าร้านค้า ขึ้นว่า Family Library ให้กดเปิดปุ่มนั้นก็จะเป็นการเพิ่มเข้ามาในคลังครอบครัวแล้วครับ
เพียงเท่านี้ ทกคนในครอบครัวก็สามารถเปิดหน้าแอปเพื่อดาวน์โหลดแอปที่เคยซื้อมาแล้วได้เลย ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้ยุ่งยากครับ ง่าย ๆ แค่นี้เอง เป็นฟีเจอร์มีประโยชน์ที่ทุกคนควรรู้จักและเข้าตี้กันเอาไว้ได้แล้ว จะได้คอยแชร์แอปและเกมดี ๆ ให้ได้ใช้กันทุกคนครับ
4.ข้อควรระวังในการใช้ Family Library
ก่อนจะใช้งานเปิดตี้ให้คนอื่นเข้ามาแชร์แอปกัน ก็ควรรู้ข้อเสียหรือข้อควรระวังในการใช้งาน Family Link ซะก่อนนะครับ
ความเป็นส่วนตัวการซื้อแอปต่าง ๆ และข้อมูลบัตรชำระเงิน
เวลาใครจะกดซื้อของอะไรโดยใช้ Family payment แน่นอนว่าตัวใบเสร็จชำระเงินหรือถ้ามีการตั้งค่าให้ต้องกดอนุมัติก่อน ผู้จัดการครอบครัวก็จะรับรู้ได้ทั้งนั้น ดังนั้นใครอยากเก็บข้อมูลพวกนี้ ไม่ได้ต้องการให้คนอื่นรู้ว่าเราจะซื้ออะไรก็ไม่ควรใช้ตัวนี้ครับ และถึงแม้เวลาคนอื่นกดเลือก Family payment จะเห็นเลขท้ายบัตรอยู่เพียงไม่กี่ตัว แต่ก็ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จริง ๆ แล้วไม่ควรมีใครได้มองเห็นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหากจะดึงใครมาเข้ากลุ่มก็ต้องมั่นใจว่าเป็นคนที่เชื่อถือได้ ไม่งั้นอาจถือเป็นการเปิดช่องโหว่ให้คนอื่นได้ข้อมูลบัตรของเราไป
คนอื่นใช้เงินเราซื้อของได้ง่าย ๆ ถ้าไม่ไปตั้งค่าการอนุญาต
อย่างที่เตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว พอเพิ่มคนเข้ามาใหม่ คนนั้นก็จะเริ่มซื้อแอปใหม่ได้เลยโดยไม่ต้องรอการอนุมัติ ที่ต้องรอการอนุมัติก็มีแต่การซื้อของในแอปเท่านั้น แล้วถ้าต้องการกำหนดให้ซื้อแอปใหม่ไม่ได้ต้องไปตั้งค่า Family Link ว่าเป็นลูกของผู้จัดการบ้านเท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นข้อจำกัดที่ค่อนข้างยุ่งยากอยู่พอควรกว่าจะไปตั้งค่าให้ได้ดั่งใจ ดังนั้น Family Library ก็ควรใช้ให้เหมาะสมกับชื่อเค้า คือใช้เพิ่มคนในครอบครัวที่เรารู้จักกันดีนั่นเองครับ
ต้องอยู่ใน Family เดียวกันไปทุกบริการของ Google
อีกข้อที่ควรรู้เอาไว้ก่อนจะใช้งาน Family Library ก็คือว่าการเพิ่มเข้ามาในครอบครัวจะเป็นการเชื่อมต่อบริการของ Google อย่าง Google One, โน้ต Keep, ปฏิทินครอบครัว, สมาชิก Youtube Premium/Music และการแชร์รูปภาพและวิดีโอภายในครอบครัวด้วย ดังนั้นถ้าจะใช้ Google Family Library ก็ต้องดูด้วยว่าเรามีความจำเป็นยังต้องแชร์บริการอื่น ๆ กับใครอยู่หรือเปล่า เพราะไม่งั้นมาเข้ากลุ่มแล้วก็ต้องแชร์บริการกับตี้ครอบครัวนี้ไปเลยครับ
พอได้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการ Family Library กันแล้ว ก็หวังว่าจะมีความเข้าใจครอบคลุมทุกการใช้งานสำคัญนะครับ ทีนี้ใครที่อยากสร้างตี้ไว้แชร์แอปและบริการอื่น ๆ ของ Google ก็ไปจัดการตั้งค่าอะไรให้เรียบร้อย และใช้งานทุกอย่างอย่างคุ้มค่าครับ
Comment