Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้งาน AI Chatbot ของผู้คนในปัจจุบัน ที่เริ่มใช้ ChatGPT เป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ ในชีวิต หรือใช้เพื่อค้นหาข้อมูลแทน Search Engine อย่าง Google ไปเลยก็มี โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่หรือ Gen Z ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กเจนเนอเรทีฟแบบเต็มตัว ด้วยการใช้ ChatGPT “ตัดสินใจทุกอย่างในชีวิต”

ภายในงาน AI Ascent ที่จัดขึ้นโดย Sequoia Capital ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Sam Altman ได้พูดถึงพฤติกรรมการใช้งาน AI Chatbot ของคนแต่ละรุ่น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่า “พวกเขาแทบจะไม่ตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตด้วยตัวเองก่อนเลย ถ้าไม่ได้มาถาม ChatGPT ก่อน” พร้อมกล่าวเสริมว่าในตอนนี้ AI รู้ทุกซอกทุกมุมเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา รู้แม้กระทั่งว่าแต่ละคนเคยคุยหรือปรึกษาอะไรกันบ้าง

การเปรียบเทียบดังกล่าว Sam Altman ได้เปิดเผยว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่มักจะใช้ ChatGPT เพื่อค้นหาข้อมูลแทน Google ส่วนคนที่มีอายุประมาณ 30 ปี ก็มักจะใช้เพื่อปรึกษาเรื่องทั่วไปในชีวิตตัวเอง แต่เมื่อข้ามมาดูที่กลุ่มเด็กวัยรุ่นพวกเขาใช้ ChatGPT เป็นเหมือน “ส่วนหนึ่งของร่างกาย” ไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ ปัญหาหัวใจ หรือการวางแผนชีวิตในอนาคต

“พวกเขาใช้มันมากกว่าแค่การคุยเรื่องทั่วไป บางคนถึงขั้นจำคำสั่ง (prompts) ยากๆ ไว้ในหัวตลอดเวลาเพื่อเอาไว้ใช้คุยหรือดูดวงกับ ChatGPT เลยด้วยซ้ำ”

ถ้าอ้างอิงตามรายงานจาก OpenAI เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีข้อมูลออกมาว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มคนที่ใช้ ChatGPT เยอะที่สุด ทั้งในแง่ของจำนวนกับความถี่การใช้งานในแต่ละวัน โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่มีอายุ 18-24 ปี เป็นช่วงอายุที่ใช้งาน ChatGPT เยอะที่สุด

ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ แนวโน้มการใช้งาน ChatGPT กำลังเข้าถึงกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ตามผลสำรวจของ Pew Research ในเดือนมกราคม 2024 พบว่า 26% ของวัยรุ่นที่มีอายุ 13-17 ปี ในสหรัฐฯ ใช้ ChatGPT เพื่อช่วยทำการบ้าน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ดีดขึ้นมาจาก 13% ในปี 2023 สะท้อนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ กำลังเติบโตมาพร้อมกับ AI ที่ไม่ใช่แค่ “ตัวช่วย” อีกต่อไป แต่เป็นเหมือน “ที่ปรึกษาประจำตัว 24 ชม.”

ยังไงก็ตาม ถึงการใช้ AI จะมีข้อดีในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ แต่ก็ยังมาพร้อมกับความกังวลจำนวนมากถึงผลเสียที่แอบแฝงมาด้วย เช่นในปี 2023 รัฐแคลิฟอร์เนียเคยเสนอร่างกฎหมายบังคับให้บริษัท AI ทุกเจ้า ต้องทำการแจ้งผู้ใช้งานที่เป็นเยาวชนให้ชัดเจนว่า พวกเขากำลังพูดคุยกับ ‘AI หรือปัญญาประดิษฐ์’ ที่ไม่ใช่คนจริงๆ หรือจะเป็นรายงานจาก Common Sense Media ซึ่งทำร่วมกับนักวิจัยจาก Stanford ก็เคยออกมาให้คำแนะนำว่า “ไม่ควรปล่อยให้เยาวชนใช้ AI เป็นเพื่อนคุยแบบจริงจัง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม”

ทางฝั่งของ Sam Altman ก็มองว่าหัวใจสำคัญของการมี AI ขึ้นมาก็เพื่อให้ AI พัฒนาหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปพร้อมกับผู้ใช้อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ คือ AI ที่เข้าใจตัวเองและสามารถเป็นที่พึ่งหรือที่ปรึกษาได้ตลอดเวลา

ที่มา: quartz