ปัจจุบันสมาร์ทโฟนจะแข่งขันกันเรื่องกล้องว่าใครถ่ายสวยกว่ากันเป็นหลัก ซึ่งหลายๆคนก็มักจะดูจากสเปคเป็นหลัก แต่ก็จะมีความเข้าใจผิดกันค่อนข้างมากว่าความละเอียดยิ่งสูงภาพจะดีตามไปด้วย แต่ในความเป็นจริงมันมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งวันนี้เราจะมาอธิบายความหมายคร่าวๆของคุณสมบัติแต่ละอย่างกัน เพื่อเวลาที่เราอ่านคุณสมบัติของกล้องจะได้มีความเข้าใจเบื้องต้นว่าอะไรส่งผลต่อคุณภาพของภาพอย่างไรบ้าง

ความละเอียด (Resolution)

อันนี้ชัดเจนว่ายิ่งมากก็จะมีแนวโน้มว่าจะมีละเอียดของภาพมากกว่าที่กล้องความละเอียดต่ำกว่า แต่ก็ไม่ทั้งหมดซะทีเดียว เพราะสิ่งสำคัญขึ้นอยู่ที่เลนส์กับขนาดเซนเซอร์ รวมไปถึงขนาดของจุด (pixel) แต่ละจุดด้วย เดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มในข้อต่อๆไปนะครับ ทีนี้มาดูกันก่อนว่าเค้านับความละเอียดกันอย่างไร วิธีก็ตรงๆเลยครับ เอาขนาดภาพที่ได้มาคูณกันเลย เช่น ภาพมีความละเอียด 3,000×2,000 จุด เราก็เอา 3,000 มาคูณ 2,000 เท่ากับ 6,000,000 จุด นั่นก็คือกล้องตัวนี้มีความละเอียด 6 ล้านจุดครับ

ความละเอียดสำคัญขนาดไหน? – ทุกวันนี้ กล้องมือถือมีแต่จะแข่งเรื่องความละเอียด แล้วผู้ใช้จำนวนไม่น้อยก็เข้าใจว่ายิ่งละเอียดยิ่งดี ซึ่งความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ซะทีเดียวนะครับ ถ้าเราเน้นถ่ายรูปแล้วลงภาพ Social Media อย่างเดียว เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter เรื่องความละเอียดอาจจะไม่สำคัญเท่ากับสีนะครับ เพราะเวลาเราลงรูปจะโดนย่อลงหมด อย่างมากที่สุดคือ Facebook ถ้าเราเอาภาพไปลงด้วยคอมแบบความละเอียดสูงสุด จะได้ประมาณ 3-4 ล้านจุดเท่านั้น (แล้วแต่อัตราส่วนของภาพ) หรือถ้า Line ส่งรูปใช้ความละเอียดประมาณ 1.2 ล้าน หรือ Instagram ใช้ความละเอียดประมาณ 0.37 ล้าน (ไม่ถึงครึ่งล้านเลยด้วย) ดังนั้นกล้องมือถือทุกวันนี้ความละเอียดเกินความต้องการของ Social Media ไปเยอะแล้วครับ แล้วละเอียดมากไปกลับมีข้อเสียคือพื้นที่หน่วยความจำเต็มเร็วด้วยครับ ลองถามตัวเองดูว่าทุกวันนี้เราใช้กล้องมือถือถ่ายรูปไปทำอะไรบ้างนะครับ

ขนาดรูรับแสง (Aperture)

อันนี้จะเกี่ยวกับเลนส์โดยตรง ขนาดรูรับแสงยิ่งกว้างหมายถึงแสงสามารถผ่านรูเข้าไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์ได้มากกว่า (เพราะรูใหญ่กว่า) ผลก็คือในสภาพแสงเดียวกัน ถ้าเปิดความเร็วของชัตเตอร์เท่ากัน ภาพที่ได้จากกล้องที่รูรับแสงกว้างกว่าก็จะสว่างกว่า หรือในอีกมุมนึง ถ้าต้องการให้ภาพมีความสว่างเท่ากัน ความเร็วชัตเตอร์ที่ได้จากกล้องที่รูรับแสงกว้างกว่าจะเร็วกว่า นั่นก็คือสามารถหยุดความเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเพราะชัตเตอร์เร็วกว่า ค่านี้ให้ดูที่ตัวเลข ยิ่งน้อยหมายถึงยิ่งกว้างกว่านะครับ ไม่ใช่ตัวเลขเยอะแล้วจะดีนะครับ ค่านี้ยิ่งน้อยยิ่งดีครับ แล้วผลอีกอย่างนึงก็คือรูรับแสงที่กว้างกว่าจะได้ภาพที่ละลายฉากหลังได้มากกว่าอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดเซนเซอร์ด้วยนะครับ (เรื่องนี้ยังไม่อยากจะลงลึกไปกว่านี้ เพราะอาจจะยิ่งงงได้ครับ)

  • Huawei Mate 10 Pro : f/1.6
  • Galaxy S8 : f/1.7
  • iPhone X : f/1.8
  • Pixel 2 XL : f/1.8
  • กล้องมือถือทั่วไป f/2 – f/2.8

ขนาดเซนเซอร์ (Sensor Size)

เรื่องนี้ก็ตรงตัวเลยครับ ขนาดความใหญ่ของเซนเซอร์ ตามหลักการแล้ว ยิ่งใหญ่ยิ่งดีครับ แต่ปัญหาคือถ้าต้องการเลนส์ที่รูรับแสงสว่างเท่ากัน ยิ่งใช้เซนเซอร์ใหญ่ ขนาดเลนส์ก็จะต้องใหญ่ตามไปด้วย ทำให้มือถือไม่สามารถใช้เซนเซอร์ที่ใหญ่มากได้ เพราะไม่งั้นแล้วมือถือเราจะหนาเพราะขนาดของเลนส์ที่ใหญ่ครับ แล้วอีกอย่างนึงที่ต้องดูประกอบด้วยก็คือความละเอียดของเซนเซอร์ เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อขนาดของจุดแต่ละจุดด้วย มาดูหัวข้อต่อไปเลยครับ


ขอบคุณภาพจาก www.engadget.com

ขนาดของจุด (pixel)

เรื่องนี้ตามหลักการแล้ว ยิ่งขนาดของจุดใหญ่กว่ายิ่งดีกว่านะครับ เพราะว่าขนาดของจุด ผมเปรียบเสมือนแก้วน้ำละกันครับ ส่วนปริมาณแสง ผมเปรียบเสมือนปริมาณน้ำ นั่นก็คือถ้าขนาดของจุดใหญ่กว่า ก็ควรจะรับปริมาณของแสงได้มากกว่า ผลก็คือภาพควรจะมี Dynamic Range ที่กว้างกว่า ทีนี้คนอาจจะงงว่า Dynamic Range คืออะไร เดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มอีกทีนะครับ ตอนนี้เรามาดูก่อนว่าจะวัดขนาดของจุดกันอย่างไร อย่างแรกเลยให้ดูขนาดของเซนเซอร์ แล้วเราก็มาดูความละเอียดประกอบกัน เอาแบบง่ายที่สุด ถ้าขนาดเซนเซอร์เท่ากัน ตัวไหนที่ความละเอียดน้อยกว่าแสดงว่ามีขนาดของจุดที่ใหญ่กว่า เปรียบเทียบแบบง่ายๆ ให้สนามฟุตบอลเปรียบเสมือนขนาดของเซนเซอร์ ส่วนลูกบอลเปรียบเสมือนขนาดของจุด ถ้าสนามฟุตบอลขนาดเท่ากัน สนามที่ต้องใส่ลูกบอล 5 ล้านลูกให้เต็มพื้นที่ เทียบกับสนามที่ต้องใส่ลูกฟุตบอลแค่ 2 ล้านลูกให้เต็มพื้นที่เท่ากัน ขนาดลูกฟุตบอลของสนามที่ใส่ลูกบอลแค่ 2 ล้านลูกจะมีขนาดใหญ่กว่าสนามที่ใส่ลูกบอก 5 ล้านลูก น่าจะพอเห็นภาพกันนะครับ นั่นก็พอสรุปคร่าวๆได้ว่า ขนาดเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีขนาดของจุดที่ใหญ่กว่า ถ้ามันมีความละเอียดเยอะกว่า แต่เพื่อความง่าย ในตารางคุณสมบัติมีการคำนวณไว้ให้แล้วครับ ดูแค่ตัวเลขพอครับ

 

ขนาดของจุด ดูอย่างไร และดีอย่างไร

ทีนี้มาดูตัวอย่างจากภาพกันก่อน

จะเห็นว่าขนาดของจุดจะสัมพันธ์กับความละเอียดและขนาดของเซนเซอร์ ในกรณีที่ขนาดเซนเซอร์เท่ากัน ตัวที่ความละเอียดต่ำกว่า จะได้ขนาดเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่า จากในรูป ทั้งสองตัวขนาดเซนเซอร์เท่ากัน แต่ว่าเซนเซอร์ B มีความละเอียดต่ำกว่า เลยทำให้ขนาดของเซนเซอร์ใหญ่กว่า

ทีนี้มาดูต่อที่รูปนี้ครับ

จะเห็นได้ว่าขนาดจุดที่ใหญ่กว่า จะได้เปรียบในเรื่องของประสิทธิภาพในการเก็บแสงได้มากกว่า นั่นก็จะทำให้ Dynamic Rage ของภาพดีกว่า และความสามารถในการถ่ายภาพในที่มืดก็จะดีกว่า

กลับมาที่เรื่อง Dynamic Range กันต่อ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆนะครับ มาดูภาพนี้กัน

มาดูที่ภาพฝั่งซ้าย จะเห็นว่ารายละเอียดตรงส่วนสว่างกลายเป็นสีขาว ไม่มีรายละเอียดใดๆเหลืออยู่ ส่วนภาพทางขวาจะเห็นว่ารายละเอียดต่างๆยังอยู่ครบ พูดง่ายๆว่าภาพทางขวามี Dynamic Range ที่กว้างกว่า แล้วทีนี้คนอาจจะถามต่อว่า Dynamic Range ที่กว้างกว่ามีประโยชน์อย่างไร โอเคครับ มาดูภาพนี้ต่อกันเลย

ผมเอาภาพทั้งสองภาพมาปรับลดความสว่างลง ทีนี้เราจะเห็นได้เลยว่าภาพทางซ้ายที่ Dynamic Range น้อยกว่า แล้วรายละเอียดหายไปแล้ว เราจะไม่สามารถทำอะไรกับมันได้อีก มันก็จะกลายเป็นสีขาวที่ทำอะไรไม่ได้เลย ดึงอะไรกลับมาไม่ได้ ส่วนภาพทางขวาเรายังสามารถปรับอะไรกับมันได้ตามใจนะครับ

** แต่ขนาดของจุดไม่ได้เป็นตัววัด Dynamic Range นะครับ หมายถึงขนาดใหญ่กว่า ไม่จำเป็นจะต้องมี Dynamic Range ที่กว้างกว่าเสมอไป เพราะสุดท้ายมันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเรื่องอื่นประกอบด้วยครับ รวมไปถึง Software ด้วย

ระบบกันสั่น

ระบบกันสั่นมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือแบบ Software และ Hardware ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ให้ผลที่แตกต่างกันพอสมควร คือแบบ Software จะใช้โปรแกรมในเครื่องประมวลผลเวลามือสั่น โดยเราจะสังเกตได้ว่าถ้าใช้กันสั่นแบบ Software ช่วย ภาพที่ได้จะได้มุมมองที่แคบลง ไม่กว้างแบบตอนปิดระบบกันสั่น เพราะโปรแกรมจะตัดภาพส่วนขอบๆภาพเวลามือสั่นทิ้งไป ยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ เวลามือสั่นลง ภาพทางด้านบนจะหายไป หรือเวลามือสั่นขึ้น ภาพทางด้านล่างจะหายไป หรือเวลามือสั่นไปทางขวา ส่วนของภาพทางซ้ายก็จะหายไป ทีนี้ภาพที่ได้ก็คือภาพที่ตัดส่วนขอบๆตอนเรามือสั่นออกไปให้ แต่ยังไงก็ตาม ภาพที่ออกมายังไงก็สู้กันสั่นด้วย Hardware ไม่ได้ คือกันสั่นด้วย Hardware จะใช้ชิ้นเลนส์ในการชดเชยการสั่น นั่นคือเวลามือสั่น ชิ้นเลนส์กันสั่นก็จะขยับลงสวนทางกับการสั่นของมือเรา ทำให้ได้ภาพที่ได้มีความนิ่งขึ้น แต่ถึงยังไงระบบกันสั่นก็ไม่ได้ป้องกันการสั่นได้ทั้งหมด ดังนั้นไม่ใช่ว่ามีระบบนี้แล้ว เราก็ถ่ายแบบไม่สนใจการสั่นเลยไม่ได้นะครับ ไม่งั้นภาพอาจจะสั่นไหวอยู่ดี แล้วอีกอย่างนึงที่สำคัญมาก ระบบกันสั่น คือกันมือสั่น ไม่ใช่กันแบบที่เราจะถ่ายสั่นนะครับ หมายถึงสมมุติว่าถ้าเราถ่ายเด็กที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา แล้วแสงน้อยด้วยล่ะก็ ระบบกันสั่นจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย คือถึงมือเราจะนิ่ง ภาพฉากหลังทุกอย่างออกมาชัดหมด แต่เวลาแสงน้อย ความเร็วชัตเตอร์จะไม่เร็วพอที่จะหยุดความเคลื่อนไหวของเด็กได้นะครับ อันนี้ควรรู้ไว้ ดังนั้นอย่าประหลาดใจว่ามีระบบกันสั่นแล้ว ทำไมภาพเด็กยังสั่นไหวอีกนะครับ

 

Raw File

อันนี้จะเป็นไฟล์ที่เอาไว้สำหรับการปรับแต่งภาพในภายหลังทำได้ละเอียดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้แสงสีต่างๆ รวมไปถึงการดึงแสงที่ over ไปแล้วกลับมา (ได้ในระดับนึง)

ทำไมถึงต้อง Raw File แล้วมันดียังไง

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า Raw File คืออะไร แปลกันตรงตัวก็คือไฟล์ดิบ ความหมายก็คือไฟล์ที่ยังไม่มีการปรับแต่งใดๆ เซนเซอร์รับภาพมายังไงก็เก็บไว้อย่างนั้น ยังไม่มีการปรับความเข้มของสีหรือ White Balance ใดๆ แต่ว่า Raw File ก็มีการฝังค่า white balance หรือการปรับแต่งสีเก็บไว้ในไฟล์ด้วย เพื่อให้เราสามารถดูภาพได้จาก Smartphone ของเรา ส่วนตัวไฟล์ดิบจริงๆเราก็สามารถเอาไปปรับแต่งได้ภายหลัง

แล้วไฟล์ดิบมันดียังไง เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ผมจะเปรียบเทียบเสมือนเนื้อดิบละกันครับ ผมเปรียบว่าไฟล์ Jpeg แบบที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป เปรียบเสมือนเนื้อที่ปรุงมาแล้ว พ่อครัวที่ปรุงเนื้อมาให้เราก็เปรียบเสมือน Software ของกล้อง ถ้า Software เก่ง ก็เหมือนว่าพ่อครัวเก่ง เราก็จะได้เนื้อที่ปรุงสุกมาแล้วอย่างดี โดยที่เราสามารถจะแต่งเติมภาพได้ตามใจชอบ แต่ก็เกิดกรณีที่เราไม่ถูกใจ เช่นสุกเกินไป หรือเค็มจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด เราแทบจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก แต่ถ้าเรามีเนื้อดิบอยู่ เราก็สามารถปรุงใหม่ให้ถูกใจเราได้

มายกตัวอย่างคร่าวๆให้เห็นภาพกันดีกว่าครับ มาดูภาพนี้กัน เป็นไฟล์ Jpeg จาก Samsung Galaxy Note 5

ภาพนี้ถ่ายในสภาพแสงที่ยากมาก คือแดดแรงจัด ทำให้มีส่วนที่โดนแสงเต็มๆ และส่วนที่อยู่ในเงามืด จะเห็นได้ว่าใบไม้เหนือน้ำตก รวมไปถึงตึกด้านหลัง โดนแสงจนรายละเอียดหาย ส่วนเงามืดก็ดำสนิทจนแทบไม่เห็นรายละเอียดใดๆ

ทีนี้ผมลองเอา Raw File มาปรับภาพแบบพยายามดึงรายละเอียดในส่วนสว่างที่รายละเอียดหายไปกลับมาดู โดยที่ไม่ได้ยุ่งเรื่อง White Balance ใดๆ ออกมาได้แบบนี้ครับ


มาลองครอปดู 100% กันดู

แบบ Jpeg

แบบ Raw File

 

จะเห็นว่ารายละเอียดของแสงที่หายไป สามารถดึงกลับมาได้บางส่วน รวมไปถึงรายละเอียดความคมชัดก็ดีขึ้น และรายละเอียดในส่วนมืดก็ดีขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของประโยชน์จาก Raw File เท่านั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้ให้ละเอียด คงจะยาวเกินไป เอาไว้เป็นบทความแยกไปเลยจะดีกว่าครับ

Slow Shutter

อันนี้เอาไว้ช่วยในการถ่ายภาพตอนกลางคืนให้ได้คุณภาพที่มากขึ้น โดยกล้องจะใช้ ISO ที่ต่ำ (ISO คือความไวแสง ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไรค่อยถามเพิ่มเติมมาอีกทีนะครับ เดี๋ยวบทความจะกลายเป็นการสอนเทคนิคถ่ายรูปไปซะก่อน แค่นี้ผมก็ว่าเยอะมากล่ะครับ) แต่การจะใช้ Slow Shutter จะต้องมีขาตั้ง เพื่อให้กล้องอยู่นิ่งสนิท เพื่อให้ภาพที่คมชัดนะครับ เพราะกล้องจะเปิดชัตเตอร์นานสูงสุดได้ถึง 32 วินาที

 

 

คำถามที่ถูกถามประจำเกี่ยวกับเรื่องกล้องมือถือ

แล้วความละเอียดเท่าไหร่ถึงจะพอ

จะเห็นว่าทุกวันนี้ การตลาดเรื่องความละเอียดยิ่งมากยิ่งดี ยังได้ผลอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เราจะต้องถามตัวเองก่อนว่าทุกวันนี้เราถ่ายรูปแล้วเอาไปใช้อะไร ถ้าเราใช้แค่เอาภาพลง Social Network ทั่วๆไป ใช้ความละเอียดแค่ 2 ล้านก็พอ หรือถ้าจะเอาภาพลง Facebook โดยใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจะเก็บภาพแบบ HD รายละเอียดสูง ก็ใช้แค่ 4 ล้านก็เพียงพอ ดังนั้นแล้ว ความละเอียดระดับ 8 ล้านก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วไป แต่ถ้ากรณีที่เราชอบครอปภาพมาใช้งาน หรือชอบซูมภาพเยอะๆ แบบนี้ละเอียดกว่าถึงจะได้เปรียบครับ แล้วยิ่งละเอียดมากยิ่งกินพื้นที่หน่วยความจำมาก ก็จะทำให้หน่วยความจำของเราเต็มเร็วกว่า

กล้องสมัยก่อน ความละเอียดต่ำ ขนาดจุดใหญ่ แสดงว่าดีกว่าเดี๋ยวนี้หรือ?

ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะว่าเซนเซอร์ของกล้องไม่ได้ดูแค่ขนาดของจุดอย่างเดียว แต่เซนเซอร์ของกล้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างมาก เหมือน CPU สมัยนี้ เล็กกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก แต่ก็เร็วกว่าเยอะมากเช่นกัน ดังนั้นเซนเซอร์กล้องก็เป็นแบบนั้นด้วย การเปรียบเทียบเซนเซอร์ของกล้อง ต้องเปรียบเทียบในของที่ผลิตในยุคสมัยเดียวกัน ถึงจะพอเทียบกันได้ครับ

ถ้าเซนเซอร์ผลิตในยุคเดียวกัน แสดงว่าขนาดจุดใหญ่กว่าย่อมดีกว่าขนาดจุดที่เล็กกว่า?

อันนี้ก็ไม่แน่เสมอไปอีกเหมือนกัน บริษัทที่ผลิตเซนเซอร์ก็มีผล รวมไปถึง Software ในการประมวลผลภาพก็มีผลต่อคุณภาพของภาพอย่างมาก ดังนั้นการจะเปรียบเทียบกันว่าตัวไหนดีกว่ากัน เราต้องมาดูเทียบกันที่ภาพไปเลย

 

ส่งท้าย

ถ้าใครได้อ่านจนจบแล้วก็น่าจะพอเข้าใจสเปคต่างๆมากขึ้นเยอะมากแล้วนะครับ แต่คุณสมบัติเหล่านี้ต้องบอกว่าสุดท้ายก็ดูเอาไว้ประกอบเท่านั้น สุดท้ายวัดกันที่ภาพที่ถ่ายออกมาได้มากกว่า เราได้เห็นสมาร์ทโฟนหลายรุ่นที่สเปคด้านกล้องสูง แต่ถ่ายภาพออกมาแล้วกลับไม่ได้ดีตามแบรนด์อื่นๆที่สเปคเดียวกัน ซึ่งตรงนี้จะมีเรื่องซอฟท์แวร์ของกล้องเข้ามาเป็นปัจจัยอีกอย่างนึงด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้เราจึงต้องมาคอยทดสอบกล้องให้เพื่อนๆได้ดูกันนั่นเองครับ