ในยุคที่ใครก็สามารถมีชื่อเสียงขึ้นมาได้จากการสร้างสรรค์เนื้อหาลงใน Social Media ต่าง ๆ ทำให้เราเห็นคนเก่งมีความสามารถเกิดขึ้นกันเต็มไปหมดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่สิ่งนึงที่ทุกคนที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้ต้องเจอ คือ คอมเมนต์หรือคำวิจารณ์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าได้คำชมก็เป็นกำลังใจที่ดีให้ทำต่อไป แต่ในทางกลับกันถ้าเจอในด้านลบ ก็อาจจะทำให้หมดแรงทำต่อ รวมถึงนำพาให้ชีวิตพัง เสียความมั่นใจในตัวเองกันไป

บทความนี้เขียนขึ้นมาสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะโด่งดังคนรู้จักมากมาย หรือแค่วงแคบๆในหมู่เพื่อนๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันดีคืนดีสิ่งที่เราโพสต์จะดังปังไกล มีคนแชร์หลายพันหลายหมื่นเมื่อไหร่ ซึ่งแน่นอนว่าก็จะมีคนมากมายหลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่ ทั้งคนดีมีมารยาทหรือคนนิสัยเสียมีปัญหาทางจิต เข้ามาเยี่ยมเยียนเหมือนทัวร์ลง หรือบางทีแค่เพื่อนกันเองก็ยังทำกันได้ ซึ่งข้อมูลต่างๆนี้เราได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้ รวมถึงประสบการณ์ที่ทีมงานเราได้เจอกับตัวมาเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกันได้อย่างถูกต้องนะ

Cyber bullying, rumors, discredit, bullying, insult, racist, threat, harassment, hacking

ทำความเข้าใจทำไมคนถึงต้องร้ายและหยาบคายใส่กัน

โดยปกติของคนที่มีความสมดุลทางอารมณ์และความคิด จะไม่ไปก่นด่าหรือไล่คอมเมนต์ด้านลบใส่คนอื่นที่ไม่รู้จักตลอดเวลา แต่สำหรับคนที่กำลังประสบปัญหา มีความเครียดด้านใดด้านหนึ่ง ก็มักจะต้องการที่ระบายออก เพื่อปรับสมดุลให้กับตัวเอง โดยมักจะเลือกคนที่ “แตกต่าง” เป็นสนามอารมณ์ ขยี้ไปยังปมบางอย่าง เช่น สีผิว ความเชื่อ ศาสนา รสนิยมทางเพศที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่คนเหล่านี้เลือกที่จะไปบูลลี่ชีวิตคนอื่น ว่า

  • อยากเป็นที่สนใจ เพราะในชีวิต “ด้านหนึ่ง” ของเค้า เป็นมนุษย์ล่องหนที่ไม่มีตัวตน
  • อิจฉาในสิ่งที่คนอื่นมี และคิดว่าตัวเองควรได้รับสิ่งที่ดีกว่าคนๆนั้น
  • ต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเค้าเจ๋ง และรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ โดยการกดคนอื่นให้ต่ำลง
  • เกลียดตัวเอง ไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น และแก้ไขไม่ได้ จึงเลือกที่จะด่าคนอื่นในเรื่องเดียวกัน
  • แก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ เลยต้องหนีปัญหาด้วยการมาทำลายคนอื่น

และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรต้องรู้ไว้ คือ ไม่ใช่ว่าเราต้องเจอเรื่องแบบนี้แค่คนเดียว มันเป็นเรื่องที่หลายคนต้องเจอสักช่วงหนึ่งของชีวิต โดยผลการสำรวจในไทยจากเด็กกว่า 1600 ราย พบว่ามีเด็กที่เคยถูกเพื่อนกลั่นแกล้งบูลลี่ จำนวนที่สูงถึงร้อยละ 91 และเกือบร้อยละ 30 เคยโดนแกล้ง ด่าทอทางออนไลน์ เลยทีเดียว1

1อ้างอิงครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกทม.และปริมณฑล โดย อ.ธานี ชัยวัฒน์ จากการสนับสนุนของดีแทค ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลเอาไว้เพิ่มเติมที่ learn.safeinternet.camp ซึ่งจะมีการสอนเกี่ยวกับทักษะการรับมือภัยในโลกออนไลน์อื่นๆเพิ่มเติมเยอะเลยครับ แนะนำลองอ่านเพิ่มเติมได้นะ

9 แนวทางที่ควรทำเมื่อมีคนมาพูดถึง หรือคอมเมนต์แย่ๆ บนโลกออนไลน์

เมื่อเราแสดงความคิดเห็น หรือมีตัวตนบนโลกออนไลน์ การที่มีคนพูดถึงหรือคอมเมนต์ดูจะเป็นเรื่องที่เลี่ยงกันไม่ได้ ซึ่งคอมเมนต์เหล่านี้ก็จะมีทั้งดีและแย่ มีประโยชน์และไร้สาระ อันไหนที่เป็นการติชมอย่างมีเหตุมีผลมีมารยาท ก็ควรค่าแก่การนำเอามาคิดพิจารณา แต่หลายครั้งเราก็จะเจอความเกรี้ยวกราดจากคนบางกลุ่มที่พร้อมจะมาถล่มด่ายิ่งกว่าพายุ ซึ่งแนวทางในการรับมือที่มักจะแนะนำให้ใช้กันก็จะมี 9 ข้อดังนี้

    1. อย่าเอาคืนและตอบโต้ด้วยคำด่าที่แรงกว่า เพราะมันจะมีแต่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และเราก็จะกลายเป็นหนึ่งในคนที่หยาบคายไปด้วย ถ้าเค้าเข้าใจผิดหรือรับรู้มาแค่ด้านเดียวก็ตอบกลับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างสุภาพไป
    2. อย่าเก็บเอาคอมเมนต์แย่ๆมาคิด หรือสงสัยในความเชื่อ ความสามารถของเรา ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ทำต่อไปเถอะ
    3. อย่าอ่านคอมเมนต์แย่ๆซ้ำไปซ้ำมา ยิ่งอ่านมีแต่จะทำให้จิตใจหดหู่ลงโดยเราก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ส่วนคนที่พิมพ์เอาไว้เค้าก็ไม่ได้สนใจว่าเราจะรู้สึกอย่างไรด้วย
    4. เข้าใจว่ามีมุมมองหรือความเชื่อที่แตกต่าง ความคิดของเราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล คนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะคิดเห็นต่างไปจากเราได้เหมือนกัน บางครั้งคอมเมนต์ที่แย่อาจจะเป็นเพียงความคิดที่เห็นต่างก็เป็นได้
    5. รู้จักที่จะมองข้ามและเพิกเฉย บางครั้งการตอบโต้ที่ดีที่สุด คือ ความเงียบ และทำเรื่องดีๆ เป็นประโยชน์กับคนอื่น ก็จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนได้เหมือนกัน
    6. เข้าใจว่าคนเหล่านี้ต้องการให้เรารู้สึกแย่ เพียงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี
    7. ใช้กฎ 30 วิ พักก่อนโพสต์ หลังจากพิมพ์ตอบโต้เสร็จ อย่าเพิ่งกดส่งทันที ให้เดินไปทำอะไรสักแป๊บก่อนจะตอบโต้ เพื่อดึงสติ คิดให้ดีอีกครั้งก่อนส่ง
    8. หยุดการใช้เทคโนโลยี ถ้าการติดหนึบอยู่กับเรื่องเดิมๆ รู้สึกเครียดจนเกินไป ให้ลองพักหยุดเล่นโซเชียลสักวัน พักไปอ่านหนังสือ แช่น้ำอุ่น หรือออกไปทำอย่างอื่นบ้าง เช่น การเล่นกีฬา เดินเสพย์งานศิลป์ พบปะผู้คนใหม่ๆที่มีความสนใจคล้ายกัน
    9. พูดคุยกับคนที่มีความเชื่อ ความชอบเหมือนๆกัน เพื่อเติมพลังด้านบวก และทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวกับสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราทำ

อย่างไรก็ดี แนวทางเหล่านี้จะเหมาะสำหรับคนที่ถูกแซะแซว นินทาว่าร้ายทางออนไลน์ โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่รวมถึงการกระทำอื่นๆ เช่น การโดนสร้างข่าวปลอม หรือความพลั้งเผลอทำผิดไป ซึ่งเรื่องเหล่านั้นเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการแจ้งเรื่องจริงให้ได้ทราบ พร้อมหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อแก้ต่าง หรือเราทำผิดพลาดไปจริงๆ ก็ยอมรับผิดและขอโทษอย่างจริงใจ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับนึงเช่นกัน แต่หากคนยังไม่เลิกรา และสร้างเรื่องหาราวให้วุ่นวายใจ ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นไป และอาจต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือไป

รู้หรือไม่ หากมีข้อมูลส่วนตัวของเราถูกแชร์ไปผิดๆ หรือสร้างความเสียหาย เราสามารถรายงานต่อแพลตฟอร์มนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook YouTube Instagram รวมถึงผลการค้นหาต่างๆ เพื่อให้ลบเนื้อหาเหล่านั้นทิ้งไปได้

The cyber bullying red button on silver keyboard .

วิธีการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ปัญหาความเกรี้ยวกราด ด่าทอกันบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่แต่อย่างใด และเป็นเรื่องที่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ผู้คนเริ่มชินชากับความหยาบคาย เลือกที่จะเปิดเผยอีกด้านมืดของตัวเองหลังคีย์บอร์ด โดยคิดว่าตัวเองจะไม่ต้องรับผลจากการกระทำของตัวเอง ทางแก้ที่จะช่วยกันทำให้ปัญหานี้เบาลงได้ ไม่ใช่เพียงการอยู่เฉย ไม่ตอบโต้ แต่ต้องช่วยกันบอกให้สังคมรู้ว่าการคอมเมนต์แต่ด้านลบไม่ใช่เรื่องที่ดี ไม่ใช่ว่าใครเปิดข้อมูล มีผลงานในที่สาธารณะ แล้วเราจะสามารถไปด่าทอคอมเมนต์แรง ๆ ได้ตามที่ต้องการ และไม่ควรสนับสนุนคนที่พยายามสร้างความขัดแย้ง ทำลายบรรยากาศ อย่าให้เสียงที่พยายามสร้างแต่ด้านลบ ดังกว่าเสียงที่ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น ช่วยกันสร้างความเข้าใจและยอมรับในความต่าง แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระพร้อมความรับผิดชอบกันครับ

 

 

Ref: 1โครงการวิจัยการแกล้งกันฯของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกทม.และปริมณฑล, Talkspace.com, helpguide.org, stompoutbullying.org