หลังการที่ดูสเปค CPU, GPU ของโน้ตบุ๊ค ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้มาต่อกันที่วิธีการดู Ram, HDD และ SSD กันบ้าง ซึ่งเพื่อนๆ สามารถซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาอัปเกรดโน้ตบุ๊คให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ โดยในบทความนี้เองทีมงานก็จะมาอธิบายสเปค วิธีการดู และเลือกซื้อยังไงให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละประเภทไปดูกันเลยครับ

Ram

ย่อมาจาก Random Access Memory ซึ่ง “แรม” ก็คือ หน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมและความเร็วในการทำงานของระบบโดยทั่วไปแล้วยิ่งมี Ram เยอะประสิทธิภาพในการทำงานก็ยิ่งขึ้นไม่ต่างจาก Ram ของมือถือ โดย Ram ของโน้ตบุ๊คที่วางขายในปัจจุบันจะมีขนาดเล็กกว่า PC และ วิธีดูสเปค Ram จะดูที่ ขนาด, DDR และ Bus เป็นหลัก เช่น Ram 4 GB DDR3 Bus 1666, Ram 8 GB DDR4 Bus 2400 เป็นต้น

วิธีดู Ram เบื้องต้น

วิธีเช็คบนเครื่องว่าใช้ Ram อะไรอยู่ ขนาดเท่าไร

แนะนำว่าให้ใช้โปรแกรม CPU-Z ในการเช็ค โดยดาวน์โหลดติดตั้งให้เรียบร้อยแล้วไปดูที่หน้า Memory ตามรูปครับ

  • Type คือ ประเภทของ Ram เป็น DDR3
  • Size ขนาดของ Ram ตัวเครื่องทั้งหมด 8 GB (เครื่องที่ใช้มี Ram 2 ตัว คือ 4 + 4 GB)
  • Channel# การทำงานของ Ram เป็น Dual (เพราะใช้ Ram 2 ตัว ส่วนถ้าใช้ตัวเดียวจะเป็น Single)
  • DRAM Frequency คือ Bus ของ Ram ในรูปคือ 798.1 MHz ซึ่งต้องนำมาคูณ 2 จะได้ประมาณ 1600 MHz ถึงจะได้เลข Bus Ram จริงๆ

**เท่ากับว่า Ram เครื่องนี้ใช้ Ram รวมกันขนาด 8 GB DDR3 Bus 1600 MHz ทำงานแบบ Dual Channel ครับ

คำแนะนำ

  • การซื้อ Ram มาอัปเกรดต้องซื้อ DDR เท่ากัน Bus เท่ากัน ถึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่สามารถใช้  Ram DDR ข้ามรุ่นกันได้
  • ในกรณีที่เครื่องใช้ Ram 8 GB DDR4 Bus 2400 แต่ไปซื้อ Ram 8 GB DDR4 Bus 2666 มาใส่ สามารถใส่ได้ แต่จะเครื่องใช้ Bus Ram ต่ำสุดของที่ใส่เท่านั้น (2400) ทำให้ใช้ตัว Bus 2666 ไม่คุ้ม
  • การอัปเกรด Ram คนละขนาดกันสามารถทำได้ เช่น 4+8 GB, 8+16 GB และวิ่ง Dual Channel เท่ากับรุ่นน้อยสุดเสมอ เช่น 4+8 GB จะทำงาน Dual Channel เฉพาะแค่ 4+4 GB ส่วนอีก 4 GB ที่เหลือจะทำการวิ่งแบบ Single Channel
  • Ram ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น PC หรือ โน้ตบุ๊ค ควรมีขั้นต่ำ 8 GB เพราะ Windows 10 เดี๋ยวนี้เปิดเครื่องมาก็กิน Ram ไปเกือบ 3 GB แล้ว ทำให้ถ้าเครื่องมี Ram แค่ 4 GB ไม่ค่อยพอใช้
  • หลายคนมักสงสัยว่าระหว่าง Ram 8 GB 1 แถวกับ Ram 4 GB 2 แถว แบบไหนแรงกว่ากัน คำตอบก็คือ Ram 4 GB 2 แถวแรงกว่าเพราะทำงานเป็น Dual Channel ครับ

SSD

ย่อมาจาก Solid State Drive แต่คนมักเรียกว่า “เอส เอส ดี” คืออุปกรณ์ไว้สำหรับจัดเก็บข้อมูลความเหมือนกับฮาร์ดดิสก์ รูปแบบการบันทึกข้อมูลจะเป็นแบบ Flash Memory คล้าย FlashDrive ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่าฮาร์ดดิสก์ปกติหลายเท่า น้ำหนักเบากว่า คงทนกว่า โดยปัจจุบันจะแบ่งฟอร์มออกเป็น 2 แบบหลักๆ ได้แก่ SSD (ธรรมดา) กับ SSD m.2

SSD (ธรรมดา) ขนาดพอๆ ฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้วของโน้ตบุ๊ค ใช้การเชื่อมต่อจะเป็นแบบ SATA สามารถถอดฮาร์ดดิสก์อันเก่าเสียบ SSD ใส่แทนได้เลย โดยมีความเร็วในการอ่านเขียนสูงสุดไม่เกิน 600 MB/s ซึ่งเร็วกว่าฮาร์ดดิกส์ปกติ 5-6 เท่า ขนาดเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ 128 GB ไปจนถึงหลาย TB กันเลยทีเดียว

SSD m.2 ขนาดจะเล็กลงกว่า SSD ธรรมดา เป็นแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไซต์ที่ปัจจุบันที่นิยมใช้คือ 2280 โดย SSD m.2 จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภทคือ SATA และ PCIe NVMe หน้าตาคล้ายกันแต่ความเร็วต่างกันมาก

  • m.2 SATA ความเร็วจะเท่ากับ SSD(ธรรมดา) คือ อ่านเขียนไม่เกิน 600 MB/s ลักษณะจะมี 3 ขา 2 แหว่ง และสามารถใส่ได้กับช่อง m.2 ของโน้ตบุ๊คเกือบทุกรุ่น

  • m.2 PCIe NVMe มีความตั้งแต่ 600 MB/s ขึ้นไป บางรุ่นแรงถึงอ่านเขียนระดับ 3000 MB/s ก็มี ซึ่งก็มีราคาค่อนข้างสูงตามความแรงและความจุ ลักษณะจะมี 2 ขา 1 แหว่ง และสามารถใส่ได้เฉพาะเครื่องที่รองรับเท่านั้น (**ล่าสุดมีแบบรอ 3 ขา 2 แหว่ง ด้วยต้องเช็คดีๆ)

วิธีเช็คว่าเครื่องใช้ SSD ความเร็วเท่าไร

แนะนำโหลดโปรแกรม CrystalDiskMark จาก ที่นี่ ติดตั้งให้เรียบร้อย เปิดโปรแกรม แล้วกดที่ปุ่ม All เพื่อทำการทดสอบ

จากรูปในกรอบสีแดงจะเห็นว่า SSD เครื่องนี้ที่ใช้เป็นขนาด 128 GB (ใช้ได้จริง 111 GB) ในกรอบสีส้มคือมีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 468.7 MB/s และการเขียน 138.1 MB/s เท่ากันว่าเครื่องนี้ใช้ SSD แบบ SATA นั่นเอง

คำแนะนำ

  • โน้ตบุ๊คควรมี SSD อย่างน้อย 1 ลูก ไว้สำหรับลง Windows และลงโปรแกรมต่างๆ เพื่อการใช้งานที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันเริ่มต้นขนาด 128 GB ราคาเหลือไม่ถึงพันแล้ว
  • SSD กับ SSD m.2 SATA ความเร็วที่ได้เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปได้เหลือๆ ทั้งทำงานและเล่นเกม ซึ่งถ้าหากไม่ได้ใช้งานจริงจังหรือเปิดไฟล์ใหญ่ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ SSD m.2 PCIe NVMe ก็ได้ เน้นเรื่องความจุจะดีกว่า
  • สำหรับโน้ตบุ๊ครุ่นเก่าๆ ที่ไม่มีช่อง m.2 หากจะอัปเกรด SSD ต้องถอดฮาร์ดดิสก์ลูกเก่าออกก่อน แล้วใส่ SSD อันใหม่ไปแทน
  • ถ้าจะใส่ SSD m.2 PCIe NVMe ต้องเช็คตัวโน้ตบุ๊คให้ดีๆ ก่อนว่ารองรับหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะสเปคเดียวกัน ขนาดเท่ากัน แต่คนละยี่ห้อบางทีก็ใช้ไม่ได้ หรือบางกรณีก็ต้องอัปเดต Bios โน้ตบุ๊คก่อนถึงจะมองเห็นก็มี ทางที่ดีที่สุดคือเอาเครื่องไปใส่ที่ร้านทดสอบเลยว่าใช้ได้ไม่ได้ครับ

HDD

ย่อมาจาก Hard Disk Drive คนมักเรียกสั้นๆ ว่า”ฮาร์ดดิสก์” ซึ่งก็คืออุปกรณ์ที่เป็นตัวเก็บข้อมูลต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ที่เราใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็น OS Windows, ภาพ, เกม, หนัง, เพลง หรือไฟล์งานต่างๆ ลักษณะกล่องเหล็กสี่เหลี่ยมๆ มีจานหมุนอยู่ข้างใน ซึ่ง HDD ที่อยู่ในโน้ตบุ๊คจะมีขนาด 2.5 นิ้ว (PC ขนาดใหญ่กว่าคือ 3.5 นิ้ว) วิธีดูสเปค HDD ที่ใช้งานกันตามบ้านทั่วไปจะดูที่ขนาดและรอบ RPM เป็นหลัก เช่น 1 TB 5400 RPM, 2 TB 7200 RPM เป็นต้น

**RPM ย่อมาจาก Revolutions per minute หมายถึงรอบหมุนต่อหนึ่งนาที ยิ่งรอบเยอะประสิทธิภาพยิ่งแรง

วิธีเช็คว่าเครื่องใช้ HDD ความเร็วเท่าไร

แนะนำให้ใช้โปรแกรม HD Tune ดาวน์โหลด ที่นี่ ติดตั้ง เปิดโปรแกรม เลือกช่องด้านบนซ้ายเป็น HDD แล้วกด Start

จากรูปในกรอบสีแดงคือชื่อรุ่น HDD ที่เราใช้อยู่ขนาด 1 TB กรอบสีส้มคือผลเทสต่างๆ โดยมีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลกรอบสีส้มน้อยสุดที่ 98.5 MB/s สูงสุดที่ 210.1 MB/s ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 166.3 MB/s และมีอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ 14.2 ms ส่วนในกรอบสีเขียวคือกราฟการถ่ายโอนข้อมูลของฮาร์ดดิกส์ ผลเทสถือว่า HDD ลูกนี้เสถียรดีมาก กราฟไม่เหวี่ยง ไม่แกว่งมาก

(ตัวอย่าง HDD ที่ไม่เสถียรผลเทสกราฟแกว่งสุดๆ)

คำแนะนำ

  • ไม่ควรใช้ HDD ธรรมดาในการลงพวก OS Windows แล้ว เพราะทำให้เครื่องเปิดปิดเครื่องช้า เปิดปิดโปรแกรมช้า แถมจะเจอปัญหา Disk 100% ทำให้เครื่องอืดอีกด้วย
  • ทุกวันนี้ HDD ควรใช้แค่เก็บพวกไฟล์งานดิบเท่านั้น เช่น ไฟล์เอกสาร, หนัง, เพลง, รูปภาพ ไม่ควรนำมาใช้ลงโปรแกรมถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
  • HDD 5400 RPM กับ 7200 RPM ความเร็วจากการใช้งานแตกต่างกันอย่างรู้สึกได้ แต่ก็ไม่เร็วเท่า SSD อยู่ดี
  • สำหรับ HDD ที่เหลือจากเครื่องเก่า สามารถแปลงไปช่อง DVD ของโน้ตบุ๊ค หรือแปลงเป็น External HDD ได้ผ่าน Box (ดูได้จากรูปด้านล่าง)