ก่อนหน้านี้ Huawei เคยออกมาประกาศแล้วรอบนึงว่าชิปเซ็ต Kirin 9000 5G จะเป็นชิประดับไฮเอนด์รุ่นสุดท้ายของพวกเขา สาเหตุก็มาจากข้อพิพาทสงครามการค้าที่บานปลายจนทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ แบน Huawei ไม่ให้ทำธุรกิจกับบริษัทสัญชาติอเมริกัน รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ อย่าง TSMC ที่ผลิตชิป Kirin ให้พวกเขาอยู่ด้วยนั่นเอง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า Huawei จะเจอกับทางออกแล้ว

Financial Times รายงานว่า Huawei กำลังพิจารณาที่จะสร้างโรงงานผลิตชิปเซ็ตของตัวเองที่ไม่ใช้เทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ แม้แต่นิดเดียว ทั้งนี้สถาปัตยกรรมที่ Huawei วางแผนผลิตนั้น คาดว่าจะเริ่มต้นที่ขนาด 45 นาโนเมตร

ชิปเซ็ตที่ Huawei เตรียมผลิตบนสถาปัตยกรรมขนาด 28 นาโนเมตร จะถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์แบบ Internet of Things หรือ IoT ซึ่งในส่วนนี้พวกเขาตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในปี 2021 หรือปีหน้า ชิปขนาดดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน นอกจากนี้ Huawei ยังเตรียมที่จะผลิตชิป 20 นาโนเมตรสำหรับใช้งานในอุปกรณ์ 5G หรือ Network ต่างๆ อีกด้วย ซึ่งทางบริษัทคาดการณ์เอาไว้ว่าชิป 20 นาโนเมตรนี้จะแล้วเสร็จภายในช่วงสิ้นปี 2022 นั่นเอง

โดยโรงงานผลิตชิปเซ็ตของ Huawei นี้ จะถูกบริหารและจัดการโดย Shanghai Integrated Circuit Research and Development Center Co., Ltd. (ICRD) ซึ่งฐานการผลิตจะตั้งอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และอย่างที่บอกไปข้างต้น ชิปเซ็ตที่ผลิตโดยโรงงานนี้จะไม่พึ่งพาเทคโนโลยีหรือสิทธิบัตรใดๆ จากสหรัฐฯ เลยแม้แต่น้อย

ตอนแรก Huawei ตั้งใจจะพึ่งพา SMIC บริษัทผลิตชิปเซ็ตที่ใหญ่ที่สุดของจีน แต่แล้วบริษัทดังกล่าวก็ไม่วายโดนหางเลขเข้าไปอยู่ในรายชื่อบัญชีดำ (Entity List) ไปพร้อมๆ กับ Huawei ด้วย เลยทำให้ Huawei ต้องเอาจริง วางแผนสร้างโรงงานผลิตชิปของตัวเองซะเลย

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าชิปขนาด 20 – 28 นาโนเมตร จะใช้ได้แค่เฉพาะกับอุปกรณ์ IoT เท่านั้น ครั้นจะให้มาใช้ขับเคลื่อนบนสมาร์ทโฟนก็ดูจะลำบากๆ หน่อย เพราะปัจจุบัน รุ่นเริ่มต้นก็หันมาใช้ชิปที่มีสถาปัตยกรรมการผลิตอย่างน้อย 14 นาโนเมตรกันแล้ว

 

ที่มา: gizchina